วันพุธ, พฤษภาคม 15
Advertisement

Ambi Labs เปิดตัวน้องใหม่ของ Ambi Climate มาอีกครั้งภายใต้ชื่อ Ambi Climate Mini ซึ่งมาพร้อมกับลูกเล่นและความสามารถที่แทบจะถอดแบบ Ambi Climate 2 ที่ APPDISQUS เคยรีวิวไว้ก่อนหน้านี้เด๊ะๆ ต่างกันก็ตรงที่ Ambi Climate Mini นั้นไม่ได้ให้ฟังก์ชั่น Comfort AI Assistant หรือผู้ช่วยส่วนตัวในการควบคุมอุณหภูมิแบบอัตโนมัติมาด้วย ในสนนราคาที่ถูกลงกว่า Ambi Climate 2 ถึง 1,500 บาท (โดย Ambi Climate Mini นั้นสนนราคาที่ 3,500 บาท ในขณะที่ Ambi Climate 2 นั้นราคาอยู่ที่ 4,990 บาท)

APPDISQUS ได้มีโอกาสทดสอบ Ambi Climate Mini อีกครั้ง โดยนำมาใช้งานกับบ้านอัจฉริยะ หรือ Smart Home ของเว็บไซต์ ซึ่งน่าจะเป็นจุดขายของเจ้า Ambi Climate อยู่แล้ว ดังนั้นเรามาดูกันดีกว่าว่า Ambi Climate Mini นั้นจะตอบโจทย์การใช้งานของเรามากแค่ไหน และการที่ไม่มี Comfort AI Assistant นั้นจะมีข้อเสียต่างจากรุ่นใหญ่อย่าง Ambi Climate 2 มากน้อยแค่ไหน วันนี้เราจะมาพิสูจน์กัน

Advertisement

Ambi Climate Mini … คืออุปกรณ์แปลงเครื่องปรับอากาศเก่าๆ ในบ้านเราให้กลายเป็นแอร์อัจฉริยะพร้อมฟังก์ชั่น Thermostats ในราคาที่เหมาะสมและคุ้มค่ากับฟังก์ชั่นมากๆ

Ambi Climate Mini


Ambi Climate คืออะไร

เพื่อนๆ เคยฝันอยากให้แอร์ของเรามีสมองอัจฉริยะไว้คอยควบคุมอุณหภูมิที่เหมาะสมให้กับเราโดยอัตโนมัติไหมครับ หรืออย่างน้อยๆ ก็สามารถตั้งค่าอุณหภูมิห้องเราต้องการแล้วปล่อยให้ที่เหลือเป็นหน้าที่ของแอร์ในการรักษาสมดุลย์ของอุณหภูมินั้นไว้ตลอดเวลาที่เราใช้งานแอร์ นั่นล่ะครับคือหน้าที่ของเจ้า Ambi Climate ที่เรากำลังพูดถึง

โดยทางทฤษฎีแล้ว Ambi Climate นั้นก็เทียบได้กับ Thermostats อัจฉริยะหนึ่งตัวที่เราสามารถตั้งค่าอุณหภูมิที่เราต้องการภายในบ้านของเราได้ ต่างกันตรงที่แทนที่เราจะต้องไปลงทุนกับระบบ HVAC (Heating, Ventilation  and Air Conditioning) ที่ดูจะเกินตัวไปสำหรับหลายๆ บ้านนั้น เราสามารถมีระบบดีๆ ที่ใกล้เคียงกับการมี Thermostats ในบ้านได้ด้วยการติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มเติมอย่างเจ้า Ambi Climate เพียงตัวเดียว มันก็จะสามารถบังคับแอร์บ้านเก่าๆ ทั่วไปในบ้านเราให้กลายเป็นระบบปรับอุณหภูมิอัจฉริยะภายในบ้านหรือในห้องของเราได้แล้วล่ะครับ

Ambi Functions

โดยวิธีการนั้นก็ไม่มีอะไรมาก Ambi Climate จะทำการควบคุมแอร์ของเราผ่านการยิงสัญญาณ IR (Infrared) ซึ่งเป็นสัญญาณพื้นฐานทั่วไปของรีโมตแอร์ที่เราใช้กันตามบ้าน กอปรเซ็นเซอร์อุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ซึ่งเป็นค่าที่จำเป็นในการควบคุมอุณหภูมิภายในบ้านเราให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ตามด้วยการใช้สมองอุจฉริยะอย่าง AI มาคอยวิเคราะห์พฤติกรรมการอยู่อาศัยของเรา และเมื่อทั้งหมดทำงานร่วมกัน ผลที่ได้ก็คือการควบคุมอุณหภูมิภายในบ้านให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมต่อความต้องการของเรา ในราคาที่สุดแสนประหยัดนั่นเอง

