นับตั้งแต่ Microsoft Lumia 950 เปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 6 ตุลาคม 2558 ก็ผ่านมาเกือบจะ 5 เดือนแล้ว ไมโครซอฟท์ก็เพิ่งจะเริ่มวางจำหน่ายในประเทศไทย ซึ่งถือว่าช้ากว่าปกติมาก อาจเป็นเพราะว่ากระแสและยอดขายทั่วโลกยังไม่ดีเท่าที่ควรก็เป็นได้ ? อย่างไรก็ตามเราเชื่อว่ามีหลายคนที่รอคอย Microsoft Lumia 950 ตัวนี้อยู่ ทั้งสาวกขาประจำและผู้ใช้รายใหม่จากระบบปฏิบัติการอื่น ๆ โดยกลุ่มแรกอาจที่จะพอทราบแล้วว่าระบบปฏิบัติ Windows 10 for Mobile ที่รันบนสมาร์ทโฟนเครื่องนี้เป็นอย่างไร และมีข้อจำกัดอะไรบ้าง สิ่งที่อยากรู้เพิ่มเติมก็คงเป็นประสิทธิภาพการใช้งานของมันว่าจะดีขึ้นสักแค่ไหน? ส่วนผู้ใช้งานรายใหม่ที่ยังไม่เคยสัมผัส Windows 10 for Mobile หรือ Windows Phone 8 ก็อาจต้องการทราบว่า มันทำงานอย่างไรบ้าง? และเหมาะสมกับตัวเราหรือไม่? ด้วยเหตุทั้งหมดทั้งมวลนี้เราจึงขอนำทุกท่านมาดูกันว่า Microsoft Lumia 950 เป็นอย่างไรบ้าง? จากรีวิวนี้ครับ
ตัวเครื่องของ Microsoft Lumia 950
Microsoft Lumia 950 มาพร้อมตัวเครื่อง 2 สี นั่นคือ สีขาวและสีดำ ฝาหลังเป็นพลาสติกโพลีคาร์บอเนต ผิวด้าน (Matt) ทำให้เราจับถนัดมือและรู้สึกหรูหรามากขึ้น แต่ก็มีข้อเสียที่เปื้อนง่ายกว่า ซึ่งผู้รีวิวเองนำเครื่องสีขาวใส่กระเป๋ากางเกงยีนส์ก็มีเสียติดเช็ดไม่ออกเลยครับ จนต้องใช้สเตคลีนมาค่อย ๆ เช็ดจึงออก ฝาหลังจะเป็นแบบแกะได้ด้านในจะมีแบตเตอรี่ความจุ 3,000 mAh รองรับการชาร์จไร้สาย เมื่อแกะแบตเตอรี่ออกก็จะมีช่องใส่ microSD เพิ่มได้สูงสุด 200 GB (และได้ 2 TB เมื่อมีผลิตออกมา) และ nanoSIM ในบริเวณเดียวกันครับ สำหรับเครื่องรีวิวจะสามารถใส่ได้ 2 ซิมการ์ด(Dual SIM) เพราะเป็นเครื่องที่ใช้สำหรับประชาสัมพันธ์ ซึ่งส่งมาจากสิงคโปร์ แต่สำหรับเครื่องขายจริงในประเทศไทยจาะเป็นแบบซิมเดียวนะครับ
ตัวเครื่องหนัก 150 กรัม ขนาด (กว้าง x ยาว x หนา): 73.2 x 145 x 8.2 มิลลิเมตร มาพร้อมหน้าจอ AMOLED ขนาด 5.2 นิ้วความละเอียด WQHD (1440 x 2560 พิกเซล) ความหนาแน่นพิกเซลต่อตารางนิ้วสูงสุดที่ 564 PPI และกระจก Gorilla Glass 3 และมาพร้อมเทคโนโลยี ClearBlack เช่นเคย ทำให้หน้าจอยังสดใส ส่วนที่ดำก็ดำสนิท หน้าจอทั้งสวยและประหยัดพลังงาน สเปคแบบนี้ถือว่าเป็นรุ่นที่ไม่แพ้เรือธงอย่าง Microsoft Lumia 950 XL เลยครับ
