Advertisement

ณ ตอนนี้คงปฎิเสธไม่ได้เลยว่าบ้านอัจฉริยะหรือ Smart Home เป็นสิ่งที่ใครหลายๆ คนกำลังให้ความสนใจเป็นอย่างยิ่ง แต่ในระบบ Smart Home เองนั้นก็น่าปวดหัวใช่ย่อยเพราะมีหลายแบรนด์และแพลตฟอร์มเหลือเกินที่น่าสนใจในการนำมาใช้งานเป็นระบบหลักของบ้านอัจฉริยะ โดยแพลตฟอร์มที่รู้จักกันดีนั้นคงหนีไม่พ้น Google Home, Apple Homekit และ Amazon Alexa ในขณะเดียวกันผู้ผลิตอุปกรณ์เสริมจำนวนมากเองก็มีการทำแพลตฟอร์มของตัวเองขึ้นมา อาทิ Xiaomi Mi Home, Tuya, Broadlink และอีกมากมาย และหนึ่งในนั้นคือ SwitchBot จาก Wonderlabs ซึ่งเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์สมาร์ทโฮมอีกหนึ่งเจ้าในตลาดที่มีผลิตภัณฑ์ค่อนข้างที่จะครอบคลุมและน่าสนใจมากทีเดียว

ในบทความนี้ APPDISQUS จะนำเอาผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจของ SwitchBot มารีวิวให้เพื่อนๆ ได้ตัดสินใจเลือกหามาใช้งานกัน โดยจะประกอบด้วย SwitchBot Bot หรือเจ้านิ้วมืออัจฉริยะที่จะเปลี่ยนอุปกรณ์โลว์เทคภายในบ้านให้กลายเป็นอุปกรณ์อัจฉริยะขึ้นมาได้ด้วยหลักการง่ายๆ รวมไปจนถึง SwitchBot Curtain ซึ่งเป็นเจ้าหุ่นยนต์ตัวน้อยที่จะทำให้ม่านดึงมือของเรากลายเป็นม่านอัจฉริยะโดยไม่ต้องติดตั้งรางม่านใหม่แต่อย่างใด และเจ้าอุปกรณ์ที่น่าสนใจอย่าง SwitchBot Hub Mini และ SwitchBot Remote ที่สามารถเอามาใช้งานร่วมกับอุปกรณ์ต่างๆ ภายใต้แบรนด์ SwitchBot ได้อีกด้วย ตบท้ายด้วย SwitchBot Smart Humidifier หรือเครื่องให้ความชื้นที่ใช้งานได้ดีและมีประโยชน์จริง โดยการให้คะแนนในครั้งนี้จะแยกออกเป็นคะแนนของแต่ละผลิตภัณฑ์ และท้ายบทความจะเป็นคะแนนรวมของอุปกรณ์และระบบ Switchbot Ecosystem ทั้งหมดที่เรารีวิวไป เพื่อให้เพื่อนๆ สามารถตัดสินใจซื้อหามาใช้งานกันต่อไป

Advertisement
  • Switchbot Bot – อุปกรณ์จำลองนิ้วมือ เปลี่ยนทุกอย่างให้เป็นอปุกรณ์อัจฉริยะได้ด้วยคอนเซ็ปต์ง่ายๆ

อุปกรณ์ต่างๆ ที่เราใช้กันภายในบ้านนั้นต่างก็มีสวิตช์สำหรับเปิด/ปิดอุปกรณ์กันแทบทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ที่อัจฉริยะในตัวอยู่แล้ว หรือพวกเครื่องใช้ครัวเรือนพื้นฐานต่างๆ เช่นไมโครเวฟ หรือเครื่องชงกาแฟ ตลอดจนสวิตช์ไฟป๊อกแป๊กทั่วไปที่เราใช้งานกันตามบ้าน ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้เดิมทีมักจะไม่ได้เป็นอุปกรณ์ที่ออกแบบมาให้ใช้งานในระบบ IoT เป็นทุนเดิม โดยหลักๆ มักจะออกแบบมาเพื่อให้ควบคุมผ่านทางการใช้นิ้วมือของคนเรานี่แหละ และ SwitchBot เองก็เหมือนจะเข้าใจจุดนี้ดี เลยออกผลิตภัณฑ์ IoT ที่น่าสนใจและเป็นที่ชื่นชอบของผมเองมากเป็นส่วนตัวมาภายใต้ชื่อ SwitchBot Bot อุปกรณ์นิ้วมืออัจฉริยะขนาดน่ารักน่าเอ็นดูที่จะทำหน้าที่เป็นนิ้วมือในการกดควบคุมปุ่มและอุปกรณ์ที่ไม่อัจฉริยะในบ้านของเราให้กลายเป็นอุปกรณ์สมาร์ทได้อย่างง่ายดาย

ด้วยความที่มันสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างหลากหลายและง่ายดาย รวมไปจนถึงการออกแบบที่เรียบง่ายและสวยงามมากๆ นี้เอง SwitchBot Bot จึงเป็นหนึ่งในอุปกรณ์จาก SwitchBot ที่เรารู้สึกชอบเป็นอย่างยิ่ง

เปิดกล่องมาเราจะพบกับเจ้า SwitchBot Bot และคู่มือการใช้งาน ตลอดจนเอ็นที่ใช้ในการคล้องที่นิ้วของเจ้า SwitchBot Bot เพื่อช่วยในการดึงปุ่มสวิตช์กลับ และเทปกาวที่เหนียวมากๆ ของ 3M (คือเหนียวแบบสุดๆ) และมีถ่านวงกลม CR2 ใส่มาให้พร้อมสำหรับการใช้งาน โดยด้านหน้าของเจ้า SwitchBot Bot นั้นจะมีโลโก้ SwitchBot อยู่ และออกแบบมาได้อย่างเรียบง่าย ทำให้เมื่อนำไปติดตั้งที่สวิตช์ไฟหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกที่ต้องกดปุ่มภายในบ้านก็จะดูกลมกลืน ไม่ได้โดดออกมามากเกินไปนัก ซึ่งเจ้า SwitchBot Bot เองนี้มีด้วยกัน 2 สีให้เลือกซื้อ คือสีขาวและสีดำ