แกะกล่อง Ambi Climate Mini

Ambi Climate Mini นั้นมาพร้อมกับกล่องเรียบง่าย รักษ์โลก แต่อัดแน่นไปด้วยอุปกรณ์จำเป็นสำหรับการใช้งานแบบครบครันตามสไลต์ Ambi Labs เค้าเลย โดยอุปกรณ์ในกล่องนั้นประกอบด้วย

อุปกรณ์ในกล่องของ Ambi Climate Mini
อุปกรณ์ในกล่องของ Ambi Climate Mini
  1. Ambi Climate Mini 1 เครื่อง
  2. สายชาร์จสีขาว หัวเสียบใช้งานกับบ้านเราได้ 1 ชิ้น
  3. สายชาร์จไฟ USB-C สีขาว 1 เส้น
  4. ฐานสำหรับยึดติดผนัง โดยยึดได้ทั้งด้วยกาวสองหน้าที่แถมมา หรือจะยึดผนังด้วยพุ๊กและน็อตก็มีให้มาในกล่อง 1 ชุด
  5. คู่มือการใช้งาน

ตัวเล็กลงแต่ฟังก์ชั่นไม่เล็กตาม

Ambi Climate Mini นั้นมีขนาดและน้ำหนักที่เล็กลงจากตัวก่อนหน้าอย่าง Ambi Climate 2 อยู่พอประมาณ โดยมีขนาด 20x47x110 มม. และมีน้ำหนักเพียง 50 กรัม เท่านั้น โดยเจ้า Ambi Climate Mini นั้นจะเน้นรูปทรงให้ดูบาง แต่ยาวมากขึ้น พร้อมกับน้ำหนักที่เบาลงกว่าครึ่งหนึ่ง ซึ่งทำให้เหมาะกับการนำไปติดผนังโดยไม่จำเป็นต้องเจาะผนังก็อยู่ได้สบายๆ ไม่มีหลุด หรือหากไม่อยากติด แต่อยากวางไว้เฉยๆ ก็ยังทำได้โดยไม่ต้องกังวล แต่อาจจะดูสวยงามน้อยกว่ารุ่นพี่อย่าง Ambi Climate 2 เล็กน้อยเท่านั้นเอง

Ambi Climate Mini นั้นยังมาพร้อมเซ็นเซอร์ตรวจวัดอุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์เพื่อตอบโจทย์การใช้งานควบคุมอุณหภูมิภายในบ้านเหมือนรุ่นอื่นๆ พร้อมกับภาคส่งสัญญาณ IR และการเชื่อมต่อด้วย WiFi โดยสิ่งที่ถูกตัดออกไปบนเจ้า Ambi Climate Mini นั้นคือพอร์ตเชื่อมต่อ USB ที่แต่เดิมมีอยู่ในรุ่น Ambi Climate 2 แต่ก็ไม่เคยได้ใช้งานหรอก ซึ่งก็ไม่ได้ถือว่าการตัดออกไปนั้นจะเป็นเรื่องสำคัญอะไร

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่ดูเหมือนจะหายไปจาก Ambi Climate Mini จริงๆ นั้นคือ Comfort AI Assistant หรือเอไอช่วยเหลือเรียนรู้อุณหภูมิที่เหมาะสมกับเราแบบอัตโนมัติ โดยจะเรียกว่าหายไปเลยก็ไม่เชิง เพราะเจ้า Ambi Climate Mini นั้นยังคงใช้งานฟังก์ชั่นนี้ได้อยู่ แต่จะต้องเสียเงินสมัครใช้งานเป็นรายเดือน เดือนละ $2.99 หรือประมาณ 90 บาท และสามารถยกเลิกได้ทุกเมื่อที่ต้องการ ในขณะที่ Ambi Climate 2 นั้นสามารถใช้งานฟังก์ชั่น Comfort AI Assistant ได้ฟรีตลอดกาล ในราคาที่สูงกว่าตัวนี้ 1,500 บาท (ก็ตีง่ายๆ ว่าเป็นราคาที่ต้องจ่ายหากใช้ Ambi Climate Mini และฟังก์ชั่น Comfort AI Assistant เป็นระยะเวลาประมาณ 1 ปีครึ่งนั่นเอง)