ส่วนปุ่มด้านข้างและพอร์ตต่าง ๆ ถือว่า ไมโครซอฟท์ทำมาดีมากครับ แตกต่างจากทุก ๆ รุ่นที่ผ่านมาโดยเฉพาะ USB OTG ที่ทำให้เราสามารถเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่าง ๆ เข้ากับสมาร์ทโฟนเราได้ ทั้งเมาส์ คีย์บอร์ด จอยเกม เครื่องปริ้น ทำให้เราใช้งานสมาร์ทโฟนหลากหลายได้มากขึ้นครับ มาพร้อมช่องเสียบ USB รุ่นใหม่แบบ Type-C (USB 3.1) ซึ่งประโยชน์หลัก ๆ ของการใช้ช่องเสียบ Type-C ได้แก่ สามารถเสียบด้านใดก็ได้ การเชื่อมต่อข้อมูลความเร็วสูงด้วย SuperSpeed USB (USB 3.1) สนับสนุน DisplayPort ถ่ายโอนพลังงานได้มากกว่า ทำให้การชาร์จ การส่งผ่านข้อมูลรวดเร็วมากขึ้น และสายต่าง ๆ ที่ให้มาด้วยก็ครบและเพียงพอในการใช้งาน ไม่ต้องกังวลว่าพอเป็นพอร์ตที่ไม่เหมือนใครจะมีปัญหาในการใช้งาน ยกเว้นหากเราลืมเอาที่ชาร์จไปเที่ยวด้วย เราอาจยืมคนอื่นชาร์จไม่ได้ ดังนั้นห้ามลืมเด็ดขาดครับ
ขอบเครื่องในส่วนอื่น ๆ ด้านบนก็จะเป็นช่องเสียบหูฟัง 3.5 มิลลิเมตร ด้านข้างจะมีปุ่มอลูมิเนียม 3 ปุ่ม เรียงจากบนสุดก็เป็นปุ่มเพิ่มลดเสียง ปุ่มพาวเวอร์ และปุ่มชัตเตอร์ ที่ตอบสนองการใช้งานได้ดีมาก และเพิ่มเติมขอบด้านล่างนอกจากพอร์ต USB 3.1 แล้ว ยังมีช่องเล็ก ๆ สำหรับให้เรางัดเพื่อแกะฝาหลัง ซึ่งแกะได้สะดวกดีครับ
หูฟังเป็นแบบใหม่ จะคล้าย ๆ Apple EarPods ทำให้การฟังได้อรรถรสและเป็นธรรมชาติมากขึ้น หากฟังอยู่ในห้องเงียบ ๆ ก็จะซึมซับได้อย่างเต็มที่ เมื่ออยู่นอกบ้านจะมีเสียงภายนอกเข้ามาด้วย แต่ส่วนตัวมองว่าหากเราฟังเพลงแบบไม่มีเสียงภายนอกเลย อาจเกิดอุบัติเหตุทั้งจากผู้ใช้หรือผู้อื่นมาทำอันตรายให้ผู้ใช้ได้ นี่อาจเป็นวัตถุประสงค์ของผู้ออกแบบก็ได้ครับ
ระบบปฏิบัติการ Windows 10 for Mobile
สำหรับเพื่อน ๆ ที่กำลังจะตัดสินใจซื้อสมาร์ทโฟนสักเครื่องหนึ่ง นอกจากตัวเครื่องแล้ว สิ่งสำคัญที่ต้องหยิบยกขึ้นมาไตร่ตรองให้มาก ก็คือ ระบบปฏิบัติการ ซึ่งตัวเครื่องก็เหมือนร่างกายที่ต้องอาศัยระบบปฏิบัติอย่างจิตวิญญาณหรือความรู้คิดในการทำให้เรามีชีวิตอยู่ได้ และโดยเฉพาะสำหรับคนที่กำลังจะตัดสินใจเลือก Microsoft Lumia 950 ก็ยิ่งต้องรู้ว่า Windows 10 for Mobile นั้นเป็นอย่างไร? เพราะถือว่าเป็นระบบที่ยังไม่สมบูรณ์แบบ ยังมีข้อจำกัดอยู่มาก ข้อจำกัดที่เราต้องทราบก่อนที่จะเลือกใช้งาน และนอกจากนั้นเรายังต้องรู้ความสามารถของระบบนี้ด้วย ว่ามันเจ๋งและมีประสิทธิภาพสักแค่ไหน
หมายเหตุ: ในบทความนี้เพื่อความสะดวกเราจะใช้คำว่า Windows Mobile แทน Windows 10 for Mobile และ Windows Phone นะครับ
ลำดับแรกก็ต้องรู้จักหน้าตาของ Windows 10 for Mobile ก่อนครับ ซึ่งระบบปฏิบัติการจะมี 2 หน้าหลัก
