ปัจจุบันเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ การเข้าถึงแหล่งข้อมูลข่าวสารเป็นเรื่องง่ายและรวดเร็วราวกับพลิกฝ่ามือ ไม่ว่าจะเป็นใคร จะอยู่มุมไหนของโลก ก็สามารถติดต่อสื่อสารแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันได้ด้วยความก้าวหน้าของเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ที่เชื่อมโยงคนทั้งโลกไว้ด้วยกัน ทำให้เกิดสังคมใหม่ในโลกออนไลน์
สังคมออนไลน์เข้ามามีบทบาทและมีอิทธิพลต่อความคิดความต้องการของคนในสังคม ทำให้เกิดผลกระทบตามมามากมาย โดยเฉพาะสิทธิการแสดงออกของประชากรในโลกออนไลน์หลายกรณีเป็นสาเหตุและที่มาของความรุนแรงที่มักปรากฏบนหน้าหนังสือพิมพ์บ่อยครั้ง(1)
สิ่งที่เรากำลังจะพูดถึงต่อไปนี้ไม่ใช้ผลของสังคมออนไลน์ที่มีต่อสังคม หรือประเทศชาติ แต่เป็นผลที่มีต่อตัวเราทุกๆ คน ผลต่อพฤติกรรมของผู้เสพติดสังคมออนไลน์ ที่นักจิตวิทยาเรียกว่า ภาวะ(โรค)ทางสังคมออนไลน์ “Online Disinhibition Effect” หรือ “การสูญเสียการยับยั้งชั่งใจในโลกออนไลน์” อธิบายพอสังเขป ก็คือ ภาวะที่คนมีตัวตนในออนไลน์ก้าวร้าว/รุนแรงกว่าตัวจริงนั่นเอง ซึ่งงเราจะสังเกตเห็นว่า ในเว็บสังคมออนไลน์ หรือในเว็บบอร์ดต่างๆ จะมีกลุ่มคนที่มีพฤติกรรมแบบนี้อยู่จำนวนมาก และมากขึ้นเรื่อยๆ
หลายเว็บไซต์ในต่างประเทศ เล็งเห็นปัญหาที่เกิดขึ้น ทั้งต่อสังคมแห่งการแสดงความคิดเห็นของเว็บไซต์นั้นๆ หรือ ต่อตัวผู้แสดงความคิดเห็นที่ส่อความรุนแรงนั้นออกมาเอง ก็ได้เริ่มปิดส่วนของการแสดงความคิดเห็นหรือคอมเม้นท์ไป เช่น Popular Science(2) เป็นต้น
มีคนพยายามอธิบายเรื่องนี้ อย่างนักจิตวิทยา John Suler ตีพิมพ์งานชิ้นนี้ใน Pub Med ปี 2004(3) เสนอทฤษฎีว่า มีปัจจัย 6 อย่างที่ทำให้คนมีอาการเช่นนี้ คือ
- การที่ไม่ต้องเปิดเผยตัวทำให้บุคลิกตัวตนออนไลน์แยกจากตัวจริง (dissociative anonymity)
- การมองไม่เห็นหน้ากัน (invisibility)
- การไม่เป็นไปตามกันระหว่างตัวจริงกับตัวตนในออนไลน์ (asynchronicity)
- การมีแนวคิดและนิสัยในกลุ่มไปทางเดียวกันและยึดเป็นศูนย์กลาง (solipsistic introjection)
- การมีจินตนาการเบี่ยงไปจากตัวจริง (dissociative imagination) และ
- การ(คิดว่า)ปลอดจากเจ้าหน้าที่และกฎเกณฑ์ต่างๆ (minimization of authority)
เรื่องเสพติดสังคมออนไลน์เราก็เห็นมามากแล้วนะครับ แม้แต่ตัวเราเองก็อาจจะเป็นกัน และก็รู้ตัวกันอยู่แล้ว แต่สำหรับ ภาวะ(โรค)ทางสังคมออนไลน์ “Online Disinhibition Effect” หรือ “การสูญเสียการยับยั้งชั่งใจในโลกออนไลน์” เรารู้ตัวกันไหมว่าเป็นอยู่หรือเปล่า ? หากรู้ตัวเองก็เป็นหรือมองเห็นคนอื่นๆ แสดงออกในลักษณะนั้น ก็อยากให้เรามองแบบเข้าใจ และยับยั้งชั่งใจตัวเองให้มาก พึงระลึกอยู่เสมอว่า สิทธิเสรีภาพในสังคมออนไลน์ นั้นก็ไม่ต่างจากสังคมแห่งความเป็นจริง เราได้มาก็ด้วยการไม่ไปบั่นทอนหรือทำลายสิทธิเสรีภาพของคนอื่น ควรระมัดระวังกันให้มากขึ้นนะครับ
ที่มา และ บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
ขอขอบคุณ พี่หมอ Buddhi Dev ที่แนะนำและช่วยนำเสนอบทความดีๆ จนผมได้แอบขโมยมาเรียบเรียงและเผยแพร่ความรู้ดีๆ ต่อ ^____^
(1) ปัญหาสังคมโลกออนไลน์ เสรีภาพ ความขัดแย้ง และความเกลียดชัง, หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 22 พฤศจิกายน 2555.
(2) Why We’re Shutting Off Our Comments, www.popsci.com, By Suzanne LaBarre, 09.24.2013.
(3) The online disinhibition effect, Pub Med, John Suler, 2004 Jun;7(3):321-6.
(4) THE PSYCHOLOGY OF ONLINE COMMENTS, www.newyorker.com, BY MARIA KONNIKOVA, OCTOBER 24, 2013.