สมาร์ตโฟนหน้าจอพับ ในตลาดปัจจุบันสามารถแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบหลัก ได้แก่ แบบพับแนวตั้ง (ที่นิยมเรียกว่า Flip) และแบบพับแนวนอนเหมือนเปิดหนังสือ (ที่เรียกว่า Fold หรือ Book Style) โดยแต่ละรูปแบบก็มีจุดเด่น จุดด้อย และประโยชน์ในการใช้งานที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน
ในบทความนี้
Flip หรือสมาร์ตโฟนจอพับแนวตั้ง
สมาร์ตโฟนในกลุ่มนี้มักเน้นการออกแบบที่ตอบโจทย์ด้าน แฟชั่นและไลฟ์สไตล์ มากกว่าด้านการใช้งานเต็มรูปแบบ รูปลักษณ์เมื่อพับแล้วดูน่ารักกะทัดรัด คล้ายตลับแป้ง จึงมักมาพร้อมโทนสีสดใส ลวดลายหวานๆ ถูกใจสายแฟชั่น โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้งานที่เป็นผู้หญิง เช่น Galaxy Z Flip หรือ OPPO Find N3 Flip เป็นต้น
จุดเด่นสำคัญของ Flip อยู่ที่ กล้องถ่ายภาพ ซึ่งสามารถใช้กล้องหลัง (ที่มีคุณภาพสูงกว่ากล้องหน้า) ถ่ายเซลฟี่ได้ โดยใช้หน้าจอเล็กด้านนอกเป็นตัวมองภาพ ทั้งยังสามารถตั้งเครื่องเพื่อถ่ายภาพจากระยะไกลได้สะดวก เหมาะกับการถ่ายภาพกลุ่มหรือเซลฟี่ในเวลาที่เดินทางคนเดียว
อีกหนึ่งจุดขายคือ อุปกรณ์เสริม และ ซอฟต์แวร์ภายใน ที่ถูกออกแบบมาให้สอดคล้องกับความน่ารัก เช่น เคสแฟชั่น วอลเปเปอร์ตัวการ์ตูน 3D หรือฟีเจอร์อินเตอร์แอคทีฟที่โต้ตอบกับผู้ใช้ได้ ทำให้ Flip เป็นตัวเลือกที่แสดงออกถึงนวัตกรรม ความทันสมัย และเสริมภาพลักษณ์คนรุ่นใหม่ได้เป็นอย่างดี
ข้อดี-ข้อเสียของสมาร์ตโฟนจอพับแนวตั้ง (Flip)
ข้อดี คือความพกพาสะดวก ดีไซน์เก๋ สวยงามน่ารัก เป็นทั้งสมาร์ตโฟนและเครื่องประดับในตัวเอง และการใช้งานกล้องหลังสำหรับถ่ายเซลฟี่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ข้อเสีย คือการใช้งานหน้าจอนอกมีเอาไว้เป็นหน้าจอเสริม แต่การใช้งานจริงจังจะต้องกางจอด้านในออกก่อนเพื่อใช้งาน และหน้าจอเมื่อกางออกมักจะมีสัดส่วนที่ยาวกว่าสมาร์ตโฟนทั่วไปเล็กน้อย ซึ่งอาจต้องใช้เวลาปรับตัว และ การติดฟิล์มกันรอย ที่ไม่สามารถทำได้เองตามร้านตู้ทั่วไป ต้องนำเครื่องเข้าศูนย์บริการโดยเฉพาะ อย่างไรก็ตาม หลายแบรนด์ก็มีบริการเปลี่ยนฟิล์มฟรีรายปี รวมถึงราคาฟิล์มเองก็ไม่สูงมากนัก
Fold หรือสมาร์ตโฟนจอพับแนวนอนแบบ Book Style