Switchbot Bot Colors

ตัวนิ้วกดนั้น จากสเป็กข้างกล่องระบุว่ามีแรงในการกดอยู่ที่ 1.0 kgf หรือ 1 กิโลกรัมแรง ซึ่งถือว่ามากพอสำหรับการใช้งานกับสวิตช์ทั่วๆ ไปได้เป็นอย่างดี โดยเจ้า SwitchBot Bot นี้จะเชื่อมต่อกับมือถือของเราที่ทำการลงแอพพลิเคชั่น SwitchBot เอาไว้ผ่านทางสัญญาณ Bluetooth BLE ที่มีระยะสัญญาณประมาณ 80 เมตร โดยเป็น BLE แบบ Mesh กล่าวคือหากมีเจ้า SwitchBot Bot หรืออุปกรณ์ Bluetooth BLE จาก SwitchBot มากกว่า 1 ตัวในบ้าน แต่ละตัวจะทำหน้าที่เป็นเหมือนตัวขยายความกว้างของสัญญาณให้กับ SwitchBot ตัวอื่นๆ ไปในตัว ทำให้สามารถใช้งานในอาณาเขตที่กว้างขึ้นได้นั่นเอง แต่หากต้องการควบคุมอุปกรณ์จากภายนอกบ้านนั้นเรายังจำเป็นต้องใช้งานร่วมกับ SwitchBot Hub หรือ SwitchBot Hub Mini ซึ่งจะมีพูดถึงต่อไปในบทความ

การติดตั้งนั้นก็ไม่ยากเลยครับ เพียงแค่นำเอาเจ้า SwitchBot Bot ไปติดไว้ในจุดที่ต้องการใช้งาน โดยให้นิ้วมือของ SwitchBot Bot นั้นสามารถกดแตะลงไปที่ปุ่มควบคุมได้พอดี และหากปุ่มที่ใช้งานเป็นแบบสวิตช์ป๊อกแป๊ก (เช่นสวิตช์ไฟตามบ้าน) เราต้องร้อยเอ็นที่แถมมาในกล่องลงไปที่จุดร้อยเอ็นตรงนิ้วของ SwitchBot Bot แล้วแปะเทป 3M ที่เอ็นไปที่จุดที่ต้องการให้ SwitchBot Bot ดึงจุดนั้นออกมาเพื่อเป็นการคลายสวิชต์ เพียงเท่านี้ก็เป็นอันเรียบร้อยแล้วครับ

หลังจากที่เราเพิ่มเจ้า SwitchBot Bot เข้าไปในแอพพลิเคชั่นของ SwitchBot แล้ว เราจะสามารถทำการตั้งค่าเจ้านิ้วอัจฉริยะนี้ได้ใน 2 โหมดหลักด้วยกัน คือตั้งเป็นแบบ Press Mode หรือโหมดจำลองการกดปุ่มแล้วปล่อยทันที เพื่อใช้งานร่วมกับสวิตช์แบบกดปุ่ม และอีกแบบคือแบบ Switch Mode หรือโหมดที่จำลองการทำงานแบบการกดสวิตช์ป๊อกแป๊กทั่วไป โดยในโหมดนี้เราจะสามารถตั้งค่าได้ว่าต้องการให้ SwitchBot Bot ออกแรงกดค้างไว้เป็นเวลาเท่าไหร่ สำหรับการใช้งานกับสวิตช์บางรูปแบบที่ต้องมีแรงกดค้างเอาไว้ตามจำนวนเวลาที่ระบุถึงจะสามารถสั่งทำงานได้

SwitchBot Bot on Switch

จากการใช้งานมาประมาณ 5 เดือนพบว่าเจ้า SwitchBot Bot นั้นตอบสนองต่อการใช้งานได้ดี คือเมื่อกดสั่งงานผ่านแอพพลิเคชั่นแล้ว SwitchBot Bot จะทำงานแทบทุกครั้ง แต่ในแต่ละครั้งนั้นจะดีเลย์จากวินาทีที่กดไปประมาณ 5 วินาที ซึ่งหากเอาไปติดตั้งไว้ตรงจุดที่เราไม่ได้ต้องการการสั่งงานแบบทันทีก็ไม่ได้ถือเป็นปัญหาอะไร (เช่นที่บ้านอเล็กซ์ติดตั้งไว้สำหรับกดปุ่มเปิด/ปิดไฟในจุดที่ให้ความสวยงามมากกว่าความสว่าง ดังนั้นต่อให้ดีเลย์ไป 5 วินาทีก็ไม่ได้ถือว่าเสียหายอะไร) แต่คงจะขัดใจน่าดูหากเอาไปใช้ควบคุมปุ่มการทำงานของอุปกรณ์ที่ต้องการการตอบสนองในทันที

ถึงแม้ว่าเจ้า SwitchBot Bot จะมีข้อเสียที่เห็นได้ชัดในเรื่องของสัญญาณที่ค่อนข้างดีเลย์ แต่ด้วยความที่มันสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างหลากหลายและง่ายดาย รวมไปจนถึงการออกแบบที่เรียบง่ายและสวยงามมากๆ นี้ SwitchBot Bot จึงเป็นหนึ่งในอุปกรณ์จาก SwitchBot ที่เรารู้สึกชอบเป็นอย่างยิ่ง เหมาะสำหรับใครก็ตามที่กำลังหาทางเปลี่ยนอุปกรณ์ธรรมดาๆ ที่มีปุ่มกดให้กลายเป็นอุปกรณ์อัจฉริยะได้โดยไม่จำเป็นต้องทำอะไรมากมายเลย เพียงแค่นำเจ้าตัวนี้ไปติดไว้ตรงปุ่มที่ต้องการ เพียงเท่านั้นชีวิตเราก็สมาร์ทขึ้นได้แล้ว

ข้อดี ข้อเสีย
1. นำไปประยุกต์ใช้งานได้หลากหลายมาก 1. เชื่อมต่อผ่านสัญญา Bluetooth BLE
2. ขนาดเล็ก ออกแบบเรียบ สวยงาม 2. มีเวลาหน่วงระหว่างการสั่งงานประมาณ 5 วินาที
3. แบตเตอร์รี่ใช้งานได้อย่างยาวนาน  

คะแนนความรัก : 8/10

  • Switchbot Curtain – หุ่นยนต์ดึงม่าน ทำม่านให้อัจฉริยะโดยไม่ต้องเปลี่ยนยกราง และไม่จำเป็นต้องเดินไฟไปเลี้ยงมอเตอร์

SwitchBot Curtain Review

โดยภาพรวมแล้วต้องบอกว่าเหมาะกับคนที่กำลังต้องการเปลี่ยนม่านเดิมๆ ที่บ้านให้กลายเป็นม่านอัจฉริยะ และไม่ต้องการที่จะติดตั้งรางม่านใหม่ หรือเดินไฟไปเสียบมอเตอร์ม่านให้วุ่นวาย และรับได้กับราคาของมัน