อย่างไรก็ตาม Ambi Labs เองก็ยังใจดีมอบสิทธิ์ใช้งาน Comfort AI Assistant ให้กับผู้ซื้อ Ambi Climate Mini ทุกคนฟรีเป็นระยะเวลา 2 เดือนเพื่อประกอบการตัดสินใจว่าไลฟ์สไตล์ของเรานั้นจะคุ้มค่ากับการสมัครใช้ Comfort AI Assistant หรือไม่ ซึ่งก็ถือว่าตอบโจทย์และเปิดโอกาสให้ผู้ใช้งานหน้าใหม่ได้ทดสอบระบบอัจฉริยะนี้ก่อนเสียเงินจริง

เริ่มต้นใช้งานและการเชื่อมต่อ

ขั้นตอนการเชื่อมต่อ Ambi Climate Mini นั้นยังคงเหมือนกับรุ่นก่อนหน้า โดยจะต้องเชื่อมต่อกับ WiFi 2.4Ghz เท่านั้น (ไม่รองรับคลื่นสัญญาณ 5Ghz) ซึ่งหลังจากที่เราดาวน์โหลดและติดตั้งแอพพลิเคชั่น Ambi Climate ที่สามารถดาวน์โหลดได้จากทั้งบน iOS และ Android แล้ว ทันทีที่เราเปิดแอพพลิเคชั่นขึ้นมา เราก็จะสามารถเพิ่มอุปกรณ์ในระบบ Ambi Climate ตัวใหม่เข้าไปได้โดยการทำตามคำแนะนำที่แสดงบนหน้าจอได้เลย

หลังจากทำการเพิ่มอุปกรณ์ Ambi Climate Mini เข้าไปเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการเชื่อมต่อรีโมตของแอร์ตัวเดิมที่เราใช้งานอยู่ เข้ากับเจ้า Ambi Climate Mini ซึ่งข้อดีของ Ambi Labs และอุปกรณ์ Ambi Climate นั้นคือมันมีฐานข้อมูลรีโมตแอร์ที่รองรับแบบเยอะมากๆ เยอะชนิดที่ว่าแอร์บางตัวที่หาไม่เจอในฐานข้อมูลอื่น (เช่นหาไม่เจอใน Broadlink) ก็สามารถหาเจอได้ในฐานข้อมูลของ Ambi Labs ซึ่งขั้นตอนในการหารุ่นของรีโมตแอร์เพื่อทำการเชื่อมต่อนั้นก็ง่ายมากๆ โดยปกติแล้วรุ่นของรีโมตนั้นจะอยู่ที่ด้านหลังของรีโมตแอร์ ให้ลองพลิกกลับไปหาหลังรีโมตแอร์ที่ใช้อยู่แล้วใช้เลขรหัสรีโมตตรงนั้นไปค้นหาในฐานข้อมูลของ Ambi Labs ได้เลย

โดยในกรณีของอเล็กซ์นั้นใช้แอร์เก่าประมาณ 8 ปีที่จำชื่อรุ่นไม่ได้แล้วของ Mitsubishi Electric โดยเมื่อพลิกด้านหลังรีโมตนั้นระบุ Type Name ไว้เป็น “MH12A 212DL”

Mitsubishi Air condition remote model

หลังจากได้รหัส MH12A มา เราก็เพียงแค่นำรหัสดังกล่าวไปทำการค้นหาในฐานข้อมูลของ Ambi Labs โดยการกรอกรหัสนี้ลงไปในหน้าการเชื่อมต่อกับรีโมตแอร์ของแอพพลิเคชั่น Ambi Climate แล้วเลือกรุ่นแอร์ที่ปรากฏขึ้นมาที่หน้าจอเพียงเท่านั้น

ซึ่งหลังจากที่ทำการเชื่อมต่อรีโมตแอร์รุ่นที่ต้องการเสร็จเรียบร้อยแล้ว Ambi Climate จะทำการทดสอบว่าแอร์ที่เราเลือกนั้นถูกต้องหรือไม่ด้วยการให้เราฟังเสียงแอร์ว่าดังปิ๊ปหรือไม่ และแอร์มีการเข้าสู่สถานะตามคำสั่งที่ Ambi Climate Mini ทำการสั่งไปควบคุมแอร์หรือไม่ หากใช้ก็ตอบตกลง และเป็นอันเสร็จสิ้นการเชื่อมต่อและการตั้งค่า

การใช้งานและฟังก์ชั่นต่างๆ

Ambi Climate Mini ยังคงมาพร้อมกับฟังก์ชั่นการใช้งาน และโหมดต่างๆ ที่ครอบคลุมการใช้งานได้เป็นอย่างดี และหากอยากให้ครบครันได้อย่าง Ambi Climate 2 นั้นก็ทำได้โดยการจ่ายรายเดือนเพื่อแรกกับ Comfort AI Assistant ซึ่งก่อนจะตัดสินใจว่ามันคุ้มค่ากับเงินที่เสียไปหรือไม่นั้น ก่อนอื่นเราต้องการเข้าใจก่อนว่า Comfort AI Assistant นั้นช่วยเรื่องอะไร พร้อมกับไปดูโหมดการใช้งานต่างๆ ของ Ambi Climate Mini แบบครบวงจรเพื่อประกอบการตัดสินใจ