สมาร์ตโฟนจอพับในแบบ Book Style หรือที่เรียกกันติดปากว่า Fold คืออุปกรณ์ที่ออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์การใช้งานแบบ “เครื่องเดียวจบ” เหมาะกับผู้ที่มองว่าจอสมาร์ตโฟนทั่วไปเล็กเกินไปสำหรับการทำงาน แต่ก็ไม่อยากพกแท็บเล็ตที่มีขนาดใหญ่และพกพาไม่สะดวก ด้วยเหตุนี้ Fold จึงเข้ามาเติมเต็มช่องว่างระหว่างสมาร์ตโฟนและแท็บเล็ตได้ลงตัว
เมื่อกางหน้าจอออก สมาร์ตโฟน Fold จะมีขนาดจอมากกว่า 7-8 นิ้วขึ้นไป บางรุ่น เช่น มือถือจอพับสามทบจาก Huawei ยังให้ขนาดใหญ่ใกล้เคียงแท็บเล็ตจริงๆ เลยทีเดียว แม้จะยังเป็นรุ่นเฉพาะที่มีราคาสูง แต่ก็บ่งบอกถึงศักยภาพของเทคโนโลยีจอพับที่สามารถขยายหน้าจอให้ใหญ่ขึ้นได้อย่างน่าทึ่ง
อย่างไรก็ตาม ข้อดีที่เด่นที่สุดของสมาร์ตโฟนกลุ่มนี้ คือขนาดเครื่องที่บางและเบาอย่างเหลือเชื่อ รุ่นล่าสุดสามารถทำออกมาได้บางเพียง 4.21 มิลลิเมตร ต่อฝั่ง และเมื่อพับแล้วความหนารวมยังไม่ถึง 9 มิลลิเมตร เทียบเท่าสมาร์ตโฟนทั่วไปเลยทีเดียว
สมาร์ตโฟน Fold ทั่วไปจะพับแบบทบเดียวคล้ายการเปิดหนังสือ และยังสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ตามรูปแบบของ สัดส่วนหน้าจอด้านนอกและด้านใน ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อประสบการณ์ใช้งาน
ประเภทที่ 1: เน้นการใช้งานหน้าจอด้านใน – หน้าจอด้านนอกเป็นแบบ Ultra-wide
ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือ Samsung Galaxy Z Fold ที่เน้นการใช้งานหน้าจอด้านในเป็นหลัก โดยจอด้านในถูกออกแบบให้มีสัดส่วนแบบ 8:10 ซึ่งยังใกล้เคียงกับหน้าจอแบบแท็บเล็ต ทำให้สะดวกและถนัดต่อการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นแนวตั้งหรือแนวนอน
แต่ผลจากการให้ความสำคัญกับจอด้านใน ทำให้หน้าจอด้านนอกมีความเรียวยาวกว่าปกติ โดยมีสัดส่วนประมาณ 23:9 ซึ่งแคบกว่าสมาร์ตโฟนทั่วไปที่นิยมใช้สัดส่วนราว 20:9 การใช้งานจอนอกจึงอาจดูไม่คุ้นชินนัก
กลุ่มนี้เหมาะกับผู้ที่มองหาอุปกรณ์สำหรับใช้งานหน้าจอใหญ่ เช่นการทำงานหลายแอปพร้อมกัน การอ่านเอกสาร หรือแก้ไขไฟล์ต่างๆ ในโหมดกางจอ โดยไม่เน้นการใช้งานในโหมดพับมากนัก
ประเภทที่ 2: เน้นการใช้งานหน้าจอด้านนอก – หน้าจอด้านในเกือบเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส
กลุ่มนี้พัฒนาเพื่อตอบโจทย์ผู้ใช้ที่ยังไม่คุ้นกับรูปทรงของ Fold แบบดั้งเดิม โดยมีหลายแบรนด์ที่เริ่มนำเสนอสมาร์ตโฟนในลักษณะนี้ เช่น Honor Magic V3 หรือ OPPO Find N5 ซึ่งมีวางจำหน่ายในไทยเช่นกัน
