Advertisement

ประเทศไทยเราเดินเข้าสู่ยุค 5G กันเข้าไปทีละนิดแล้วนะครับ แต่เชื่อว่าด้วยความหลากหลายของเทคโนโลยีที่นำเข้ามาเปลี่ยนแปลงเพื่อผ่านจากยุค 4G มาสู่ 5G นั้น มันมีข้อมูลมากมายมหาศาล ไม่ใช่เรื่องที่จะเข้าใจได้ง่ายๆ เหมือนตอนเราเปลี่ยนผ่านจาก 3G สู่ 4G ในรุ่นก่อนครับ

เพราะเทคโนโลยี 5G มีความหลากหลายมาก มีความหยืดหยุ่นสูงมาก มีศัพท์เฉพาะมากมาย มีเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับ 5G เยอะมาก เราเลยจะได้ยินคำศัพท์ใหม่ๆ อย่างเช่น Millimeter wave, mmWave, Sub-6, low-band, Mid-band, 5G NSA หรือ 5G non-standalone และยังมี 5G SA หรือ 5G standalone อีก และก็ยังมีอื่นๆ อีกมากมายที่จะมีการพูดถึงกันอย่างแน่นอน ซึ่งเทคโนโลนีใหม่ๆ เหล่านี้เป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้เลยที่จะต้องเอ่ยขึ้นมาถ้าเราต้องการจะคุยกันถึงเรื่อง 5G ครับ

Advertisement

ด้วยความที่มันไม่ง่ายเหมือนยุคเก่า ฉะนั้นวันนี้เรา Appdisqus จะขอนำศัพท์สำคัญที่ทุกคนควรจะรู้จักไว้ โดยจะเอามาอธิบายให้เข้าใจกันได้แบบง่ายๆ เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้นเวลาได้ยินหรือเจอคำเหล่านี้ในอนาคตครับ

Millimeter wave ในอีกชื่อคือ high-band หรือ mmWave

นี่คือศัพท์หลักตัวแรกที่ต้องเข้าใจกันก่อนเลยสำหรับการใช้งานอุปกรณ์ 5G เพราะนี่น่าจะเป็นตัวตนที่แท้จริงของคลื่น 5G ตามที่คนไทยเรานิยามถึงมันกันเอาไว้ครับ โดย Millimeter wave หรือชื่อทางเทคนิคที่ FCC เรียกมันว่า high-band ส่วนบริษัท Qualcomm ใช้เทคโนโลยีนี้ในชื่อว่า mmWave แต่ทั้งหมดมันจะหมายถึงเทคโนโลยีการเชื่อมต่อสัญญาณบนคลื่นความถี่ที่สูงกว่า 24 GHz ขึ้นไปครับ

เป็นย่านความถี่ที่ปกติแต่ไหนแต่ไรเราไม่เคยคิดหยิบมันมาใช้กับอุปกรณ์สื่อสาร เพราะแม้ว่ามันจะมีความถี่ของสัญญาณที่สูงมาก มีพื้นที่ความกว้างของสัญญาณที่ยังเหลือให้ใช้กว้างมาก แต่ข้อเสียของสัญญาณความถี่สูงระดับนั้นก็คือระยะทางที่มันส่งสัญญาณได้สั้นเกินไป และมันไม่อาจจะทะลุทะลวงผ่านสิ่งใดได้เลยแม้แค่เพียงอุ้งมือของเรา ถ้าเผลอไปปิดกั้นทางเดินของสัญญาณมันก็หายไปได้แล้วละครับ

แต่ด้วยเทคโนโลยีการออกแบบและพัฒนาของผู้ผลิตอุปกรณ์ ในที่สุดเขาได้ออกแบบการรับส่งความถี่แบบ Millimeter wave จนมันสามารถนำมาใช้งานได้จริงบนอุปกรณ์พกพาอย่างสมาร์ทโฟนครับ โดยความสามารถของมันก็คือการรับส่งข้อมูลได้เร็วระดับ 1Gbps ขึ้นไป เป็นความเร็วตามมโนภาพ 5G ที่เราคาดหวังกันเอาไว้นั้นเอง