ตัวที่สองจากแบรนด์ SwitchBot นั้นต้องยกให้เจ้า SwitchBot Curtain ที่ใครหลายๆ คนกำลังให้ความสนใจอยู่ เพราะเจ้า SwitchBot Curtain นั้นคือหุ่นยนต์ตัวเล็กๆ ที่จะมาเปลี่ยนม่านปกติภายในบ้านของเราให้กลายเป็นม่านอัจฉริยะได้โดยไม่จำเป็นต้องดัดแปลง ติดตั้ง หรือแก้ไขรางและตัวของผ้าม่านแต่อย่างใด ทั้งนี้มีเงื่อนไขว่ารางที่รองรับ ณ ตอนนี้จะมีอยู่ด้วยกันสามรูปแบบ คือรางม่านแบบ I รางม่านแบบ U และรางม่านแบบ Rod นั่นเอง ซึ่งนั่นทำให้รางม่านแบบ C ที่เป็นที่นิยมใช้กันในบ้านเรานั้นจะยังไม่สามารถใช้งานกับเจ้า SwitchBot Curtain ได้ และตอนทำการสั่งซื้อเพื่อนๆ ต้องเช็ครางม่านที่บ้านให้ดีๆ ก่อนและระบุซื้อให้ถูกชนิดราง ซึ่งถือว่าวุ่นวายอยู่เล็กน้อยเหมือนกัน

switchbot-curtain-rail-types
ชนิดของรางม่านที่รองรับ Switchbot Curtain

นอกจากปัจจัยในเรื่องของชนิดของรางม่านแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่ต้องคำนึงถึงนั้นคือรูปแบบการเปิด/ปิดม่านของเรา ซึ่งเจ้า SwitchBot Curtain นั้นรองรับรูปแบบการเปิด/ปิดม่านทั้งแบบจากซ้ายไปขวา จากขวาไปซ้าย และม่านที่เปิดออกจากตรงกลาง ซึ่งหากเป็นอย่างหลังนั้นเราจะต้องใช้ SwitchBot Curtain จำนวน 2 ตัวในการสั่งการ โดยตัวหนึ่งจะเดินลากม่านไปทางด้านซ้าย ในขณะที่อีกตัวนั้นจะลากม่านไปทางฝั่งขวา เพื่อให้ม่านของเราเปิดออกจากตรงกลางนั่นเอง ทั้งนี้รูปแบบการเปิดม่านทั้งหมดที่กล่าวมานั้นสามารถตั้งค่าได้จากในแอพพลิเคชั่นของ SwitchBot เลยโดยตรง และในแอพพลิเคชั่นนี้เองก็ยังมีขั้นตอนการติดตั้งสอนเรา ทั้งแบบภาพและแบบวิดีโอแสดงการติดตั้งอีกด้วย เรียกว่าซื้อมาแล้วไม่ต้องกลัวติดตั้งไม่เป็นกันเลย

SwitchBot Curtain ตัวนี้มีขนาดเพียง 42x51x110 มม. และหนักเพียง 135 กรัมเท่านั้น ดังนั้นจึงไม่ต้องเป็นห่วงว่ามันจะไปเพิ่มภาระให้กับรางม่านของเราแต่อย่างใด นอกจากนี้ยังมาพร้อมกับแบตเตอร์รี่ภายในความจุ 3350mAh ที่ทางค่ายเคลมว่าสามารถใช้งานได้ต่อเนื่องนานถึง 8 เดือนต่อการชาร์จหนึ่งครั้งด้วย และหากไม่อยากกังวลเรื่องการชาร์จแบตอีกเลย เราสามารถสั่งแผงชาร์จพลังงานแสงอาทิตย์ Solar Panel มาใช้คู่กับ SwitchBot Curtain ได้ในราคาเพียง $25 เหรียญเท่านั้น โดยเจ้า SwitchBot Curtain สามารถดึงผ้าม่านที่มีน้ำหนักสูงสุดไม่เกิน 8 กิโลกรัม และระยะความยาวของรางต่อหนึ่งตัวไม่เกิน 3 เมตรได้อย่างไม่มีปัญหา ซึ่งหากม่านที่ใช้มีขนาดมากหน่อย เพื่อนๆ อาจจะต้องปรับโหมดการใช้งานเป็นโหมด Performance เพื่อให้เจ้าหุ่นยนต์สามารถลากม่านไปได้โดยไม่ติดขัดอะไร แต่อาจต้องแลกมากับเสียงมอเตอร์ในโหมดดังกล่าวที่จะดังกว่าโหมด Silent อยู่มากทีเดียว

หุ่นยนต์เปิดม่านตัวนี้ใช้สัญญาณเชื่อมต่อ Bluetooth 5.0 ซึ่งให้ระยะสัญญาณที่ไกลกว่า SwitchBot Bot (ที่เป็น Bluetooth 4.2) แต่ก็เช่นเคยว่าหากเพื่อนๆ ต้องการควบคุมมันจากภายนอกบ้านนั้น เรายังจำเป็นต้องใช้งานคู่กับ SwitchBot Hub หรือ SwitchBot Hub Mini อยู่ดีเพื่อเป็นตัวกลางในการสั่งงาน SwitchBot Curtain เมื่อเราอยู่นอกบ้าน เฉกเช่นเดียวกับเจ้า SwitchBot Bot

สำหรับใครที่อาจกำลังกังวลว่าหากมือถือเกิดไม่อยู่กับตัว หรือสมาชิกที่บ้านบางท่านอาจไม่ถนัดการควบคุมอุปกรณ์ด้วยมือถือ หรืออาจจะเกิดเหตุไฟฟ้าที่บ้านดับ เราจะสามารถเปิด/ปิดม่านด้วยตัวเราเองได้ไหมเมื่อใช้งาน SwitchBot Curtain ก็ขอตอบไว้ตรงนี้ก่อนเลยว่ายังคงควบคุมการเปิด/ปิดม่านได้โดยไม่ต้องใช้มือถือไฟฟ้าแต่อย่างใดครับ โดยวิธีการนั้นก็เพียงแค่กระตุกตรงผ้าม่านเบาๆ เพียงเท่านี้หุ่นยนต์ SwitchBot Curtain ก็จะออกเดินเพื่อทำการเปิด/ปิดม่านของเราให้ในทันที หรือหากใครต้องการง่ายกว่านั้นอีก SwitchBot เองก็มีรีโมตตัวเล็กๆ จำหน่ายในราคาเพียง $19 หรือประมาณ 600 บาทโดยมาพร้อมปุ่มเปิด/ปิด เพื่อให้เรานำไปติดที่บริเวณที่ต้องการเพื่อใช้ควบคุมม่านด้วยปุ่มกดได้ด้วยนะ โดยเจ้าปุ่มตัวนี้ใช้ถ่าน CR2 เหมือนกันกับ SwitchBot Bot ดังนั้นก็ไม่ต้องห่วงว่าจะใช้งานไม่ได้เมื่อไฟดับ ซึ่งอเล็กซ์เองก็ติดตั้งเจ้ารีโมตตัวนี้เอาไว้ที่บ้านเพื่อเพิ่มความสะดวกในการใช้งานให้กับคุณแม่ที่ไม่ค่อยถนัดการสั่งงานด้วยมือถือหรือผู้ช่วยอัจฉริยะสักเท่าไหร่นัก