- Live Tiles: จะทำตัวเป็นเหมือนหน้าแรกของระบบปฏิบัติการ Android ที่เราสามารถเลือกแอปพลิเคชัน หน้าเว็บไซต์ เมนูย่อยการตั้งค่า จุดหมายปลายทางในระบบนำทาง และอื่น ๆ อีกมากมาย มาปักหมุดเอาไว้ในหน้านี้ เป็นทางลัดเข้าสู่หน้าต่างนั้น ๆ ส่วนคำว่า Live Tiles นั้นตั้งตามลักษณะการแสดงผลของหน้านี้ ที่จะหน้าตาคล้ายกระเบื้องที่วางเรียงต่อกัน เมื่อเราปักหมุดแอปพลิเคชันมาไว้แล้ว เราจะสามารถกดค้างไว้ที่ Tile นั้นว่าแล้วเลือกขนาดของ Tile นั้น ๆ ได้ เพื่อจัดให้สวยงามตามที่เราต้องการ ส่วน Tile นั้น ๆ จะโปร่งใสหรือทึบ อันนี้แล้วแต่ความสามารถของแอปพลิเคชัน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะโปร่งใสทำให้เรามองเห็นพื้นหลังได้อย่างสวยงาม
- App Drawer: หน้านี้จะรวมแอปพลิเคชันทั้งหมดที่เราได้ติดตั้งเอาไว้ ซึ่งจะเรียงแอปพลิเคชันตามตัวอักษร และหากเราต้องการค้นหาแบบรวดเร็วให้มากขึ้น สามารถกดที่ตัวอักษรตัวใดตัวหนึ่งแล้วเราจะสามารถคลิกเลือกหมวดอักษรได้ครับ หรือจะใช้ช่องค้นหาด้านบนสุดของหน้านี้ก็ได้ครับ
- เมนูการตั้งค่า จะมีเมนูที่ต่างจาก iOS และ Android พอสมควรครับ หากใครไม่คุ้นเคย ก็มีตัวช่วยนั้นคือ ช่องการค้นหาด้านบนของหน้าเมนูได้เลยครับ
ส่วนความสามารถและการใช้งานพื้นฐานของ Windows 10 for Mobile เราจะขอนำเสนอเฉพาะฟีเจอร์ที่สำคัญและน่าสนใจนะครับ เพราะความสามารถพื้นฐานไม่ต่างกับระบบอื่นมากนัก
Cortana เป็นระบบผู้ช่วยส่วนตัวที่ไม่แพ้ของระบบปฏิบัติการอื่น ซึ่งจะฝังอยู่ในปุ่มแว่นขยายด้านล่างขวา(ปกติจะเข้าสู่การค้นหาด้วย Bing) แต่ยังจำกัดการใช้งานในบางประเทศ ดังนั้นหากเพื่อน ๆ อยากใช้ก็เพียงไปเปลี่ยนภูมิภาค(region) เป็น สหรัฐอเมริกา(United States) แล้วกดปุ่มรีสตาร์ทในหน้าการตั้งค่าที่เราเปลี่ยนภูมิภาคนั่นหละครับ เมื่อเครื่องทำการรีสตาร์ทแล้วเรากดไปที่ปุ่มแว่นขยาย เมื่อเข้าหน้า Bing แล้วก็กดแถบการตั้งค่าแล้วเลือกใช้ Cortana เท่านี้ปุ่มแว่นขยายก็จะกลายเป็นระบบผู้ช่วยส่วนตัวของเราได้เลย ทีนี้หากเราต้องการรู้อะไรก็เข้ามาที่เมนูนี้แล้วคลิกไปที่ปุ่มไมค์โครโฟนแล้วสอบถามด้วยภาษาอังกฤษได้เลยครับ
ฟังก์ชัน Continuum ถือว่าเป็นฟังก์ชันเด่นของ Microsoft Lumia 950 เป็นความสามารถที่ทำให้ต่างจาก Windows Mobile รุ่นอื่น ๆ ด้วยฟังก์ชันนี้พร้อมกับการทำงานร่วมกับ Display Dock ของไมโครซอฟท์ จะทำให้เราสามารถส่งหน้าจอ Microsoft Lumia 950 ขึ้นไปบนจอมอนิเตอร์หลากหลายชนิด แล้วใช้งานแอปพลิเคชันผ่านจอมอนิเตอร์ได้เลยครับ แต่จะมีบางแอป เท่านั้นที่รองรับ ซึ่งเท่าที่ทดสอบจะมีเด่น ๆ ก็ Microsoft Office ทุกตัว แอปดูหนัง ฟังเพลง การโทรเข้าออก ข้อความ และอื่น ๆ อีกหลายตัว สำหรับประสบการณ์การใช้งานนั้น Continuum ตอบสนองการใช้งานได้ดีมาก ก่อนใช้งานเราแอบประเมินความสามารถไว้ต่ำ คิดว่าด้วยสเปคของสมาร์ทโฟน เมื่อส่งหน้าจอไปแสดงผลบนจอมอนิเตอร์ตัวใหญ่คงทำได้ไม่ดีนัก