Sub-6

Sub-6 ต้องเป็นคำที่ต้องมาตามหลัง Millimeter wave มาติดๆ เลยละครับ เพราะนี่คืออีกหนึ่งมาตรฐาน 5G ที่สำคัญ เพราะถ้าจะบอกว่า Millimeter wave เป็นย่านความถี่สูง ใช้เพื่อความเร็วสูง แต่ระยะสัญญาณมันสั้นเกินไป ฉะนั้นเจ้า sub-6 ก็คือเทคโนโลยีที่สองที่จะถูกใส่ไว้ในอุปกรณ์ 5G ครับ มันมีเพื่อจะรองรับคลื่นความถี่ที่ต่ำกว่า 6GHz ที่จะใช้ในการรับสัญญาณที่มีความสเถียรและครอบคลุมพื้นที่ได้กว้างกว่านั้นเองครับ

โดย Sub-6 จะนิยมใส่เข้ามาอยู่คู่กันกับ mmWave เพื่อให้ตัวอุปกรณ์สมาร์ทโฟนของเราสามารถสลับรับสัญญาณที่เหมาะสมได้ตลอดเวลา เพราะคลื่นความถี่สูงระยะสั้นอย่าง mmWave จะเหมาะสมที่ผู้ให้บริการจะไปติดตั้งตัวส่งในพื้นที่เฉพาะหรือมีคนพลุกพล่านเท่านั้น เพราะขอบเขตจะแคบแต่ก็มีความเข้มข้นและความเร็วของสัญญาณที่สูง ส่วนตัว Sub-6  ก็จะใช้ในการกระจายสัญญาณในพื้นที่บริเวณกว้าง เป็นตัวเสริมระยะขอบเขตที่ Millimeter wave  ยากจะครอบคลุมได้ทั่วถึงนั้นเองครับ

5G NR หรือ 5G New Radio

ถ้าได้ยินคำว่า 5G NR หรือไม่ว่าจะเป็น 5G New Radio มันคือชื่อของมาตรฐาน 5G ของโลกในตอนนี้ครับ เป็นชื่อเรียกโดยรวมทั้งเทคโนโลยี Millimeter wave และ Sub-6 เข้าไว้ด้วย

5G NSA หรือ 5G non-standalone

คำนี้จะถูกพูดถึงกันใน 5G ยุคสมัยแรกๆ นี้แหละครับ มันคือเทคโนโลยีที่เราใช้ในช่วงเปลี่ยนถ่ายสัญญาณ 4G ไปสู่ 5G ในช่วงนี้แหละ โดย 5G NSA ก็คือเทคโนโลยีที่นำสัญญาณของ 4G มาสนับสนุนการทำงานของคลื่น 5G เพื่อเพิ่มความเสถียรของการให้บริการและการรับส่งข้อมูลของตัวอุปกรณ์ โดยจะถูกพบในอุปกรณ์ที่รองรับ 5G ยุคเริ่มต้น แต่ในอนาคตก็จะเปลี่ยนเป็น 5G SA หรือ 5G Standalone กันทั้งหมดครับ

5G SA หรือ 5G Standalone

5G Standalone หรือตัวย่อ 5G SA มันคืออนาคตที่มาแน่ๆ เนื่องจากมันเป็นระบบที่สามารถทำงานบน 5G ได้ทั้งหมดด้วยตัวเอง ไม่ต้องกลับไปพึ่งพาระบบเก่าอย่าง 4G อีกต่อไป สิ่งนี้จะทำให้ทุกอย่างง่ายขึ้นทั้งผู้ผลิตและผู้ให้บริการ โครงสร้างเครือข่ายก็จะแข็งแกร่งลงตัว และน่าจะส่งผลให้ราคาค่าบริการถูกลงกว่าเดิมได้ครับ ฉะนั้นความลงตัวของโลก 5G น่าจะไปอยู่ในยุคที่เราไปใช้ 5G SA กันหมดแล้วนั้นเองครับ