SwitchBot Remote

ข้อดีที่เห็นหลักๆ ของเจ้า SwitchBot Curtain นั้นคือการที่มันติดตั้งง่ายมากๆ ครับ โดยหากเราเลือกซื้อมาตรงกับประเภทรางและการเปิด/ปิดม่านของเราก็จะสามารถติดตั้งกับรางม่านเก่าของเราได้เลยโดยไม่ต้องดัดแปลงอะไร แต่หากเลือกซื้อชนิดรางม่านผิดก็ไม่ต้องตกใจครับ เพราะว่าทาง SwitchBot เองมีช่องทางให้ติดต่อเพื่อขอขารางแบบที่เราใช้งานจริงได้ใหม่ แม้ว่าจะทำการสั่งซื้อผิดมาแล้วก็ตาม

นอกจากที่มันจะติดตั้งง่ายแล้ว มันยังมีแบตเตอร์รี่ในตัว ไม่จำเป็นต้องเดินสายไฟมาเสียบเอาไว้ตลอดเวลาเหมือนกับมอเตอร์ม่านอัจฉริยะประเภทอื่นๆ ด้วย ทำให้เราไม่ต้องกังวลเรื่องจุดติดตั้งว่าจะต้องมีการเดินสายไฟรอเอาไว้แต่อย่างใด หรือหากต้องติดตั้งไว้ที่สูงเหมือนบ้านของอเล็กซ์ SwitchBot เองก็มี Solar Panel หรือแผงชาร์จไฟพลังงานแสงอาทิตย์จำหน่ายแยกในราคาเพียง $25 หรือประมาณ 800 บาทเท่านั้นให้เราเอาไว้ติดตรงหน้าต่างเพื่อชาร์จพลังงานให้หุ่นยนต์เปิดม่านของเราได้ตลอดเวลาด้วย

นอกจากนี้การที่เราสามารถตั้งค่าการเปิด/ปิดม่านได้โดยอ้างอิงจากเวลาในแต่ละวันนั้นถือว่าตอบโจทย์ของการมีม่านอัจฉริยะมากๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเราติดตั้งเจ้า SwitchBot Curtain ไว้กับรางม่านที่อาจมีผลกับความเป็นส่วนตัวของเรา เพราะหากเราตั้งค่าให้ม่านเปิดหรือปิดเองตามเวลาได้นั้น เราก็ไม่ต้องกังวลเรื่องการลืมเปิดหรือปิดม่านและจะมีใครมองเห็นมาจากภายนอกในเวลาที่เราไม่ต้องการอีกต่อไป ซึ่งนี่เป็นแค่หนึ่งในข้อดีที่เห็นได้ชัดของการมีม่านอัจฉริยะ

ในขณะเดียวกันเจ้า SwitchBot Curtain นั้นก็ยังมีข้อเสียสำคัญอยู่เหมือนกัน หนึ่งในนั้นคือขั้นตอนการคาลิเบรตม่านที่หากคุณใช้ม่านแบบเปิดตรงกลางแล้ว การคาลิเบรตนั้นค่อนข้างจะวุ่นวายพอสมควรเลยแม้ว่าจะมีขั้นตอนสอนอย่างชัดเจนและเข้าใจง่ายก็ตาม แต่หากติดตั้งกับรางม่านแบบเปิดฝั่งเดียวก็ดีไป เพราะขั้นตอนการคาลิเบรตนั้นไม่มีอะไรมาก เพียงแค่กำหนดระยะเปิดสุดและระยะปิดสุดของม่าน เพียงเท่านั้น SwitchBot Curtain ก็จะสามารถทำงานได้แล้ว

SwitchBot Curtain Battery
ภาพแสดง % การชาร์จไฟของ SwitchBot Curtain

แผง Solar Panel เอง จากการทดสอบใช้งานก็ดูจะมีข้อควรระวังอยู่เล็กน้อยเหมือนกันครับ โดยมันจะทำการชาร์จไฟได้ก็ต่อเมื่อค่าความเข้มข้นของพลังงานแสงอาทิตย์ในบริเวณนั้นต้องสูงพอสมควร ซึ่งหากบ้านใครกระจกไม่ค่อยโดนแดดก็อาจจะไม่ตอบโจทย์การใช้งาน Solar Panel สักเท่าไหร่ ยกตัวอย่างเช่นที่บ้านของอเล็กซ์ที่แผงฝั่งหนึ่งโดนแดดจัด ในขณะที่อีกฝั่งจะโดนแดดจัดเป็นบางเวลาเท่านั้น เพื่อนๆ จะเห็นว่าค่าพลังงานที่เหลือในแบตเตอร์รี่ของเจ้า SwitchBot Curtain ทั้งสองตัวนั้นไม่เท่ากันแต่อย่างใดตามรูป

นอกจากนั้น อีกหนึ่งปัญหาหลักคือเรื่องของราคาค่าตัวของมันนั่นเอง จริงอยู่ว่าหากเรานำมันไปเทียบกับม่านมอเตอร์ไฟฟ้าแล้ว ราคาของเจ้า SwitchBot Curtain ที่ขายอยู่ตัวละ $99 หรือประมาณ 3000 บาทนั้นถือได้ว่าถูกมากๆ แต่ในขณะเดียวกัน หากม่านของเราเป็นม่านเปิดตรงกลาง การลงทุนก็จะคูณสองไปโดยปริยาย กลายเป็น $198 ต่อม่านหนึ่งชุดเลยทีเดียว และหากว่ากันที่ราคา $198 แล้ว ในบ้านเรา ณ ตอนนี้มีตัวเลือกมากมายที่น่าสนใจในราคาที่ถูกกว่ากันเยอะ เช่นเจ้า Zemismart Curtain นั่นเอง

โดยภาพรวมแล้วต้องบอกว่าเหมาะกับคนที่กำลังต้องการเปลี่ยนม่านเดิมๆ ที่บ้านให้กลายเป็นม่านอัจฉริยะ และไม่ต้องการที่จะติดตั้งรางม่านใหม่ หรือเดินไฟไปเสียบมอเตอร์ม่านให้วุ่นวาย และรับได้กับราคาของมันละครับ ส่วนใครที่ไม่ไหวก็มองหาตัวเลือกอื่นในตลาดได้ หากพลาดตัวนี้ไปก็ไม่ได้ถือว่าน่าเสียดายอะไรครับ