แต่เมื่อได้ใช้งานจริงจะเห็นว่าประสิทธิภาพไม่ต่างจากใช้งานบนคอมพิวเตอร์ทั่วไปเลยครับ ยิ่งถ้าใช้งานคู่กับเมาส์และคีย์บอร์ดที่เชื่อมต่อผ่าน Display Dock เหมือนกันยิ่งช่วยทำให้ใช้งานได้คล่องแคล่วและสะดวกสบายเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะ Microsoft Office หากทำงานด้วยเมาส์และคีย์บอร์ดแล้วหละก็ไม่ต่างจากใช้งานบนคอมพิวเตอร์ ลองนึกดูสิครับ เมื่อเราไปต่างจังหวัด พกไปแค่ Microsoft Lumia 950 เราก็เหมือนพกงานติดตัวไปด้วย ทำงานได้ทุกที่ทุกเวลา ส่วนการทำงานของ Continuum ด้านอื่นก็น่าประทับใจ ตัวอย่างเช่น การเล่นอินเทอร์เน็ต ดูหนัง ที่เราใช้งานได้ทั้งสองหน้าจอพร้อมกัน บนจอมอนิเตอร์ก็ให้แฟนดูหนังหรือเล่นอินเทอร์เน็ต ส่วนเราก็นั่งเล่นเกมบนสมาร์ทโฟน เท่านี้ก็ฟิน ๆ กันทุกคน
หน้าตาการแสดงผลบนหน้าจอสมาร์ทโฟน ในขณะที่เชื่อมต่อ Continuum
ทดสอบการใช้งาน Continuum
การบันทึกเสียงสนทนา ถือว่าเป็นอีกหนึ่งฟังก์ชันที่เพิ่มขึ้นมาให้กับ Microsoft Lumia 950 ที่รุ่นก่อนหน้านี้ไม่มี ซึ่งเป็นฟังก์ชันที่ติดเครื่องมาเลยครับ แต่เราต้องเปิดการใช้งานเสียก่อน โดยเข้าไปที่แอปการโทร แล้วคลิกที่สามจุดด้านล่างขวา เลือก Settings แล้วคลิกที่ Change more settings for Phone แล้วเลื่อนไปเกือบล่างสุดคลิกที่ช่องสี่เหลี่ยมตรงคำว่า “เลือกแอปที่คุณต้องการใช้จัดการโทรที่บันทึกไว้” แล้วก็เลือก Voice Recorder เท่านี้ก็เรียบร้อยครับ(หรือดาวน์โหลดแอปตัวอื่นมาใช้แทนได้) ต่อไปถ้ามีคนโทรเข้าหรือเราโทรออกก็จะมีปุ่มเพิ่มขึ้นมาจากปกติในหน้าการโทร เป็นรูปวงกลมและมีคำว่า “บันทึก” เราก็จะสามารถบันทึกเสียงสนทนาได้แบบที่อีกฝ่ายไม่รู้ตัวเลยครับ และหากต้องการเข้าไปฟังเสียงที่บันทึกเอาไว้ ก็เข้าไปที่หน้าการโทร คลิกสามจุดด้านล่างขวา แล้วเลือก “Recorded Calls” ก็จะสามารถฟังเสียงที่บันทึกไว้ได้แบบเสียงดังฟังชัดมากครับ และสามารถแชร์ผ่าน NFC, ข้อความ, OneDrive หรืออีเมล์
Windows Hello เป็นความสามารถใหม่เช่นกัน ทำให้เราสามารถปลดล็อกเครื่องได้ด้วยการสแกนม่านตา โดยการเปิดใช้งานทำได้ง่าย ๆ เพียงแค่ไปที่ การตั้งค่า >> เลือกเมนูบัญชี >> ตัวเลือกการลงชื่อเข้าใช้ แล้วทำการตั้งรหัส PIN เสียก่อน จากนั้นเลื่อนไปที่เมนู Windows Hello กดไปที่คำว่า “ตั้งค่า” จากนั้นก็เริ่มขั้นตอนการบันทึกม่านตาที่ทำได้ง่ายและรวดเร็วมากครับ โดยในขั้นตอนการบันทึกนั้นให้เราจับระยะหน้าจอให้พอดีกับที่เราใช้งานอยู่ประจำนะครับ เมื่อเสร็จเรียบร้อยก็จะใช้งานได้เลย(ถ้าลองทันทีแล้วไม่ได้ แสดงว่าการตั้งค่าล็อกหน้าจอหน่วงเวลาเอาไว้ ให้ไปแก้ไขที่เมนู การตั้งค่าส่วนบุคคล)