ข้อดีเด่นคือ รูปทรงของเครื่องขณะพับ ดูเหมือนสมาร์ตโฟนปกติทุกประการ ทั้งความหนา ขนาดหน้าจอ และสัดส่วน ทำให้ผู้ใช้ไม่รู้สึกว่าใช้อุปกรณ์ที่ “แตกต่าง” จึงเหมาะกับผู้ที่ต้องการความคุ้นมือแบบสมาร์ตโฟนทั่วไป แต่ก็ยังสามารถกางหน้าจอออกมาใช้งานเพิ่มเติมได้เมื่อจำเป็น
เมื่อกางออก จอด้านในจะมีสัดส่วนประมาณ 9:10 ซึ่งเกือบเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส ทำให้ประสบการณ์การใช้งานอาจดูแปลกตาเล็กน้อย โดยเฉพาะในแอปที่ออกแบบมาเพื่อแนวตั้งหรือแนวนอนแบบชัดเจน
สรุปแนวทางการใช้งานของ Fold ทั้งสองประเภท
-
ประเภทที่ 1 (เช่น Samsung Galaxy Z Fold): เน้นใช้งานจอด้านในเป็นหลัก ให้ประสบการณ์การทำงานที่ครบเครื่อง หน้าจอด้านนอกใช้รองรับเท่านั้น
👉 การใช้งานโดยประมาณ: จอใน(ขนาดใหญ่) 70% | จอนอก(โหมดพับ) 30% -
ประเภทที่ 2 (เช่น OPPO Find N5): ใช้งานจอด้านนอกเป็นหลักในชีวิตประจำวัน กางจอในเมื่อต้องการพื้นที่เพิ่มพิเศษ
👉 การใช้งานโดยประมาณ: จอใน(ขนาดใหญ่) 40% | จอนอก(โหมดพับ) 60%
ข้อดี-ข้อเสียของสมาร์ตโฟนจอพับแนวนอนแบบ Book Style:
ข้อดี : อุปกรณ์เพื่อการทำงานที่แท้จริง
สมาร์ตโฟนจอพับแบบ Book Style หรือ แนวนอน ถือเป็นกลุ่มที่เน้นการใช้งานด้าน ประสิทธิภาพและฟังก์ชันระดับมืออาชีพ อย่างเต็มตัว เพราะเมื่อกางหน้าจอออกมา จะได้พื้นที่ทำงานที่กว้างกว่าสมาร์ตโฟนทั่วไปถึง 2 เท่า รองรับการทำงานในลักษณะเดียวกับแท็บเล็ต โดยยังคงความสะดวกในการพกพาไว้ได้เหมือนสมาร์ตโฟน
สิ่งที่ทำให้กลุ่มนี้โดดเด่นคือการออกแบบ UI หรืออินเทอร์เฟซเฉพาะตัว ที่พัฒนาให้รองรับหน้าจอขนาดใหญ่และสัดส่วนพิเศษได้อย่างลื่นไหล ทำให้ในระหว่างการใช้งานจริง ผู้ใช้แทบไม่รู้สึกถึงข้อจำกัดของสัดส่วนหน้าจอที่แตกต่างไปเลย
หนึ่งในฟีเจอร์ที่ทรงพลังของสมาร์ตโฟนจอพับแนวนอนคือ ความยืดหยุ่นในการจัดการแอป ไม่ว่าจะบังคับให้แอปเปิดเต็มจอ, ปรับเป็นสัดส่วน 4:3 แบบแท็บเล็ต, หรือ 16:9 เหมือนมือถือปกติ ก็สามารถทำได้ นอกจากนี้ยังรองรับ Multi Windows หรือการเปิดหลายหน้าต่างพร้อมกันได้อิสระ พร้อมฟังก์ชันพิเศษ เช่น บังคับแอปทุกตัวให้แบ่งครึ่งหน้าจอ หรือเปิดในรูปแบบป๊อปอัป แม้ตัวแอปจะไม่ได้ออกแบบมาให้รองรับโดยตรงก็ตาม
