Advertisement

ชาว iOS ทั้งหลายเคยสังเกตเห็นแอพที่เป็นรูปบ้านสีเหลืองที่ชื่อ “Home” หรือ “บ้าน” กันบ้างไหม รู้กันไหมว่าแอพพลิเคชั่นที่ว่านี้มีหน้าที่อะไร และอะไรคือระบบ Homekit จาก Apple ที่เราคุ้นหูกันมานานแสนนาน วันนี้ APPDISQUS จะพาเพื่อนๆ มาทำความรู้จักกับระบบบ้านอัจฉริยะของ Apple ที่จะทำให้บ้านธรรมดาๆ ของเรากลายเป็นบ้านที่ตอบสนองความต้องการเราได้อย่างชาญฉลาดด้วยความช่วยเหลือจาก AI อย่าง Siri

หากใครกำลังมีความคิดอยากเริ่มต้นกับบ้านสมาร์ทโฮมสักหลังด้วยงบประมาณที่ไม่บานปลาย ติดตามรายการ Smart Home Guide ที่จะออนแอร์ทุกสัปดาห์เอาไว้ได้เลย รับรองว่าได้บ้านสมาร์ทอย่างฝันในราคาที่ไม่ทำให้กระเป๋าแบนแฟนทิ้งอย่างแน่นอน ส่วนใครที่ยังไม่ได้รับชมรายการใหม่จากเรา ก็สามารถรับชมได้จากวิดีโอด้านล่างนี้ กับ Smart Home Guide EP1 : เริ่มต้นกับ Homekit และระบบ Smart Home ของ Apple สำหรับคนที่ฟังไม่ทัน หรืออยากเน้นอ่านเป็นบทความก็ตามอ่านกันได้ต่อในบทความนี้ได้เลย

Advertisement

Smart Home Guide EP1: เริ่มต้นกับ Homekit และระบบ Smart Home ของ Apple


Homekit ถือเป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มสำคัญสำหรับคนที่กำลังมองวิธีการทำบ้านให้กลายเป็นบ้านอัจฉริยะ โดย Homekit นั้นเป็นแพลตฟอร์มสมาร์ทโฮมจากทางฝั่ง Apple ซึ่งจะใช้ Siri ในการเป็นตัวกลางการสั่งงานด้วยเสียงและช่วยรับและประมวลผลคำสั่งต่างๆ ไปยังอุปกรณ์ที่รองรับ Homekit หรืออยู่ในแอพพลิเคชั่น “Home” หรือ “บ้าน” บน iOS, iPadOS และ macOS ของเรา ซึ่งก็เหมือนกับ Google Assistant และระบบ Home ของ Google และ Amazon Alexa และระบบบ้านอัจฉริยะของ Amazon นั่นเอง

และเนื่องจากระบบอินเตอร์เน็ตของประเทศไทยเราตอนนี้น่าจะเรียกได้ว่าเป็นเบอร์ต้นๆ ของโลก เราจึงถือว่ามีความพร้อมในการพัฒนาระบบสมาร์ทโฮมได้ไม่ต่างจากประเทศชั้นนำทั้งหลาย และหลายๆ คนเองก็มีการใช้ระบบ Home Automation หรือ Smart Home นี้ในบ้านเช่นเดียวกัน วันนี้ APPDISQUS จึงจะพาเพื่อนๆ ไปทำความรู้จักกับ Homekit กันให้มากขึ้นกว่าเดิม

Homekit และแอพพลิเคชั่น Home คืออะไร?

Homekit คือแพลตฟอร์มบ้านอัจริยะของ Apple โดยออกแบบมาเพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถควบคุมอุปกรณ์อัจฉริยะภายในบ้านที่มีตั้งแต่ตัวควบคุมอุณหภูมิภายในบ้าน (Thermostats) ไปจนถึงปลั๊กไฟและหลอดไฟอัจฉริยะ หรือจะเป็นม่านหน้าต่างและประตูบ้านยันโรงรถเองก็สามารถควบคุมผ่าน Homekit ได้เช่นเดียวกันหากขึ้นชื่อว่าเป็นอุปกรณ์อัจฉริยะ

โดย Apple นั้นยังมีแอพพลิเคชั่น Home ที่เขียนขึ้นมาเพื่อรองรับเฟรมเวิร์ค Homekit ของตนเองอีก เช่นเดียวกับแอพพลิเคชั่นจากนักพัฒนาอิสระมากมายที่ก็ใช้ประโยชน์จากเฟรมเวิร์ค Homekit เช่นเดียวกัน อาทิ แอพพลิเคชั่น Eve Home และ Home+ ที่ก็ถือว่าเป็นแอพพลิเคชั่นเด่นที่คนเล่นสมาร์ทโฮมบนแพลตฟอร์ม Homekit นิยมกัน