สำหรับประสบการณ์การใช้งาน เนื่องจากปกติผู้รีวิวจะใส่แว่นสายตา(ตอนสแกนต้องถอดแว่น) จึงมีปัญหานิดหน่อย นั่นคือ ต้องยกหน้าจอมาใกล้ตาพอสมควร ระยะไกลสุดที่สแกนได้ขณะใส่แว่นประมาณ 20 เซนติเมตร และบางครั้งบางสถานการณ์จะสแกนไม่ได้เลย จนต้องใช้การใส่รหัส PIN แทน แต่หากถอดแว่นตาระยะไกลสุดจะได้ประมาณ 40 เซนติเมตร ซึ่งเป็นระยะที่พอดีกับการใช้งานปกติของเราครับ และมีความแม่นยำพอสมควร อย่างไรก็ตาม Windows Hello ยังวงเล็บไว้ว่า Beta หรือเวอร์ชั่นทดสอบเอาไว้กันหมาอยู่ ดังนั้นเราคงต้องหวังเอาไว้กับเวอร์ชั่นเต็มว่าจะดีและแม่นยำกว่านี้ได้มากแค่ไหน
แอปพลิเคชันและสังคมออนไลน์
เราขอหยิบยกเรื่องแอปพลิเคชันและสังคมออนไลน์ออกมากล่าวถึงเป็นพิเศษนะครับ เนื่องจาก Windows Mobile นั้นมักจะถูกกล่าวถึงข้อด้อยเรื่องแอปพลิเคชันทุกครั้งไป ซึ่งเรื่องนี้เราต้องยอมรับนะครับ มันคือจุดอ่อนสำคัญที่นักพัฒนายังไม่ใส่ใจหรือสนใจ Windows Mobile มากนัก เพราะยอดผู้ใช้น้อย ยิ่งปัจจุบันก็ลดลงอย่างต่อเนื่อง ก็ยิ่งทำให้นักพัฒนาตีตัวออกห่างเรื่อย ๆ สำหรับแอปพลิเคชันในสโตร์ที่มีอยู่ แม้จะมีจำนวนไม่น้อย แต่มีแอปขยะเยอะมาก ใช้งานจริงได้น้อย นี่คือจุดอ่อนสำคัญที่ผู้ซื้อต้องทำความเข้าใจเสียก่อน
อย่างไรก็ตาม หากถามว่าแอปที่มีอยู่นั้นเพียงพอในการใช้งานหรือไม่? เราก็ขอตอบชัดเจนเลยว่าเพียงพอครับ เพราะแม้แอปในสโตร์จะมีจำนวนมากแค่ไหนก็ตาม เราก็ใช้งานจริงจังอยู่ไม่กี่ตัว ซึ่ง Windows 10 for Mobile นี้เพียงพอในการใช้งานแน่นอน จะขาดก็เพียงแอปใหม่ ๆ ความสามารถสูง ที่จะเพิ่มความสมาร์ทให้กับสมาร์ทโฟนของเรา หรือเกมชื่อดังต่าง ๆ ซึ่งผู้ใช้หลายคนอาจมองว่ามันคือความจำเป็นสำหรับสมาร์ทโฟนที่ต้องมี แต่หลายคนอาจมองว่าไม่จำเป็น อันนี้เราต้องตัดสินใจด้วยตัวเองครับ
ข้อเสียเรื่องแอปที่ถูกกล่าวถึงกันมากที่สุดก็คือ สังคมออนไลน์ ซึ่งแท้จริงแล้วบน Windows Phone 8 และ Windows 10 for Mobile นั้นมีหลายตัวที่เป็นสังคมออนไลน์ยอดนิยมต่าง ๆ ทั้ง Instagram, twitter, Line, Messenger, WhatsApp, WeChat และอื่น ๆ อีกหลายตัว ส่วนแอปที่ไม่มีและมีคนสอบถามเรามาอยู่เสมอก็อย่างเช่น BeeTalk ครับ และแอปที่เจ้าของสังคมออนไลน์ไม่ได้ทำเองแต่ทางไมโครซอฟท์ทำให้ ก็อย่างเช่น Facebook และ Youtube เป็นต้น ซึ่งยังไม่ค่อยเวิร์คสักเท่าไหร่ โดยเฉพาะแอป Facebook นั้น ประสิทธิภาพยังด้อยกว่าแอป Facebook บน Android และ iOS อยู่มากครับ ดังนั้นหลายคนจึงแก้ปัญหาโดยการเล่น Facebook ผ่านบราวเซอร์เลย ซึ่งทำงานได้ดีมาก และสามารถสร้าง Tile ปักหมุดไว้หน้าแรกได้ง่าย ๆ ดังนั้นมันก็เหมือนแอปตัวหนึ่งได้เลยครับ