ข้อดี ข้อเสีย
1. ติดตั้งง่าย ไม่ต้องเดินรางม่านใหม่  1. ราคาสูงถ้าเทียบในกลุ่มหุ่นยนต์ดึงม่าน
2. มีแบตเตอร์รี่ในตัว สามารถใช้งานได้นานถึง 8 เดือน 2. เชื่อมต่อด้วย Bluetooth
3. เสถียรมาก ใช้งานไม่งอแง เปิด/ปิดได้ตามสั่ง ไม่ดีเลย์ 3. ต้องใช้ฮับเพื่อการสั่งงานนอกบ้าน
4. มีแผงชาร์จไฟด้วยแสงอาทิตย์จำหน่ายแยก  

คะแนนความรัก : 7/10

  • SwitchBot Hub Mini – กล่องตัวน้อยตัวนิดที่เป็นหัวใจของระบบ และยังทำหน้าที่เป็น IR Blaster ได้อีกด้วย

SwitchBot Hub Mini Pic

จำเป็นมากๆ หากเราต้องการควบคุมอุปกรณ์ SwitchBot จากระยะไกล และยังมาพร้อมกับความสามารถในการเป็น IR Blaster ด้วย

อุปกรณ์ข้างต้นทั้ง 2 ตัวที่ได้รีวิวไปนั้น ไม่ว่าจะเป็น SwitchBot Bot หรือ SwitchBot Curtain ต่างก็เชื่อมต่อกับมือถือของเราผ่านทางสัญญาณ Bluetooth BLE ด้วยกันทั้งสิ้น ซึ่งทำให้กลายเป็นข้อจำกัดสำหรับการใช้งาน ที่เมื่อใดที่มือถือของเราเกิดอยู่นอกอาณาเขตสัญญาณ Bluetooth ก็จะไม่สามารถสั่งงานอุปกรณ์เหล่านี้ได้ในทันที ซึ่ง SwitchBot เองก็คิดเผื่อมาแล้ว จึงได้มีการออกผลิตภัณฑ์กลุ่มที่เป็นฮับในการเชื่อมต่อระหว่างมือถือของเรากับอุปกรณ์ภายในบ้านภายใต้แบรนด์ SwitchBot ขึ้นมา เพื่อให้เราสามารถสั่งงานอุปกรณ์เหล่านั้นได้แม้ไม่ได้อยู่ที่บ้าน และหนึ่งในนั้นก็คือตัวที่เรานำมารีวิวกันในวันนี้อย่างเจ้า SwitchBot Hub Mini

SwitchBot Hub Mini นั้น โดยส่วนตัวแล้วต้องขออนุญาตใช้คำว่าจำเป็นโคตรๆ สำหรับการเปลี่ยนระบบ SwitchBot ให้กลายเป็นอุปกรณ์ IoT อย่างแท้จริง โดยตัวของมันนั้นรองรับการเชื่อมต่อ WiFi 2.4Ghz และ Bluetooth BLE 4.2 ขึ้นไป ทำให้อุปกรณ์ต่างๆ ภายใต้แบรนด์ SwitchBot ที่ใช้โปรโตคอล Bluetooth BLE นั้นสามารถเชื่อมต่อตัวมันเองมายังเจ้า SwitchBot Hub Mini ได้ และในขณะเดียวกัน เจ้า SwitchBot Hub Mini เองก็จะเชื่อมต่อตัวมันกับสัญญาณ WiFi ภายในบ้านของเรา และคอยเป็นสะพานให้เราสามารถสั่งงานอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกับ Hub Mini อย่างเจ้า SwitchBot Curtain และ SwitchBot Bot ได้ แม้ว่าเราจะไม่ได้อยู่ที่บ้าน ภายใต้เงื่อนไขที่ว่ามือถือของเราก็ต้องยังคงใช้งานอินเตอร์เน็ตได้ ไม่ว่าจะเป็นเน็ต 3G/4G หรือ WiFi จากที่ใดก็ตาม

การใช้งานเองก็ไม่ได้วุ่นวายอะไรเลย เพียงแค่เราทำการเซ็ตอัพและเชื่อมต่อเจ้า SwitchBot Hub Mini เข้ากับ WiFi คลื่น 2.4Ghz ของบ้านเรา (ไม่รองรับคลื่น WiFi 5Ghz) จากนั้นก็ไปเลือกเปิดใช้งาน Cloud Service บนอุปกรณ์ Bluetooth BLE อย่างเจ้า SwitchBot Curtain และ SwitchBot Bot ผ่านทางการตั้งค่าภายในแอพพลิเคชั่น SwitchBot เพียงเท่านี้อุปกรณ์ Bluetooth BLE จาก SwitchBot ก็จะสามารถสั่งงานจากที่ไหนก็ได้แล้ว ซึ่งทำให้อุปกรณ์ต่างๆ ในระบบ SwitchBot นั้นมีประโยชน์ในการใช้งานจริงขึ้นอีกเยอะเลยทีเดียว (หากยังไม่ได้เชื่อมต่อ SwitchBot Hub ในแอพ SwitchBot จะไม่สามารถเปิดใช้งาน Cloud Service ได้)

นอกจากความสามารถในการทำตัวเองเป็นฮับเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ Bluetooth BLE ของ SwitchBot แล้ว เจ้า SwitchBot Hub Mini เองยังมีความสามารถอีกหนึ่งอย่างคือการเป็นตัวส่งสัญญาณ IR (Infrared) ที่มีระยะการยิงสัญญาณไกลถึง 30 เมตรหากไม่มีสิ่งกีดขวาง โดยหากตั้งตัวมันขึ้นในแนวตั้ง จะกวาดสัญญาณได้รอบ 360 องศา แต่หากวางในแนวนอนจะกวาดสัญญาณไปได้ 180 องศา ซึ่งทำให้เหมาะกับการนำมาใช้งานเป็นตัว IR Blaster สำหรับเรียนรู้อุปกรณ์ต่างๆ ที่ควบคุมผ่านรีโมตแบบ IR ที่อยู่ภายในห้องที่จัดวาง SwitchBot Hub Mini เอาไว้ได้ ยกตัวอย่างเช่นพวกรีโมตทีวี รีโมตแอร์ หรือรีโมตพัดลมเป็นต้น โดยวิธีการเรียนรู้รีโมต IR นั้นก็ไม่ยากเลย เพียงแค่กดเข้าไปในการตั้งค่าของ SwitchBot Hub Mini บนแอพพลิเคชั่น SwitchBot แล้วเลือกเพิ่มอุปกรณ์ใหม่ตามชนิดของอุปกรณ์ที่ SwitchBot มีรองรับ จากนั้นก็ทำตามคำแนะนำในแอพพลิเคชั่น เพียงเท่านี้ก็เป็นอันเรียบร้อย