Comfort AI Assistant จะค่อยๆ เรียนรู้ว่าอุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับเรานั้นอยู่ที่ประมาณเท่าไหร่ ซึ่งต่อไปเมื่อเราเป็นผู้สั่งเปิดใช้งานเครื่องปรับอากาศ​ผ่านแอพ Ambi Climate ด้วยตัวเราเอง Comfort AI Assistant ก็จะรู้ว่าต้องเปิดแอร์ให้เราที่อุณหภูมิช่วงประมาณเท่าไหร่เมื่อเราเลือกโหมด Comfort…

  • Comfort Mode (ใช้ความสามารถของ Comfort AI Assistant มีค่าใช้จ่ายรายเดือนสำหรับ Ambi Climate Mini)

ในโหมดนี้น่าจะเรียกได้ว่าเป็นโหมดหลักๆ ที่เราใช้งานสำหรับเจ้า Ambi Climate กันเลยทีเดียว โดยหน้าที่ของมันคือการให้ผู้ใช้งานคอยสอนให้ Ambi Climate ทราบว่าอุณหภูมิที่เรารู้สึกสบายที่สุดนั้นอยู่ในช่วงไหน ซึ่งอินเตอร์เฟซการใช้งานนั้นก็ง่ายมากๆ โดย Ambi Climate เองจะมีปุ่มให้เราคอยกดรายงานความสบายของเราต่ออุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ในขณะนั้น โดยแยกออกมาเป็นความรู้สึกต่างๆ คือ “Hot (ร้อน), Too Warm (อุ่นเกินไป), A Bit Warm (อุ่นไปนิด), Comfy (กำลังสบาย), A Bit Cold (เย็นไปนิด), Too Cold (เย็นเกินไป), Freezing (หนาวมาก)”

การที่เราเลือกความรู้สึกแบบนี้บ่อยๆ จะทำให้ Comfort AI Assistant ค่อยๆ เรียนรู้ว่าอุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับเรานั้นอยู่ที่ประมาณเท่าไหร่ ซึ่งต่อไปเมื่อเราเป็นผู้สั่งเปิดใช้งานเครื่องปรับอากาศ​ผ่านแอพ Ambi Climate ด้วยตัวเราเอง Comfort AI Assistant ก็จะรู้ว่าต้องเปิดแอร์ให้เราที่อุณหภูมิช่วงประมาณเท่าไหร่เมื่อเราเลือกโหมด Comfort นั้นเอง

Ambi Climate นั้นยังสามารถเรียนรู้อุณหภูมิที่เหมาะสมของผู้ใช้งานได้มากกว่า 1 คน ในการควบคุมอุณหภูมิในห้องเดียวกันด้วย โดยผู้ใช้งานแอพพลิเคชั่นแต่ละรายนั้นสามารถตั้งค่าเรียนรู้ค่าอุณหภูมิที่เหมาะสมเพื่อสอน Comfort AI Assistant ได้ และเมื่อทำการเปิดใช้งานเครื่องปรับอากาศในโหมด Comfort ผ่านแอพของ Ambi Climate ตัว Comfort AI Assistant ก็จะเลือกโซนอุณหภูมิที่สบายของผู้ใช้งานรายนั้นๆ โดยอ้างอิงค์จากโปรไฟล์ผู้ใช้งานที่เป็นคนสั่งงานได้ อีกทั้งเรายังสามารถเปิดดูโซนสบายของผู้ใช้งานรายอื่นในบ้านเราเพื่อทำการผสานรวมกับของเราให้ได้โซนอุณหภูมิที่เหมาะสมได้อีกด้วย

นี่เป็นความสามารถสำคัญที่มีมากับตัว Ambi Climate 2 เลยโดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม แต่สำหรับ Ambi Climate Mini นั้นต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มรายเดือน เดือนละ $2.99 ซึ่งหากต้องการทดลองใช้งาน Ambi Labs เองก็ใจดีให้ใช้ฟรี 2 เดือน แถมมากับ Ambi Climate Mini ตัวใหม่ที่ซื้อกันเลย