แอปสำหรับการนำทาง เป็นแอปของไมโครซอฟท์ที่ทำงานบนพื้นฐานของแอป Here Maps ในตำนาน ทำให้การนำทางทำได้ดีเยี่ยม และสามารถดาวน์โหลดแผนที่มาใช้งานแบบออฟไลน์ได้ ซึ่งจะมีประโยชน์หากเราเดินทางไปในพื้นที่คลื่นสัญญาณอินเทอร์เน็ตน้อย หรือหากเราต้องการปิดรับสัญญาณเพื่อประหยัดก็ได้ครับ
สำหรับการดูหนัง ฟังเพลง นั้น ด้วยสเปคที่จัดเต็มของ Microsoft Lumia 950 ก็ทำให้ออกมาได้อย่างดีเยี่ยมครับ พร้อมด้วยหน้าจอที่สวยงามและหูฟังที่ออกแบบมาใหม่ ก็ทำให้การฟังและการดูภาพจากหน้าจอได้อรรถรสเพิ่มขึ้นมากครับ ส่วนการเล่นเกมทำงานได้อย่างดีเยี่ยมครับ แต่เมื่อเล่นไปสักพักความร้อนจากตัวเครื่องก็เพิ่มขึ้นมาบ้างครับ แต่ก็ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติสำหรับการใช้งานหนัก ๆ บนสมาร์ทโฟนอยู่แล้ว
บราวเซอร์ในการเล่นอินเทอร์เน็ต พื้นฐานแล้วจะใช้งาน Microsoft Edge ที่มีความสามารถหลากหลายและใช้งานได้ง่ายมากครับ ซึ่งที่น่าสนใจมากที่สุดก็คือโหมดการอ่าน(คลิกรูปหนังสือด้านล่างของบราวเซอร์) เพราะเป็นโหมดที่เหมาะกับสมาร์ทโฟนมาก เพราะมันจะทำให้เราอ่านบทความในเว็บไซต์ต่าง ๆ ได้ง่ายมากขึ้น ไม่มีโฆษณาหรือแบรนเนอร์มากวนใจ มีแต่เนื้อหาและรูปภาพที่เราต้องการอ่านเท่านั้น ซึ่งนอกจาก Microsoft Edge ก็มีบราวเซอร์อีกหลายตัวให้เราเลือกใช้ได้ครับ ที่นิยมมากที่สุดก็คือ UC Browser ที่มีความสามารถหลายอย่างที่ Microsoft Edge ไม่ได้ ถือว่าเป็นอีกหนึ่งแอปที่ห้ามพลาดเลยครับ
ประสบการณ์การใช้งาน
สำหรับประสบการณ์การใช้งานนั้น ส่วนใหญ่กล่าวถึงในหัวข้อก่อนหน้านี้แล้วนะครับ แต่เนื่องจากยังมีอีกหลายเรื่องอยากที่จะเล่าสู่กันฟัง เราจึงขอนำความเห็นอื่น ๆ มาไว้ในหัวข้อนี้ โดยประสบการณ์การใช้งานโดยรวมนั้นพูดได้อย่างเต็มปากเลยว่าดีกว่า Windows Mobile ทุกรุ่นที่ผ่านมากครับ แม้ด้านแอปพลิเคชันจะเหมือนเดิม แต่ตัวระบบ Windows 10 for Mobile มีความสามารถสูงกว่าเดิมมาก โดยสรุปเป็นข้อ ๆ ได้ดังนี้
- ประสิทธิภาพของระบบปฏิบัติการผนวกกับตัวเครื่องได้อย่างลงตัว ใช้งานได้ลื่นไหลมาก เมื่อก่อนอาจรู้สึกว่าลื่นแบบแข็งทื่อ แต่ปัจจุบัน Windows 10 for Mobile ตัวเต็มนี้ ให้ความรู้สึกลื่นไหลที่นิ่มนวลมากขึ้น ความรู้สึกใกล้เคียงกับ iOS พอสมควรครับ
- ผู้ช่วยส่วนตัว Cortana ทำงานได้หลายอย่างมากขึ้น เป็นตัวช่วยเราได้เป็นอย่างดี
- ฟีเจอร์ Continuum ที่ไม่มีสมาร์ทโฟนเครื่องไหนทำได้ดีเท่าหรือใกล้เคียง ถือว่าเป็นฟีเจอร์ขายสำหรับ Microsoft Lumia รุ่นต่อ ๆ ไปเลยครับ และเป็นตัวเชื่อมที่จะทำให้เครื่อง Windows 10 ทุกแพลตฟอร์ม เชื่อมและทำงานร่วมกันได้
- ตัวเครื่องออกแบบในอารมณ์เดิม ๆ ไม่มีอะไรพิเศษหรือแตกต่างมากนัก แต่เครื่องเบาและใช้งานได้ถนัดมากขึ้น หน้าจอสวย