จากการทดลองเพิ่มรีโมตแอร์ตัวเก่าของที่บ้านนั้น อเล็กซ์พบว่า SwitchBot มีฐานข้อมูลรีโมต IR ที่ครอบคลุมและหลากหลายมากๆ โดยแอพพลิเคชั่นจะให้เรากดปุ่มตามแพทเทิร์นที่กำหนดเพื่อดูว่าปุ่มต่างๆ ที่กดผ่านแอพพลิเคชั่นนั้นตรงกับการใช้งานสัญญาณ IR ของรีโมตรุ่นที่เราเชื่อมต่อไหม และหากตรง แอพพลิเคชั่นก็จะเลือกรุ่นรีโมตที่ถูกต้องจากฐานข้อมูลให้กับเราทันที ทำให้เราไม่จำเป็นต้องเรียนรู้รีโมตเอาเองทีละปุ่มให้เสียเวลา แต่หากไม่ตรงกับฐานข้อมูลใดๆ เลยเราก็สามารถทำการเรียนรู้เองได้เหมือนพวก IR Blaster ทั่วไป

SwitchBot Hub Mini นั้นถือว่าจำเป็นมากๆ หากเราต้องการควบคุมอุปกรณ์ SwitchBot จากระยะไกล และด้วยสนนราคา $39 หรือประมาณ 1200 บาท พร้อมกับความสามารถในการเป็น IR Blaster ได้ด้วยนั้น อเล็กซ์คิดว่ายังไงก็ควรซื้อมาใช้งานเป็นอย่างยิ่งหากเพื่อนๆ กำลังคิดจะตัดสินใจเลือกใช้อุปกรณ์จาก SwitchBot ครับ

ข้อดี ข้อเสีย
1. ขนาดเล็ก ออกแบบมาได้มินิมอลมาก 1. ไม่รองรับการเชื่อมต่อ WiFi คลื่น 5Ghz
2. ทำหน้าที่เป็น IR Blaster ได้ด้วย 2. มีสัญญาณหลุดให้เห็นบ้างเป็นบางครั้ง
3. ทำให้ระบบรองรับการทำงานแบบ IoT โดยสมบูรณ์  
4. ยิงและรับสัญญาณได้ไกลมากทั้ง Bluetooth และ IR  

คะแนนความรัก : 9/10

  • SwitchBot Smart Humidifier

นอกจากอุปกรณ์ทั้งหมดข้างต้นแล้ว SwitchBot เองยังออกอุปกรณ์ที่ช่วยเพิ่มความชื้นให้กับที่อยู่อาศัยของเรา โดยช่วยลดโอกาสการเกิดภูมิแพ้ และช่วยไม่ให้ผิวหนังของเราแห้งจนเกินไปจากการขาดน้ำเมื่อต้องอยู่หรือพักผ่อนในห้องแอร์เป็นเวลานานๆ อีกด้วย แน่นอนว่าอุปกรณ์ตัวที่ว่านั้นก็คือเจ้า SwitchBot Smart Humidifier นั่นเอง

SwitchBot Smart Humidifier นั้นควรใช้คู่กับ SwitchBot Meter เพื่อให้สามารถควบคุมความชื้นสัมพัทธ์ภายในห้องได้โดยตรงผ่านในแอพพลิเคชั่นของ SwitchBot เลย 

Switchbot Smart Humidifier

เจ้า SwitchBot Smart Humidifier นั้นเป็นอุปกรณ์ลูกเพียงตัวเดียวจาก SwitchBot ในตอนนี้ที่รองรับการเชื่อมต่อกับ WiFi ได้โดยตรง โดยรองรับสัญญาณคลื่นความถี่ 2.4Ghz เท่านั้น ไม่เหมือนกับ SwitchBot Curtain และ SwitchBot Bot ที่รองรับเพียงแค่ Bluetooth BLE และต้องอาศัย Hub ในการควบคุมจากระยะไกล อย่างไรก็ตามนั่นก็ทำให้มันเป็นอุปกรณ์ลูกเพียงตัวเดียวเท่านั้นจาก SwitchBot ที่ต้องอาศัยการเสียบปลั๊กไฟเลี้ยงไว้ตลอดเวลา เพราะเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าสัญญาณ WiFi นั้นใช้พลังงานมาก ดังนั้นจะให้มาใช้ถ่านหรือแบตเตอร์รี่เหมือนอุปกรณ์ตัวอื่นก็คงเป็นไปไม่ได้ ไม่งั้นคงมีหวังได้เปลี่ยนถ่านกันเป็นรายวันแน่ๆ 

SwitchBot Smart Humidifier ออกแบบมาได้เรียบง่ายและสวยงามเหมือนกับผลิตภัณฑ์ตัวอื่นๆ ในไลน์ของ SwitchBot เลยครับ โดยที่ขนาดตัวของมันนั้นอยู่ที่ 20 x 36.6 x 20 ซม. และมีนำ้หนักตัวประมาณ 1.34 กิโลกรัม ด้านหน้ามีไฟ LED บอกสถานะการทำงานของตัวเครื่อง พร้อมกับถังใส่น้ำแบบใส (ที่ออกดำหน่อยๆ) ขนาด 3.5 ลิตร พร้อมจานไส้กรองน้ำแบบถอดเปลี่ยนได้เพื่อความสะอาดของไอน้ำที่ถูกปล่อยออกมา ซึ่งทำให้มีปริมาณน้ำที่มากพอกับการใช้งานต่อเนื่องได้สูงสุดถึง 48 ชั่วโมงเลย ในขณะที่ฝาปิดด้านบนนั้นออกแบบเป็นปล่องปล่อยควันที่สามารถหมุนได้รอบทิศทางแบบ 360 องศา และที่พิเศษกว่านั้นคือช่องสำหรับหยอดน้ำมันหอมระเหยที่มีขายกันทั่วไป ซึ่งหาได้ยากในผลิตภัณฑ์ประเภท Humidifier จากคู่แข่งหลายๆ ตัว อันนี้ต้องบอกว่าชอบเป็นการส่วนตัวเลยล่ะครับ