แอพพลิเคชั่น Home ที่เราเห็นบน iPhone, iPad และ Mac ของเรานั้นเปรียบได้กับหน้าต่างควบคุมบ้านอัจฉริยะของเรานั่นเอง โดยแอพพลิเคชั่น Home นั้นจะทำหน้าที่เป็นศูนย์รวมของอุปกรณ์ Homekit Compatible ที่เราเชื่อมต่อไว้บน Homekit Framework ของระบบอีโค่ซิสเต็มจาก Apple ทำให้เราสามารถควบคุมอุปกรณ์จากหลากหลายแบรนด์ได้ในแอพพลิเคชั่นเดียว แต่หากต้องการควบคุมอุปกรณ์เหล่านี้จากระยะไกล เราต้องเชื่อมต่อ Homekit Hub ภายในบ้านของเราก่อนเพื่อให้เจ้า Homekit Hub ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเชื่อมต่อเราเข้ากับอุปกรณ์อัจฉริยะบน Homekit ของเราอีกทีเวลาที่เราไม่ได้เชื่อมต่อสัญญาณอินเตอร์เน็ตเดียวกันกับบรรดาอุปกรณ์อัจฉริยะภายในบ้าน

Homekit Hub คืออะไร และทำไมเราถึงต้องใช้มัน?

Homekit Hub นั้นเปรียบได้กับสมองอัจฉริยะหากเราต้องการสั่งงานอุปกรณ์ที่เราเชื่อมต่อไว้บน Homekit ในเวลาที่เราไม่ได้อยู่ในบ้าน โดยเจ้า Homekit Hub นั้นจะเป็นตัวกลางในการสื่อสารระหว่างเรากับอุปกรณ์อัจฉริยะต่างๆ ภายในบ้าน ซึ่งแนวทางนี้ Apple คิดขึ้นมาเพราะต้องการสร้างมาตรฐานความปลอดภัยให้กับผู้ใช้งานสมาร์ทโฮมนั่นเอง

ที่บอกว่าปลอดภัยก็เพราะอุปกรณ์อัจฉริยะภายในบ้านคุณที่เป็น Homekit Compatible นั้นจะไม่สามารถทำการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตและรับคำสั่งหรือส่งคำสั่งใดๆ ออกไปได้เองหากคุณใช้งานมันจากแอพพลิเคชั่น Home เท่านั้น (เว้นแต่จะใช้งานผ่านแอพพลิเคชั่นของผู้ผลิตอุปกรณ์แต่ละรายที่อาจมีวิธีการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์นั้นๆ แตกต่างกันไป) โดยอุปกรณ์เหล่านั้นจะต้องรอรับคำสั่งและ/หรือสั่งคำสั่งไปที่ Homekit Hub เท่านั้นในกรณีที่เราไม่อยู่บ้าน แล้วเจ้า Homekit Hub ถึงจะทำหน้าที่ส่งต่อคำสั่งนั้นๆ ไปยังอุปกรณ์ที่เราต้องการต่ออีกทอดหนึ่ง ทั้งนี้เพื่อป้องกันปัญหาเรื่องการรุกรานจากผู้ไม่หวังดีที่หากสามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ตรงได้อาจใช้มันทำสิ่งที่ไม่สมควร

นั่นหมายความคำสั่งต่างๆ ที่เราสั่งไปยังอุปกรณ์อัจฉริยะของเรานั้นจะไม่ถูกนำไปประมวลผลและเก็บเป็นข้อมูลไว้ในระบบคลาวด์ของผู้ให้บริการรายใด เพราะตัวที่คอยสั่งการแทนคำสั่งที่ได้รับจากเรานั้นคืออุปกรณ์ Homekit Hub ที่ว่ามานี่ล่ะ ซึ่งก็ทำให้เรามั่นใจได้ในเรื่องของความปลอดภัย