  • Temperature Mode

ในโหมดนี้ หน้าที่ของ Ambi Climate นั้นคือการทำอุณหภูมิในห้องให้ได้ตามค่าที่ผู้ใช้งานกำหนด และพยายามคงค่านั้นเอาไว้ในห้องตลอดระยะเวลาที่ยังคงเปิดเครื่องปรับอากาศอยู่ โดยการใช้เซ็นเซอร์อุณหภูมิที่มีมากับเจ้า Ambi Climate Mini มาช่วยในการตรึงอุณหภูมิห้องให้ได้ตามค่าที่ต้องการ ซึ่งในโหมดนี้หน้าที่หลักๆ ของมันนั้นก็คือการเป็น Thermostats หรือตัวควบคุมอุณหภูมิประจำห้องของเรานั่นเอง ไม่ได้มีความซับซ้อนอะไร และเป็นโหมดที่ใช้งานได้ฟรี แม้จะไม่ได้สมัครสมาชิกแบบเสียเงินรายเดือนก็ตาม

อินเตอร์เฟซการใช้งานเองนั้นก็ไม่ได้มีอะไรซับซ้อน เพียงแค่เลือกอุณหภูมิห้องที่เราต้องการ เพียงเท่านี้ Ambi Climate ก็จะทำหน้าที่ของมันในการคงอุณหภูมิเอาไว้แล้ว

  • Away Mode

ในโหมดนี้อาจจะไม่เหมาะกับบ้านเราสักเท่าไหร่นัก เพราะคงไม่มีใครอยากเปิดเครื่องปรับอากาศทิ้งไว้ในเวลาที่ไม่อยู่บ้านเป็นแน่ ไม่งั้นค่าไฟคงกระฉูดกันไปเลย ซึ่งหน้าที่ของมันนั้นคือการกำหนดอุณหภูมิของห้องหรือบ้านของเราให้เป็นไปตามที่เราต้องการในเวลาที่เราไม่อยู่บ้าน เช่นอาจตั้งอุณหภูมิเอาไว้ที่ 28 องศาเซลเซียส เพื่อให้บ้านของเรานั้นคงอุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ในบ้านของเราให้อยู่ในเกณฑ์ที่เราต้องการในเวลาที่เราไม่อยู่บ้าน

ประโยชน์ของโหมดนี้น่าจะเป็นสำหรับคนที่มีเครื่องใช้เฟอร์นิเจอร์สำคัญๆ ราคาแพงๆ ที่อาจจะไม่ถูกกับความร้อนและความชื้นที่ไม่เหมาะสม ซึ่งอาจเป็นปัญหาได้หากปล่อยให้อุณหภูมิในบ้านขึ้นไปสูงตามอุณหภูมิของประเทศไทย ดังนั้นการควบคุมความร้อน – เย็นได้ในยามที่เราไม่อยู่บ้านด้วย Ambi Climate Mini นั้นอาจเป็นทางเลือกที่เหมาะสมสำหรับใครก็ตามที่กำลังมองหาทางออกเรื่องนี้อยู่

ในโหมดนี้จะมีความคล้ายกับโหมด Temperature แต่จะต่างกันตรงที่ Away Mode นั้นจะถูกเรียกขึ้นมาใช้งานโดยอัตโนมัติเมื่อเราออกจากบ้าน ซึ่ง Ambi Climate จะจับตำแหน่งของเราจากมือถือของเรานั่นเอง ทำให้เราไม่จำเป็นต้องเปิดแอพมาตั้งค่าเองทุกครั้งที่ออกจากบ้าน

  • Manual Mode

ในโหมดนี้ เจ้า Ambi Climate จะทำหน้าที่แทนรีโมตควบคุมเครื่องปรับอากาศที่ใช้อยู่ทั่วไป โดยไม่ได้มีความสามารถอะไรที่อัจฉริยะนัก นอกจากการสั่งงานทางไกลและภายนอกบ้านได้เท่านั้นเอง ซึ่งหน้าที่ของมันนั้นก็คือการปรับอุณหภูมิในขณะนั้นให้ลดหรือเพิ่มไปยังอุณหภูมิที่เราต้องการ แต่ไม่ได้มีการพยายามคงอุณหภูมิห้องเอาไว้ให้อยู่ในค่านั้นเหมือนอย่างโหมด Temperature ซึ่งรวมๆ แล้วก็คือการเอา Ambi Climate มาเป็น IR Blaster ให้กับรีโมตแอร์เรานั่นเอง

  • Off Mode

โหมดนี้ก็ไม่มีอะไร ทำหน้าที่ในการสั่งปิดเครื่องปรับอากาศของเราตามชื่อของมันนั่นเอง