ฟังก์ชั่นการทำงานของเจ้า SwitchBot Smart Humidifier นั้นก็ไม่มีอะไรมากครับ โดยเราสามารถที่จะกดตรงไฟ LED ที่ทำหน้าที่เป็นปุ่มในการปรับระดับความแรงของไอน้ำที่พ่นออกมาได้ รวมไปจนถึงปรับให้มันทำงานในโหมดอัตโนมัติเองก็ได้หากใช้งานร่วมกับ SwitchBot Meter และหากเราทำการเชื่อมต่อ WiFi เข้ากับแอพพลิเคชั่น SwitchBot ด้วยแล้ว ความสามารถของมันก็จะเพิ่มขึ้นมามากอีกเป็นเท่าตัวเลยครับ

โดยส่วนตัวแล้วเจ้า SwitchBot Smart Humidifier นี้มีประโยชน์กับการใข้งานของอเล็กซ์มากๆ ในการช่วยควบคุมความชื้นสัมพัทธ์ภายในห้องโฮมเธียร์เตอร์ของที่บ้าน เพราะในห้องนี้อากาศค่อนข้างแห้งมาก และยังมีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกเยอะด้วย เลยทำให้เกิดไฟฟ้าสถิตภายในห้องบ่อยมาก บ่อยชนิดที่ว่าจับต้องอะไรหน่อยก็มีช็อตเปรี๊ยะตลอดเวลา แต่พอเอาเจ้าตัวนี้เข้ามาไว้ในห้อง โดยใช้งานควบคู่กับ SwitchBot Meter (ซื้อแยกที่ราคา $19 หรือประมาณ 600 บาท)  และตั้งค่า Auto Mode Humidity Level ไว้ที่ 45% ก็พบว่าแทบไม่เกิดปัญหาเรื่องไฟฟ้าสถิตมารบกวนจิตใจอีกเลย ในขณะที่หลายๆ บ้านที่มีห้องเก็บกระเป๋าหนังหรือวัสดุมีค่า อาจจะเอาไปประยุกต์ใช้ในการปรับความชื้นสัมพัทธ์ภายในห้องให้ไม่เป็นอันตรายต่อไอเท็มที่เรารักเหล่านั้นก็ได้นะครับ เพราะราคาค่าตัวมันนั้นไม่ได้แพงเลย ซื้อหาได้ที่ราคา $49 หรือประมาณ 1,500 บาทเท่านั้นเอง

อย่างไรก็ตามจากการทดสอบพบว่าหากใช้งาน SwitchBot Smart Humidifier เพียงลำพัง โดยไม่ได้ใช้งานร่วมกับ SwitchBot Meter โหมดการทำงาน Auto ในแอพพลิเคชั่นนั้นจะไม่สามารถควบคุม % ความชื้นสัมพันธ์ให้อยู่ในจุดที่เราต้องการได้จริงๆ เว้นแต่เพื่อนๆ จะใช้ Homebridge ในการ Bridge เอาอุปกรณ์ SwitchBot ไปใช้งานต่อไปใน Apple Homekit แล้วใช้เซ็นเซอร์วัดความชื้นสัมพัทธ์ตัวอื่นภายในห้องมาช่วยในการควบคุมความชื้นแทน ซึ่งวิธีนี้จะพูดถึงต่อไปเป็นลำดับสุดท้ายของบทความ

แต่ในกรณีที่เพื่อนๆ ใช้ Google Home, Amazon Alexa หรือ IFTTT เป็นทุนเดิมอยู่แล้วก็ยิ่งดีเลยครับ เพราะเจ้าอุปกรณ์ SwitchBot ทั้งไลน์ (รวมถึง SwitchBot Smart Humidifier ตัวนี้ด้วย) นั้นรองรับการทำงานร่วมกับระบบบ้านอัจฉริยะที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมดโดยไม่ต้องทำอะไรเพิ่มเติม สามารถเพิ่มเข้าไปในระบบอย่าง Google Home หรือ Amazon Alexa ได้เลย และเมื่อเพิ่มเข้าไปแล้วเพื่อนๆ ก็จะสามารถใช้เซ็นเซอร์ความชื้นสัมพัทธ์ตัวอื่นๆ ในระบบที่มีอยู่มาเป็นตัวควบคุมความชื้นภายในห้องร่วมกับ SwitchBot Smart Humidifier โดยผ่านทางการตั้งค่าของระบบนั้นๆ ที่เลือกใช้แทนได้

แต่หากจะเอาง่ายที่สุด SwitchBot Smart Humidifier นั้นควรใช้คู่กับ SwitchBot Meter เพื่อให้สามารถควบคุมความชื้นสัมพัทธ์ภายในห้องได้โดยตรงผ่านในแอพพลิเคชั่นของ SwitchBot นั่นล่ะครับ ซึ่งก็อาจจะต้องเสียเงินเพิ่มเล็กน้อยหากต้องการฟังก์ชั่นนี้

ข้อดี ข้อเสีย
1. เชื่อมต่อผ่าน WiFi 2.4Ghz โดยไม่ต้องใช้ Hub 1. ไม่รองรับสัญญาณ WiFi 5Ghz
2. ถังน้ำขนาดใหญ่ถึง 3,500 ลิตร เปลี่ยนไส้กรองได้ 2. ไม่มีเซ็นเซอร์ความชื้นในตัวเอง
3. ตั้งเวลาเปิด/ปิด และสั่งงานระยะไกลจากในแอพได้ 3. ต้องใช้งานร่วมกับ SwitchBot Meter
เพื่อใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
4. เสียงเงียบมากทุกโหมด ไม่รบกวนเวลานอน  
5. มีช่องสำหรับใส่น้ำมันหอมระเหย  

คะแนนความรัก : 7.5/10

  • Apple HomeKit – Homebridge Plugin และ API

อุปกรณ์ SwitchBot ทุกตัว หากเราเชื่อมต่อเข้ากับ SwitchBot Hub หรือ Hub Mini และเปิดใช้บริการ Cloud Service (ฟรี) จะรองรับการใช้งานร่วมกับ Google Home, Amazon Alexa, IFTTT และ Line Clover โดยอัตโนมัติ แต่อย่างไรก็ตาม หากเราต้องการสั่งงานผ่านเสียงด้วย Siri บน iPhone / iPad หรือ Homepod ของเรา ทางเดียวที่จะทำได้อย่างเป็นทางการคือการใช้งานผ่านคำสั่งลัด หรือ Siri Shortcuts เท่านั้น ไม่สามารถเชื่อมต่ออุปกรณ์ SwitchBot เข้ากับ Apple HomeKit ได้โดยตรง