Homekit Hub Devices

อุปกรณ์ Homekit Hub ในปัจจุบันนี้ที่ Apple อนุญาตให้ใช้งานในการเป็นตัวรับและถ่ายทอดคำสั่งของเราจากระยะไกลไปยังอุปกรณ์อัจฉริยะต่างๆ ภายในบ้านนั้นประกอบด้วย iPad, Apple TV4K และ Gen 4, Homepod และ Homepod Mini โดยมีข้อกำหนดว่าอุปกรณ์ที่จะมาเป็น Homekit Hub นั้นจะต้องเชื่อมต่อ Internet วงสัญญาณเดียวกับอุปกรณ์อัจฉริยะทั้งหลายภายในบ้านของเราไว้ตลอดเวลา และต้องมีไฟเลี้ยงเสมอ (จะเปิดหน้าจอหรือจะอยู่ในโหมดพักหน้าจอหรือโหมดสแตนด์บายก็ได้) และด้วยข้อกำหนดนี้เอง iPad จึงเป็นตัวเลือกที่เหมาะสม “น้อยที่สุด” ในการเป็น Homekit Hub ให้กับบ้านของเรา เพราะหากเมื่อไหร่ Homekit Hub ของเราถูกปิด หรือแบตหมด หรือเชื่อมต่อเน็ตไม่ได้ อุปกรณ์อัจฉริยะภายในบ้านเราก็จะไม่สามารถควบคุมจากระยะไกลผ่านทางแอพพลิเคชั่น Home ได้ในทันที

ทั้งนี้ในบ้านหนึ่งหลังเราสามารถมี Homekit Hub ได้มากกว่า 1 ตัว และยิ่งมีมากเท่าไหร่ก็จะยิ่งเพิ่มความเสถียรให้กับระบบ Homekit ของเราได้มากขึ้นเท่านั้น เพราะเมื่อไหร่ที่ Homekit Hub ตัวใดตัวหนึ่งเกิดปัญหาขึ้นระหว่างการใช้งาน ระบบจะสลับไปใช้งาน Homekit Hub ตัวอื่นภายในบ้านของเราในทันที ทำให้ประสบการณ์ใช้งานบ้านอัจฉริยะของเราจากระยะไกลนั้นไม่เกิดการสะดุด

Homekit รองรับอุปกรณ์ประเภทใดบ้าง?

Apple พัฒนา Homekit ของตัวเองอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นแผนโร๊ดแมฟพัฒนาในทุกปีที่ ซึ่งก็รวมไปจนถึงการเพิ่มชนิดอุปกรณ์ที่รองรับในระบบ Homekit ให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้นด้วย โดยในปัจจุบันนี้ Homekit Framework รองรับอุปกรณ์ต่างๆ ตามรายการดังนี้

Homekit Accessory Types

อุปกรณ์ Homekit แต่ละอย่างนั้นถูกออกแบบมาให้ใช้งานได้อย่างครอบคลุมความต้องการในชีวิตประจำวันของเรา ยกตัวอย่างเช่นอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับอุณหภูมิของที่อยู่อาศัยอย่าง Thermostats ที่ก็เอามาใช้งานร่วมกับอุปกรณ์กลุ่ม Air Conditioners และ Humidifiers ได้เพื่อปรับอุณหภูมิภายในห้องให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและสบายตัวกับเรา หรืออุปกรณ์เซ็นเซอร์ต่างๆ ที่เมื่อใช้งานร่วมกับอุปกรณ์กลุ่มต่างๆ แล้วจะสามารถสร้างสรรค์ Automation หรือการทำงานอัตโนมัติที่น่าสนใจได้ รวมไปจนถึงเมื่อนำมาใช้กับอุปกรณ์กลุ่ม Security ก็จะเอามาช่วยเสริมทัพความปลอดภัยภายในบ้านของเราได้เช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ Homekit เองก็ยังรองรับอุปกรณ์ในกลุ่มบันเทิง หรือ Entertainment อย่างครอบคลุม เริ่มตั้งแต่โทรทัศน์ เครื่องเสียง (AVR) และลำโพงที่รองรับ AirPlay 2 และอุปกรณ์ภายนอกบ้านอย่างสปริงเกอร์ลดน้ำอัตโนมัติ หรือภายในครัวอย่างก๊อกน้ำเอง ณ ปัจจุบันนี้ก็มีรุ่นที่เป็นก๊อกน้ำอัจฉริยะที่รองรับ Homekit ออกมาให้เห็นแล้วเช่นเดียวกัน