- หากใช้งานกล้องถ่ายรูป และเล่นเกม นาน ๆ ก็ทำให้เครื่องร้อนได้ง่าย
- แบตเตอรี่อยู่ได้ครบวันแบบไม่ต้องกังวลเลยครับ ความจริงอยู่ได้วันกว่า ๆ ถึงสองวันก็ยังได้ และการชาร์จก็ทำได้เร็วขึ้นด้วย USB 3.1
- Windows Hello หากไม่ใช่คนใส่แว่นจะฟินกับมันแบบสุด ๆ เนื่องจากมีความแม่นยำสูง สแกนม่านตาได้อย่างรวดเร็ว ทั้งตอนบันทึกและตอนสแกน ไม่ใช่แค่ฟีเจอร์เอาไว้โฆษณาเล่น ๆ และเป็นการสแกนม่านตาจริง ๆ ไม่เนียนหลอกผู้ใช้เหมือนบางยี่ห้อที่ใช้การสแกนใบหน้าแทนที่จะใช้หน้าตาจริง ซึ่งสรุปได้เช่นนี้เพราะเราได้ทดสอบโดยการสวมหน้าตาแล้วสแกน ก็ได้ผลลัพธ์ไม่แตกต่างกันเลย
- สโตร์สำหรับดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน ไม่ค่อยสวย ไม่เป็นมิตรกับผู้ใช้เท่าใดนัก หาแอปพลิเคชันยากสักหน่อย
- แอปพลิเคชันใหม่ ๆ ที่น่าสนใจไม่ค่อยมี โดยเฉพาะแอปพลิเคชันด้านสังคมออนไลน์นี่เหมือนแช่แข็งเลยครับ ไม่มีตัวใหม่เข้ามาเพิ่มเติมเลย ส่วนแอปเก่าก็ไม่ค่อยมีการพัฒนา เหมือนโยนทิ้งไว้และไม่เหลียวแล อย่าง Instagram Beta ขึ้นสถานะ Beta มาหลายปีแล้ว ยังไม่สามารถปลดออกได้เลยครับ
- ศูนย์บริการไมโครซอฟท์ ในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัดเหลือน้อยมาก ๆ อาจส่งผลต่อความรู้สึกของผู้ใช้เป็นจำนวนมาก แต่อย่างไรก็ตามเพื่อน ๆ ก็สามารถติดต่อส่งเครื่องซ่อมที่ตัวแทนได้ตาม Drop-Off Point ได้นะครับ >> รายละเอียด Drop-Off Point ทั้งหมด
- สังคมผู้ใช้งาน สำหรับ Microsoft Lumia ในประเทศไทยยังคงเหนี่ยวแน่นเสมอ นอกจากแฟนเพจเรา AppDisqus ที่มีกูรูและแฟนตัวยงของ Microsoft Lumia ที่คอยช่วยตอบคำถามปัญหาการใช้งานต่าง ๆ แล้ว ก็มีกลุ่ม Nokia Lumia Club ใน Facebook ที่เป็นสังคมผู้ใช้จำนวนมากที่สุดในขณะนี้ ดังนั้นเพื่อน ๆ ไม่ต้องห่วงเลยครับว่า ถ้ามีปัญหาการใช้งานแล้วจะไปปรึกษาใครได้บ้าง
การถ่ายภาพและวิดีโอ
ตามสเปคแล้ว Microsfot Lumia 950 มาพร้อมกล้องหลังความละเอียด 20 ล้านพิกเซล f/1.9 เซ็นเซอร์ขนาด 1/2.4 นิ้ว พร้อมเทคโนโลยี PureView และเทคโนโลยีกันสั่น OIS Generation ที่ 5 รวมถึงแฟลชแบบ LED ที่มา 3 ดวงให้แสงเป็นธรรมชาติ และปุ่มชัดเตอร์กล้อง รองรับการถ่ายวิดีโอแบบ 4K ที่ 30 fps ส่วนกล้องหน้าความละเอียด 5 ล้านพิกเซล มุมมองกว้าง f/2.4 ซึ่งถือว่าเป็นสเปคที่สูงมากครับ ถือได้ว่าไม่แพ้เรือธงตัวไหนเลยทีเดียว