ฟังก์ชั่นอื่นๆ ที่น่าสนใจ

นอกจากโหมดต่างๆ เพื่อการใช้งานที่เหมาะสมกับเราแล้ว Ambi Climate Mini เองยังมีการเก็บสถิติการใช้งานเครื่องปรับอากาศของเราโดยละเอียดเอาไว้ให้ได้ศึกษาพฤติกรรมการใช้และอุณหภูมิที่เรารู้สึกสบายกันอีกด้วย โดยเจ้าสถิตินี้แสดงออกมาให้เห็นทั้งในรูปแบบกราฟเข้าใจง่าย และประวัติการใช้งานจริงเป็นรายการ รวมถึงยังสามารถเปรียบเทียบสถิติการใช้งานของเราเพื่อเอาไปเป็นประโยชน์ในทำความเข้าใจกับพฤติกรรมการใช้เครื่องปรับอากาศของเราด้วย

นอกจากนี้ยังมีโหมด AC Settings ซึ่งจะทำให้เราสามารถปรับค่าต่างๆ ของเครื่องปรับอากาศเราได้แบบละเอียดตามที่รีโมตเครื่องของเราทำได้เลย ทั้งการปรับความเร็วของพัดลม ไปจนถึงการปรับระดับหน้าบานที่ทำหน้าที่กำหนดทิศทางลมด้วย และในเมนูนี้เอง เรายังสามารถกำหนดค่าโหมดของเครื่องปรับอากาศเราที่จะได้ AI Assistant ใช้ในการอ้างอิงเมื่อเรียกใช้งานโหมด Comfort ได้อีกด้วย

ท้ายที่สุดเลยคือการกำหนด Automation ต่างๆ เช่นการเปิด/ปิดแอร์ ไปที่อุณหภูมิหรือโหมดที่เรากำหนดในช่วงเวลาที่เราต้องการโดยอัตโนมัติ ซึ่งสามารถเข้าไปตั้งค่าได้ที่เมนู Device ซึ่งในเมนูเดียวกันนี้ เรายังสามารถตั้งค่าตัวแอพพลิเคชั่นเอง รวมถึงเพิ่มผู้ใช้งานใหม่ๆ ได้อีกด้วย

คุ้มค่ากับเงินไหม ถ้าจะมี Ambi Climate Mini ไว้ในบ้าน

เอาจริงๆ แล้ว โดยส่วนตัวแล้วแทบไม่รู้สึกว่าฟังก์ชั่น Comfort AI Assistant นั้นเป็นเสน่ห์สำคัญที่สุดของ Ambi Climate เลยก็ว่าได้ พอเจ้า Ambi Climate Mini มันไม่ได้ให้ฟังก์ชั่นนี้มาแบบฟรีๆ แล้วก็รู้สึกว่า Ambi Climate นั้นดูมีประโยชน์และน่าสนใจน้อยลงอย่างชัดเจนในราคาที่ถูกลงเพียงประมาณ 1,500 บาท แต่หากใครที่เพียงแค่อยากลิ้มลองความรู้สึกของการมี Comfort AI Assistant แต่ก็ไม่ได้อยากจริงจังมากมายหลังจากที่ได้รู้แล้วว่ามันมีไว้เพื่ออะไร Ambi Climate Mini ก็ถือเป็นน้องเล็กของค่ายที่มาพร้อมฟังก์ชั่นใหญ่ๆ ไม่น้อยหน้าใครเลย

ทั้งนี้ฟังก์ชั่นอย่าง Thermostats หรือ Tempurature Mode นั้นก็ยังคงถือเป็นฟังก์ชั่นที่มีประโยชน์มากๆ และมีมาให้แบบฟรีๆ ไม่ต้องเสียรายเดือนบน Ambi Climate Mini ซึ่งสำหรับการใช้งานในชีวิตประจำวันนั้น การได้ฟังก์ชั่นนี้มาในราคาประมาณ 3,500 บาทนั้นก็ถือว่าคุ้มค่าน่าสนใจเลยทีเดียว และโดยส่วนตัวแล้วรู้สึกว่านี่คือฟังก์ชั่นที่ใช้งานจริงบ่อยที่สุดตลอดระยะเวลาประมาณ 2 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่สมัยใช้ Ambi Climate 2 โน่นเลย