ทั้งหมดนี้น่าจะพอเป็นเครื่องยืนยันได้ว่า ณ ปัจจุบันนี้ Smart Home หรือบ้านอัจฉริยะนั้นไม่ใช่เรื่องไกลตัวของพวกเราเลย ดังจะเห็นได้จากอุปกรณ์ที่รองรับในระบบ Homekit ที่ได้อ่านผ่านตาไปข้างต้น ซึ่งแน่นอนว่ารายการอุปกรณ์ที่รองรับนั้นนับวันมีแต่จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นใครที่กำลังคิดว่า Smart Home บนระบบ Homekit นั้นจะตอบโจทย์และครอบคลุมบ้านอัจฉริยะของตนหรือไม่ อเล็กซ์เองก็ขอยืนยันตอนนี้เลยว่าตอบโจทย์และครอบคลุมอย่างแน่นอน และเมื่อเราประกอบเอาหลายๆ อุปกรณ์เหล่านี้เข้าใช้งานในฟังก์ชั่น “Scene (ฉาก)” และ “Automation (การทำงานอัตโนมัติ)” แล้ว บ้านอัจฉริยะของเราก็จะกลายเป็นบ้านที่อัจฉริยะจริงสมชื่อ สมดังตั้งใจได้อย่างไม่ยาก

Automation และ Scene หมัดเด็ดของระบบบ้านอัจฉริยะ

ทันทีที่เรากดฉาก “เข้านอน” หรือบอก Siri ว่า “เข้านอน” อุปกรณ์ต่างๆ ที่เราตั้งค่าไว้ในฉาก “เข้านอน” ก็จะเข้าสู่สถานะนั้นๆ ตามที่เราตั้งค่าไว้ในฉากในทันที

บ้านอัจฉริยะนั้นไม่ได้หมายความเพียงแค่เราสามารถสั่งการอุปกรณ์ได้จากภายนอกบ้าน หรือสามารถสั่งการได้ด้วยเสียงเท่านั้น หากแต่หมัดเด็ดที่ทำให้บ้านอัจฉริยะหรือ Smart Home มีประโยชน์จริงๆ นั้นต้องยกให้กับฟังก์ชั่น Automation และ Scene (ใน Google Assistant เรียกว่า Routine ส่วนใน Amazon Alexa เรียกว่า Skill) ซึ่งทั้งสองฟังก์ชั่นนี้นี่เองที่จะทำให้บ้านอัจฉริยะของเราเป็นบ้านอัจฉริยะสมชื่อและใช้ประโยชน์ได้จริง

  • Scene

Scene หรือ ฉาก นั้นคือการสร้างฉากที่รวบรวมเอาอุปกรณ์อัจฉริยะที่เราต้องการสั่งทำงานพร้อมกันเวลาสั่งงานฉากนั้นๆ เข้าด้วยกัน ยกตัวอย่างเช่น เวลาที่เราเข้านอน เราอาจต้องการให้ไฟภายในบ้านดับลง พร้อมกับเปิดไฟบริเวณรอบบ้านบางจุด และปรับแอร์ในห้องนอนของเราให้อยู่ที่ 25 องศาเพื่อให้เราหลับสบาย พร้อมกับเปิดเครื่องฟอกอากาศภายในบ้าน เราสามารถสร้างฉาก “เข้านอน” ขึ้นมาแล้วเลือกเอาอุปกรณ์ทั้งหมดที่ต้องการควบคุมเข้าไปอยู่ในฉากนี้ พร้อมตั้งสถานะอุปกรณ์นั้นๆ ตามที่เราต้องการ ทันทีที่เรากดฉาก “เข้านอน” หรือบอก Siri ว่า “เข้านอน” อุปกรณ์ต่างๆ ที่เราตั้งค่าไว้ในฉาก “เข้านอน” ก็จะเข้าสู่สถานะนั้นๆ ตามที่เราตั้งค่าไว้ในฉากในทันที

Scene หรือฉากต่างๆ เหล่านี้ยังสามารถนำมาแมฟเพื่อเรียกใช้งานร่วมกับสวิตช์อัจฉริยะในบ้านเราได้อีกด้วย ยกตัวอย่างเช่นอุปกรณ์ Stateless Switch ของ Aqara ที่เมื่อเชื่อมต่อเข้ากับ Homekit แล้ว เราจะสามารถตั้งค่าให้การกดปุ่มแต่ละปุ่มนั้นเรียก Scene หรือฉากที่เราตั้งเอาไว้ขึ้นมาใช้งานได้ รวมไปจนถึงการเรียกฉากต่างๆ เหล่านี้ขึ้นมาใช้งานจาก NFC Automation ก็สามารถทำได้เช่นเดียวกัน