มาถึงตรงนี้ผมว่าก็น่าจะช่วยให้ทุกคนได้เข้าใจคร่าวๆ ได้ในเวลาเห็นสเปค 5G ของอุปกรณ์สมาร์ทโฟนกันบ้างแล้วนะครับ โดยด้านล่างคือตัวอย่างของการบอกสเปค 5G จากเครื่อง Samsung Galaxy S20 Series ซึ่งผมยกตัวอย่างมาให้ดูกัน เขาก็จะบอกเทคโนโลยีที่เครื่องรองรับมาแบบนี้ครับ

โดย Samsung Galaxy S20 Series ในรุ่นรองรับ 5G นี่มีครบดี มาทั้ง 5G NSA, 5G SA แสดงว่ายุคเก่าก็ได้ยุคใหม่ก็พร้อม และรองรับ mmWave และ Sub6 ด้วยตามมาตรฐาน

 


ศัพท์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

Low-band คลื่นความถี่ต่ำ

คลื่นความถี่ต่ำ ก็คือช่วงคลื่นใกล้ๆ กับที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้แหละครับ เช่น 600Mhz, 800Mhz และ 900MHz รวมถึง 700Mhz ที่ประเทศไทยเพิ่งเปิดประมูลกันออกไปด้วย โดยคลื่นพวกนี้มีคุณสมบัติในการกระจายสัญญาณได้กว้าง ครอบคลุมพื้นที่ได้ง่าย ไม่จำเป็นต้องวางเสาสัญญาณเยอะก็พร้อมจะรองรับทั่วทั้งอาณาเขตได้ในทันที

แต่ข้อเสียก็คือขีดจำกัดความเร็วของสัญญาณ มันไม่อาจะเทียบได้กับคลื่นความถี่สูงได้นั้นเองครับ แต่ก็มีผู้ให้บริการบางรายในต่างประเทศ อย่างเช่น T-Mobile และ AT&T ของอเมริกา ที่ต้องการจะใช้คลื่น 600MHz และ 850MHz ในการเปิดเป็น 5G เพื่อช่วยเพิ่มอาณาเขตสนับสนุนร่วมกับคลื่น Millimeter wave ความถี่สูงครับ

Mid-band คลื่นความถี่ระดับกลาง

ก็ไม่มีอะไรซับซ้อนครับเป็นย่านความถี่ตามชื่อ คือสูงกว่า Low-Band แต่ยังไม่ถึงระดับ Sub-6 ที่วิ่งอยู่ประมาณ 6GHz ลงมา โดยคลื่นความถี่ระดับกลางหรือ Mid-band จะอยู่ที่ช่วงประมาณ 2.0GHz  ถึง 5.0 GHz ราวๆ นี้ครับ ซึ่งก็มีทาง Sprint ที่ได้ปรับใช้คลื่น 2.5Ghz มาให้บริการ 5G อยู่เหมือนกันครับ

Unlicensed หรือคลื่นที่ไม่มีใบอนุญาต

ถ้ามีคลื่นที่ถูกประมูลออกไปซึ่งได้ใบอนุญาตอย่างถูกกฏหมาย ก็ย่อมต้องมีคลื่นอื่นๆ ที่ยังไม่มีการออกใบอนุญาต หรือ Unlicensed นั้นแหละครับ ซึ่งได้มีข้อตกลงกันเป็นมาตรฐานสากลว่า ความถี่ที่ไม่มีใบอนุญาตอย่างเช่น 2.4, 3.5, 5.0, 6.0 GHz ก็สามารถนำมาใช้งานได้เช่นกัน และด้วยความยืดหยุ่นของเทคโนโลยี 5G มันอาจจะถูกนำมาใช้ประโยชน์ในทางใดทางหนึ่งได้เสมอครับ