นอกจากนี้สำหรับใครที่กำลังสนใจ Smart Home หรือการเปลี่ยนบ้านให้กลายเป็นบ้านอัจฉริยะนั้น เจ้า Ambi Climate ยังสามารถใช้งานได้กับ Google Assistant (Google Home), Amazon Alexa, IFTTT และ Siri โดยใช้งานผ่าน Shortcuts หรือคำสั่งลัดบน iOS ด้วย ซึ่งก็ถือว่าครอบคลุมการใช้งานได้ทุกระบบจริงๆ และที่สำคัญไปกว่านั้นคือ Smart Home Platform เหล่านี้จะเอื้อให้ Ambi Climate ได้ฉายแววความมีประโยชน์ในการใช้งานในโหมด Temperature ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เพราะสามารถเอาไปกำหนดซีนในการทำ Automation ได้หลากหลายมากมาย ยกตัวอย่างเช่น ให้บ้านเปิดแอร์ไว้ที่อุณหภูมิ 25 องศาเมื่อเราขับรถเข้ามาถึงบริเวณบ้าน เป็นต้น ซึ่งในกรณีของบ้านผมนั้นหลักๆ ใช้ Homekit เป็น Smart Home Framwork ทั้งหลัง และ Siri Shortcuts เองก็ตอบโจทย์ตรงนี้ไม่ได้ เลยต้องอาศัยการใช้ปลั๊กอินของ Homebridge เข้ามาช่วยอีกที ซึ่งสำหรับยูเซอร์ที่แอดวานซ์หน่อยและใช้ Homebridge Server ในบ้านอยู่แล้วก็ตามมาดูปลั๊กอินที่ว่าและการใช้งานของมันได้ต่อเลย

ควบคุม Ambi Climate Mini แบบสมาร์ทๆ ผ่านทาง Homekit (โดยใช้ปลั๊กอินของ Homebridge)

ถึงแม้ว่า Ambi Climate นั้นโดยพื้นฐานแล้วยังไม่ได้รองรับ Homekit ของ Apple แต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่ใช้งาน Smart Home ที่โฟกัสที่ระบบ Homekit หลายๆ คนเองก็คงมี Homebridge หรือ Hoobs ใช้งานกันอยู่แล้ว ซึ่งเจ้า Ambi Climate นั้นก็มีปลั๊กอินที่ได้รับการพัฒนาโดยนักพัฒนาอิสระให้เลือกใช้บน Homebridge/Hoobs กันมากมาย แต่วันนี้เราจะมาแนะนำและทดสอบปลั๊กอินของ Ambi Climate ที่อัพเดตล่าสุดและใช้งานได้ดีที่สุดในความเห็นของผมเอง ซึ่งปลั๊กอินที่ว่านั้นก็คือ Homebridge Ambiclimate Platform นั่นเอง

เมื่อเปิดดูภาพยนตร์หรือเล่นเกมในห้องนี้ Siri ก็จะทำการเซ็ตระบบไฟสำหรับการดูหนังในห้องโฮม และเปิดแอร์ในโหมด Thermostats ที่ควบคุมโดย Ambi Climate Mini โดยคุมอุณหภูมิห้องไว้ที่ 23.5 องศา ในขณะที่ถ้าวันไหนอยากนอนให้ห้องนี้ (แบบขี้เกียจขึ้นห้องนอน) ก็ให้ปิดไฟ ปิดทีวี และปรับอุณหภูมิแอร์ไปที่ 24 องศา

Homebridge Ambiclimate Platform

โดยปลั๊กอินตัวที่ว่านี้จะทำให้ความสามารถหลักๆ ของ Ambi Climate ทั้งหมดนั้นไปใช้งานบน Homekit ได้ โดยผ่าน Homebridge ภายใต้เงื่อนไขของการเป็นอุปกรณ์ Platform ซึ่งถือเป็นปลั๊กอินเดียวที่ใช้ Platform แทน Acessories ทำให้คนที่ใช้งาน Ambi Climate หลายเครื่องในบ้านสามารถลงปลั๊กอินเดียวแล้วลิงก์อุปกรณ์ทุกตัวเข้ากับ Homekit ผ่าน Homebridge ได้เลย

ปลั๊กอินตัวนี้จะสามารถ expose เจ้า Ambi Climate ของเราเข้าไปยัง Homekit ได้ พร้อมฟังก์ชั่นการเป็นเครื่องปรับอากาศบน Homekit และการเป็น Thermostats บน Homekit ด้วย นอกจากนี้ยังมีการอิมพรีเมนต์เอาปุ่มบอกความรู้สึกในโหมด Comfort ที่กล่าวไปในข้างต้นมาเป็นสวิตช์เพื่อให้เราสามารถบอก Comfort Assistant AI ได้ผ่านทาง Homekit อีกด้วย ซึ่งจากการทดสอบก็ต้องบอกว่าใช้งานได้ดีและครบถ้วนในทุกฟังก์ชั่นเลย