  • Automation

Automation นั้นจะเป็นการตั้งการทำงานของอุปกรณ์ตามเงื่อนไขที่ต้องเกิดขึ้นก่อน (Condition) โดยอุปกรณ์นั้นๆ จะไม่ทำงานโดยอัตโนมัติหากไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่มีการตั้งค่าไว้ ซึ่ง Automation นี้เองที่เอื้อให้เราสามารถใช้งานบ้านอัจฉริยะของเราได้อย่างอิสระเท่าที่เราจะคิดออกว่าต้องการทำอะไร ตัวอย่างเช่น เราอาจตั้งค่าให้เซ็นเซอร์แสงภายในบ้านตรวจวัดค่า Lux ของแสง โดยตั้งเงื่อนไขว่าหากค่า Lux ต่ำกว่าตัวเลขใดตัวเลขหนึ่ง (ที่เรารู้สึกว่าบ้านมืดเกินไปแล้ว) ให้เปิดไฟภายในบ้านและภายนอกบ้านตามจุดที่เราต้องการ ในขณะเดียวกันเมื่อค่า Lux สูงกว่าตัวเลขใดตัวเลขหนึ่ง (ที่เรารู้สึกว่าบ้านสว่างพอแล้ว) ก็ให้ปิดไฟดวงต่างๆ โดยอัตโนมัตินั่นเอง ซึ่งตัวอย่างที่ว่ามานี้จะเอื้อให้บ้านเราสามารถเปิด/ปิดไฟได้ตามความเหมาะสมกับสถานการณ์จริง ไม่เหมือนอย่างการตั้งค่าให้ไฟเปิดและปิดตามเวลา เพราะเวลาในแต่ละวันนั้นดวงอาทิตย์ขึ้นและตกไม่เท่ากัน รวมทั้งสภาพอากาศและฟ้าฝนเองก็ยังเป็นปัจจัยให้ท้องฟ้ามืดครึ้มได้แม้ดวงอาทิตย์จะยังไม่ตกดิน

อย่างไรก็ตาม การตั้ง Automation บนแอพพลิเคชั่น Home นั้นยังสร้างเงื่อนไขได้ไม่หลากหลายนัก ดังนั้นใครที่คิดจะจริงจังกับ Smart Home ในระบบ Homekit และต้องการสร้างเงื่อนไขที่มีความเจาะจงและหลากหลายมากกว่านี้ APPDISQUS เองแนะนำให้ใช้งานแอพพลิเคชั่นจากผู้พัฒนาอิสระที่พัฒนามาสำหรับ Homekit Framework จะดีกว่า ยกตัวอย่างเช่น Eve Home และ Home+ ซึ่งสามารถตั้งเงื่อนไขของ Automation ได้หลากหลายและละเอียดกว่ามาก รวมทั้งเงื่อนไขทั้งหมดยังทำงานร่วมกับแอพพลิเคชั่น Home ได้อย่างไม่มีปัญหาอีกด้วย ซึ่งเราจะมาพูดถึงประเด็นนี้กันโดยละเอียดกับ Smart Home Guide ในตอนต่อๆ ไป


และนี่คือพื้นฐานที่ควรรู้เกี่ยวกับระบบบ้านอัจฉริยะหรือ Smart Home บน iOS อย่าง Homekit และแอพพลิเคชั่น Home ซึ่งหากเพื่อนๆ สนใจและต้องการเริ่มทำความเข้าใจมันให้มากกว่านี้ อย่าลืมติดตาม APPDISQUS และ Smart Home Guide ตอนต่อไป เพราะเราจะมาพร้อมกับเรื่องราวของโลก Smart Home บน Homekit Framework พร้อมเทคนิกดีๆ ในการเริ่มต้นใช้งานที่มากขึ้น เพื่อให้เพื่อนๆ พร้อมสำหรับการเปลี่ยนบ้านตัวเองให้กลายเป็นบ้านอัจฉริยะตามโลกยุคใหม่นี้ได้โดยไม่ต้องกังวลว่ากระเป๋าจะช้ำอย่างแน่นอน

แล้วพบกันใน Smart Home Guide ตอนที่ 2 อย่าลืมติดตามกันนะครับ =)

บทความอื่นๆ ที่เกี่ยวกับ Smart Home ที่น่าสนใจ

แชร์
Avatar photo

อเล็กซ์ หรือ เอ ว่างเมื่อไหร่เป็นต้องหยิบเอามือถือหรือ iPad ข้างกายตนมาจับๆ จิ้มๆ ตามประสาคนมีงานแต่ชอบเล่นเกม คุณสามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและให้กำลังใจเอได้เสมอผ่านทางการคอมเมนต์ในบทความนี้

Advertisement
Exit mobile version