ฟีเจอร์เด่นอย่าง Boundless View จาก OPPO Find N ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่น่าสนใจ โดยเป็นการจำลองพื้นที่หน้าจอขนาด 16 นิ้ว มาทำงานจริงบนจอ 8.12 นิ้ว ให้เราสลับการใช้งานหลายแอปได้แบบไร้รอยต่อ โดยแอปทั้งหมดจะยังคงทำงานอยู่เบื้องหลังบนเดสก์ท็อปเดียวกัน
ความที่มี สองหน้าจอ ทั้งด้านนอกและด้านใน ยังช่วยให้สามารถใช้งานฟีเจอร์พิเศษได้ เช่น ใช้เป็นล่ามแปลภาษาแบบสองทาง หรือถ่ายเซลฟี่คุณภาพสูงด้วยกล้องหลังผ่านจอนอก รวมถึงการใช้งานทั่วไปอย่างดูหนัง เล่นเกม หรืออ่านอีบุ๊กก็ให้ประสบการณ์ที่เหนือกว่าสมาร์ตโฟนทั่วไป
ข้อเสีย: ราคาสูงและความมั่นใจของผู้ใช้หน้าใหม่
แน่นอนว่าเทคโนโลยีระดับนี้ก็มาพร้อมกับ ราคาที่สูงกว่า สมาร์ตโฟนปกติราว 2 เท่า ซึ่งไม่ใช่แค่เพราะหน้าจอพับได้เท่านั้น แต่รวมไปถึงทุกองค์ประกอบที่อยู่ในระดับไฮเอนด์ ตั้งแต่ ชิปประมวลผล, หน้าจอที่มีความสว่างและคมชัดสูง, ไปจนถึง กลไกบานพับ ที่ต้องมีความแม่นยำและทนทานต่อการพับหลายแสนครั้งโดยไม่เสียหาย
แม้บานพับในรุ่นใหม่ๆ จะถูกออกแบบมาให้ ไม่มีช่องว่างระหว่างพับ และสามารถใช้งานได้ตลอดอายุเครื่องโดยไม่เสียหาย หากไม่กระแทกหรือทำตก แต่ความซับซ้อนของกลไกก็ยังคงเป็นจุดที่ผู้ใช้ใหม่หลายคนไม่มั่นใจ โดยเฉพาะในเรื่องของความทนทานในระยะยาว
ผู้ผลิตหลายรายจึงพยายามสร้างความมั่นใจด้วยการ รับประกันหน้าจอแบบเปลี่ยนฟรีหากมีปัญหา, พร้อมบริการ เปลี่ยนฟิล์มฟรีตลอดปี เพื่อยืนยันถึงมาตรฐานความทนทานของหน้าจอพับในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบกับสมาร์ตโฟนแบบบาร์ทั่วไปที่ไม่มีชิ้นส่วนเคลื่อนไหวหรือกลไกซับซ้อน สมาร์ตโฟนจอพับแบบแนวนอนก็ยังถือว่ามี ความซับซ้อนในการผลิตและดูแลมากกว่า ซึ่งอาจเป็นข้อเสียสำหรับคนที่ยังไม่คุ้นเคยหรือกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายและการดูแลรักษา
คุ้มค่าสำหรับคนที่ต้องการ “เครื่องเดียวจบ”
แม้จะมีข้อจำกัดในเรื่องของราคาและความมั่นใจสำหรับผู้ใช้หน้าใหม่ แต่ถ้ามองในแง่ ประโยชน์ใช้สอย สมาร์ตโฟนจอพับแนวนอนสามารถตอบโจทย์ได้ครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นคนทำงาน นักธุรกิจ นักเรียน หรือผู้ใช้ทั่วไปที่ต้องการ หน้าจอใหญ่ พกง่าย ใช้งานครบ สมาร์ตโฟนในกลุ่มนี้คือคำตอบที่ให้คุณได้ครบทุกด้านอย่างแท้จริง