ส่วนด้านซอฟท์แวร์ก็พัฒนาขึ้น เรายังสามารถปรับตั้งค่าต่างของกล้องได้เหมือนเดิม ทั้ง สมดุลแสงขาว โฟกัส ISO ความเร็วชัดเตอร์ และการชดเชยแสง ทำให้เราสนุกกับการใช้งานกล้องได้อย่างเต็มที่ทั้งรูปภาพและคลิปวิดีโอ ประสิทธิภาพของกล้องก็ยังสุดยอด ยากที่จะหาคู่แข่งได้เหมือนเดิม ส่วนปัญหาที่เคยเกิดขึ้นบ่อยจนน่ารำคาญ อย่างการปรับสมดุลแสงขาว หรือ White Balance ในโหมดอัตโนมัติ ดีขึ้นเป็นอย่างมาก แม้จะมีอยู่บ้าง แต่แทบจะบอกได้เลยว่าไม่มีปัญหา แต่การโฟกัสเพี้ยนก็ยังมีให้เห็นบ้างครับ
ปัญหาที่รู้สึกขัดใจมากที่สุด ก็คือกล้องหน้าที่ยังถือว่าใช้ไม่ได้ครับ และโหมดอัตโนมัติของกล้องหลังก็ยังพึ่งพาไม่ค่อยได้ ต้องถ่ายหลายครั้งถึงจะได้รูปที่เราแชร์ได้ ดังนั้นสรุปว่ากล้องของ Microsoft Lumia 950 เหมาะกับคนที่มีพื้นฐานการตั้งค่ากล้องอยู่บ้าง จะทำให้รูปออกมาสวยและแปลกใหม่ สนุกกับการใช้งานอย่างเต็มที่ และการใช้งานบางครั้ง การบันทึกจะค้าง ทำให้ใช้งานได้ไม่ต่อเนื่อง
ตัวอย่างภาพถ่าย Microsoft Lumia 950
ตัวอย่างภาพจากกล้องหลัง ทั้งสถานการณ์แดดจ้า คลื้มฟ้าคลื้มฝน ช่วงเย็น ช่วงกลางคืน ในงานเลี้ยง รูปอาหาร รูปบุคคล และอื่น ๆ
ตัวอย่างภาพถ่ายจากกล้องหน้า
ลองปรับความเร็วชัตเตอร์ 2 วินาทีในช่วงกลางคืน และ 1/1600 วินาที ในช่วงกลางวัน ได้ผลดังนี้
ตัวอย่างการถ่ายคลิปวิดีโอ
.
.
สรุปการรีวิว Microsoft Lumia 950
Microsoft Lumia 950 มีดีอยู่ดังเรือธงตัวหนึ่ง ถ้าไม่มี Microsoft Lumia 950 XL ก็สามารถยกให้เป็นเรือธงได้สบาย ๆ เลยครับ ตัวเครื่องสวย แข็งแรง แบตเตอรี่เกินพอในการใช้งาน ระบบปฏิบัติการ Windows 10 for Mobile ตัวเต็มที่มีประสิทธิภาพสูง ไหลลื่นให้ความรู้สึกที่ดีมากขึ้น มาพร้อมกับฟีเจอร์ที่โดดเด่นและน่าสนใจมาก ๆ อย่าง Continuum ที่ทำให้เราเชื่อมต่อออกจอมอนิเตอร์ได้หลากหลายตัว ทำงานได้เหมือนเป็นคอมพิวเตอร์ตัวนึง แม้แอปที่รองรับจะยังไม่มากนัก แต่แอปเหล่านั้นต่างก็เป็นแอปที่เหมาะและสมควรที่จะใช้งานในจอมอนิเตอร์ที่ใหญ่ขึ้น อีกฟีเจอร์ก็คือ Windows Hello ที่น่าใช้และแม่นยำมาก ส่วนกล้องถ่ายภาพและวิดีโอที่เป็นจุดเด่นของ Microsoft Lumia ก็ยังคงมาตรฐานเอาไว้ได้ ความสามารถสูง แต่โหมดอัตโนมัติยังไว้ใจไม่ค่อยได้เท่าไหร่ ส่วนจุดอ่อนที่สำคัญที่สุด ก็คือ แอปพลิเคชัน ที่มีจำนวนน้อย ความสามารถน้อย แอปขยะเยอะ และแอปสังคมออนไลน์หลัก ๆ หลายตัวอยังไม่มี ส่วนราคาอยู่ที่ 20,700 บาท ถือว่าสูงพอสมควรครับ และบอกเพื่อน ๆ ไว้ตรงนี้เลยว่า ราคาขายต่อจะลดลงเป็นอย่างมาก ดังนั้นถ้าซื้อแล้วก็ให้ตัดสินใจเลยว่าซื้อแล้วซื้อเลยครับ ถ้าจะขายก็ไม่ต้องหวังเรื่องราคามากนัก ทั้งหมดนี่คือสิ่งที่เพื่อน ๆ ต้องตัดสินใจก่อนที่จะซื้อว่ายอมรับได้หรือไม่? หากเลือกแล้วก็สามารถหาความรู้เพิ่มเติมหรือสอบถามปัญหาต่าง ๆ กับทาง AppDisqus ได้เสมอนะครับ พวกเราเต็มใจและยินดีเสมอ