ข้อดีของการ Expose ตัว Ambi Climate เข้ากับ Homekit นั้นคือการที่เราสามารถทำการกำหนดการทำงานของ Ambi Climate เข้าไปใน Home Automation ของเราได้ ยกตัวอย่างเช่นในกรณีของผมเองที่ใช้อยู่ในห้องโฮมเธียเตอร์นั้นก็คือเมื่อเปิดดูภาพยนตร์หรือเล่นเกมในห้องนี้ Siri ก็จะทำการเซ็ตระบบไฟสำหรับการดูหนังในห้องโฮม และเปิดแอร์ในโหมด Thermostats ที่ควบคุมโดย Ambi Climate Mini โดยคุมอุณหภูมิห้องไว้ที่ 23.5 องศา ในขณะที่ถ้าวันไหนอยากนอนให้ห้องนี้ (แบบขี้เกียจขึ้นห้องนอน) ก็ให้ปิดไฟ ปิดทีวี และปรับอุณหภูมิแอร์ไปที่ 24 องศาซึ่งเป็นอุณหภูมิจุดที่ผมรู้สึกสบายในห้องนี้นั่นเอง

สรุปท้ายรีวิว

ก่อนหน้านี้ ตอนสมัย Ambi Climate 2 นั้น ผมเองเคยสรุปไว้สั้นๆ ว่ามันคือของเล่นของคนที่พอจะมีเงินเหลือ มาในคราวนี้กับ Ambi Climate Mini ที่ราคาถูกลง 1000 บาทโดยประมาณ โดยสนนราคาสุทธิอยู่ที่ประมาณ 3,500 บาทนั้น คงต้องขอเปลี่ยนคำพูดนิดว่ามันคืออุปกรณ์แปลงเครื่องปรับอากาศเก่าๆ ในบ้านเราให้กลายเป็นแอร์อัจฉริยะพร้อมฟังก์ชั่น Thermostats ในราคาที่เหมาะสมและคุ้มค่ากับฟังก์ชั่นมากๆ จะเสียดายก็แต่ Comfort AI Assistant ที่ไม่ได้ให้มาฟรีตลอดชีพแล้วบนเจ้า Ambi Climate Mini ซึ่งหากใครสนใจใช้ฟังก์ชั่นนี้ มองในระยะยาวแล้วคิดว่าไปลงทุนเพิ่มอีก 1,000 บาทสำหรับ Ambi Climate 2 เพื่อ Comfort AI Assistant ฟรีๆ ตลอดชีพไปเลยน่าจะเป็นตัวเลขที่เหมาะสมกว่า

แต่ถ้าหากมองกันในภาพรวมแล้ว Ambi Climate Mini นั้นก็สามารถตอบสนองการทำงานได้อย่างยอดเยี่ยมในฟังก์ชั่นที่ให้มา (โดยเฉพาะ Temperature Mode) และมีความเสถียรในการใช้งานสูงมาก จะเสียดายหน่อยเดียวก็ตรงที่มันเป็นอุปกรณ์แบบ Cloud Base ที่ข้อมูลผู้ใช้งานต่างๆ นั้นยังต้องไปประมวลผลบนเซิร์ฟเวอร์ของผู้ให้บริการอยู่ ซึ่งจริงๆ แล้ว หากผู้ใช้งาน Ambi Climate Mini ไม่ต้องการใช้ Comfort AI Assistant ก็น่าจะเปิดโอกาสให้เลือกใช้งานแบบโลคอล หรือไม่จำเป็นต้องผ่าน Cloud ได้ เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้ที่ต้องการรักษาความปลอดภัยในข้อมูลส่วนตัวของตนเอง

ช่องทางการสั่งซื้อ

อ่านมาถึงตรงนี้ ใครตัดสินใจได้ว่าอยากได้เจ้า Ambi Climate Mini ตัวนี้มาครอบครองก็ไปจัดกันมาได้เลยตามนี้

สั่งซื้อ Ambi Climate Mini ผ่านทาง Lazada (จำหน่ายโดย Koan Co., Ltd.) – ราคา 3490 บาท

สั่งซื้อ Ambi Climate Mini ผ่าน Ambiclimate.com (ส่งของจากต่างประเทศ) – ใช้โค๊ดส่วนลด APPDISQUS10 เพื่อลด $10 (ใช้ได้ถึง 30 มิถุนายน 2564)

แชร์
Avatar photo

อเล็กซ์ หรือ เอ ว่างเมื่อไหร่เป็นต้องหยิบเอามือถือหรือ iPad ข้างกายตนมาจับๆ จิ้มๆ ตามประสาคนมีงานแต่ชอบเล่นเกม คุณสามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและให้กำลังใจเอได้เสมอผ่านทางการคอมเมนต์ในบทความนี้

Advertisement
Exit mobile version