อย่างไรก็ตาม หากบ้านใครใช้งาน Homebridge Server ในการนำเอาอุปกรณ์ที่ไม่รองรับ Homekit ให้เข้าไปอยู่ในระบบ HomeKit จาก Apple อยู่แล้ว SwitchBot เองก็มี Plugin สำหรับ Homebridge ไว้รองรับการใช้งานในส่วนนี้เช่นเดียวกัน โดยตัวปลั๊กอินนั้นรองรับอุปกรณ์ทุกตัวที่ SwitchBot มีเปิดจำหน่าย ซึ่งต้องใช้งานร่วมกับ SwitchBot Hub หรือ Hub Mini เท่านั้น เว้นก็แต่ SwitchBot Smart Humidifier ที่เชื่อมต่อ WiFi ได้โดยตรง ที่สามารถบริดจ์เข้าใช้งานกับ Homekit ผ่านทางปลั๊กอินของ Homebridge ได้โดยไม่ต้องใช้ SwitchBot Hub มาช่วยแต่อย่างใด

สำหรับใครที่สนใจเกี่ยวกับ Homebridge ทาง APPDISQUS เองได้เคยมีทำวิดีโอสอนการติดตั้งและการใช้งาน Homebridge Server อย่างละเอียดเอาไว้ เพื่อนๆ สามารถรับชมได้จากวิดีโอด้านล่างนี้เลยครับ

Smart Home Guide EP2 :  ทำอุปกรณ์ถูกๆ ให้รองรับ Homekit ด้วย Homebridge Server

สำหรับปลั๊กอิน Homebridge ที่แนะนำให้ใช้นั้นมีชื่อว่า Homebridge SwitchBot OpenAPI ซึ่งเป็นปลั๊กอินของระบบ SwitchBot ที่มีความเสถียรมากๆ โดยทันทีที่เราติดตั้งและตั้งค่าปลั๊กอินเสร็จสมบูรณ์แล้ว เจ้าปลั๊กอินก็จะทำการส่งผ่านอุปกรณ์ SwitchBot เหล่านี้ให้ไปโผล่ที่แอพพลิเคชั่น Home บน iPhone / iPad และ Mac ของเราเพื่อใช้สำหรับการควบคุมการทำงานผ่าน Siri ในอุปกรณ์ต่างๆ ต่อไป

Homebridge SmartBot OpenAPI Plugin

เห็นแบบนี้แล้ว ใครที่เป็นเทคแซฟวี่มากๆ และชอบเรื่อง Smart Home และระบบ IoT กันเป็นชีวิตจิดใจอยู่แล้วก็สบายใจได้เลยครับว่า SwitchBot Platform นี้สามารถเอาไปต่อยอดโปรเจคบ้านอัจฉริยะของเพื่อนได้อีกหลากหลายและครบถ้วนแน่นอน เพราะตัวแอพพลิเคชั่นเองก็มี API เอาไว้ให้หยิบไปใช้งานกันอย่างอิสระ และสามารถขอเจน Token ได้ง่ายๆ ภายในตัวแอพพลิเคชั่นอีกด้วยครับ

บทสรุปท้ายรีวิว

SwitchBot จาก Wonderlabs นั้นถือเป็นอุปกรณ์อัจฉริยะแบรนด์ที่น่าสนใจมากทีเดียวครับ ด้วยอุปกรณ์ที่มีออกมารองรับอย่างหลากหลายฟังก์ชั่นการทำงาน ไล่ไปตั้งแต่ SwitchBot Bot, SwitchBot Curtain, SwitchBot Smart Humidifier และ SwitchBot Hub ตลอดจนอุปกรณ์เสริมที่ช่วยเพิ่มความสามารถให้อุปกรณ์หลักในระบบอย่างพวก SwitchBot Remote, SwitchBot Meter และแผง Solar Panel สำหรับการชาร์จไฟพลังงานแสงอาทิตย์ให้กับ SwitchBot Curtain แล้วต้องบอกว่าของเค้าคิดมาดีจริงๆ

ฮาร์ดแวร์ดีแล้ว ซอฟต์แวร์เองก็ไม่ได้น้อยหน้าเลย เพราะแอพพลิเคชั่น SwitchBot นั้นออกแบบมาได้อย่างเรียบหรูและดูใช้งานง่ายไม่ต่างอะไรไปจากตัวโปรดักส์เลย อีกทั้งยังรองรับ Google Home, Amazon Alexa, IFTTT และ Siri Shortcuts และมี API ให้ไปต่อยอดใช้งานกันบน Home Assistant ตลอดจน Homebridge Plugin ที่ทำงานได้อย่างสมบูรณ์ด้วยแล้ว ยิ่งต้องบอกเลยว่าลงทุนกับอุปกรณ์ภายใต้แบรนด์นี้ รับรองว่าไม่ผิดหวังจริงๆ

ข้อเสียหลักๆ ที่เห็นชัดคงเป็นเรื่องของการวางจำหน่ายที่ในประเทศไทยเรายังหาตัวแทนจำหน่ายได้ยากสักหน่อย แต่หากใครไม่ติดประเด็นเรื่องการต้องรอของเล็กน้อย คุณสามารถเข้าไปช็อปปิ้งอุปกรณ์ทั้งหมดภายใต้แบรนด์ SwitchBot ได้ผ่านทางเว็บไซต์หลักของแบรนด์เลยที่ www.switch-bot.com โดยเพื่อนๆ สามารถใช้โค๊ด “APPDISOUS10” เพื่อเป็นส่วนลดเพิ่ม 10% กับทุกยอดสั่งซื้อจากทาง SwitchBot Store ได้เลยครับ

สุดท้ายนี้ตามธรรมเนียม APPDISQUS ที่ต้องให้คะแนนรีวิวไว้สำหรับประกอบการตัดสินใจ โดยตลอดบทความ ผมได้บอกคะแนนความประทับใจและข้อดี/ข้อเสียของอุปกรณ์แต่ละตัวจาก SwitchBot กันไปแล้ว ในท้ายรีวิวนี้จะเป็นการสรุปคะแนนและข้อดี/ข้อเสียของ SwitchBot ในภาพรวมอีกครั้งเพื่อช่วยเพื่อนๆ ในการตัดสินใจกันอีกทีนะครับ ขอบคุณที่ติดตามมาจนถึงตรงนี้ครับ

แชร์
Avatar photo

อเล็กซ์ หรือ เอ ว่างเมื่อไหร่เป็นต้องหยิบเอามือถือหรือ iPad ข้างกายตนมาจับๆ จิ้มๆ ตามประสาคนมีงานแต่ชอบเล่นเกม คุณสามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและให้กำลังใจเอได้เสมอผ่านทางการคอมเมนต์ในบทความนี้

Advertisement
Exit mobile version