MIMO (Multiple-input และ multiple-output)

MIMO คือชื่อย่อของเทคโนโลยี Multiple-input และ Multiple-output ความสามารถในการรับและส่งข้อมูลได้หลายๆท่อในเวลาเดียวกัน มันเป็นเทคโนโลยีที่จะถูกพูดถึงเสมอทั้งในอุปกรณ์เสาสัญญาณ ทั้งภาคส่ง รวมถึงภาครับอย่างอุปกรณ์ที่เราใช้งาน ก็จะมีฟังก์ชั่นนี้คอยช่วยเพิ่มช่องรับส่งข้อมูลได้หลายๆ ทางในเวลาเดียวกันได้ครับ เพิ่มความเสถียรและความราบลื่นในการเข้าออกของข้อมูล

Beamforming

อีกหนึ่งชื่อของฟีเจอร์ในด้านความสามารถเพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับการเดินทางของสัญญาณ จากอุปกรณณ์สู่อุปกรณ์ มันคือรูปแบบการรับส่งข้อมูลที่จะ “หากันจนเจอ” แม้ว่าการรับส่งข้อมูลในเส้นทางเดิมจะสูญเสียไปหรือมีอะไรปิดกั้น มันจะมีเส้นทางใหม่ในการเดินเข้าหาเป้าหมายเดิมได้อยู่ตลอดเวลา ฟีเจอร์นี้ก็จะถูกพูดถึงบ่อยๆ ในคุณลักษณะของอุปกรณ์ที่ใช้รับส่งข้อมูลในเครือข่ายเสมอๆ ครับ

Small cells

เซลล์ไซต์ขนาดเล็ก ที่ออกแบบมาเพื่อเพิ่มความเข้มของสัญญาณจากผู้ให้บริการ ให้ตัวส่งสัญญาณได้เขยิบเข้ามาใกล้อุปกรณ์อย่างสมาร์ทโฟนของเรามากขึ้นครับ ปกติพวกมันจะถูกติดไว้ตามเสาไฟฟ้าหรือในอาคารที่มีคนพลุกพล่าน ทำหน้าที่คอยรับและขยายสัญญาณจากเซลไซต์หลักตัวใหญ่ที่จะอยู่ไกลไปบนอาคารสูงอีกทีหนึ่ง โดยเฉพาะในยุคที่ผู้คนใช้แบนด์วิดช์กันสูงมากขนาดนี้ ก็จำเป็นต้องติดตั้ง Small cells เหล่านี้มากขึ้นตามไปด้วย

แต่ก่อนมันเคยทำหน้าที่ในการช่วยขยายคลื่น LTE 4G แต่ตอนนี้ในยุคใหม่ มันก็พร้อมจะทำงานภายใต้สัญญาณ 5G ด้วยเช่นกัน

Ping

ถ้าสปีดจะหมายถึงความเร็ว Ping ก็คงจะหมายถึงค่าความไวของเน็ตนั้นเองครับ จริงๆ แล้วมันคือชุดคำสั่งที่เข้าไปทดสอบหาค่าเวลาในการเดินทางไปกลับของคำสั่ง จากโฮสต์ต้นทางไปยังปลายทางว่าใช้เวลามากน้อยแค่ไหนในการเดินทางครั้งนี้ ซึ่งมันส่งผลต่อความไวตอบสนองสั่งงานเวลาเราใช้เน็ตนั้นเองครับ

Latency

อีกหนึ่งคำที่ใช้เวลาเราพูดถึงคุณภาพของสัญญาณ เพราะการเดินทางของข้อมูลมันจะมีการสูญเสียเวลาไปกับทุกจังหวะการทำงาน เช่นการที่เราสั่งงานอุปกรณ์เพื่อให้ไปดึงข้อมูลจากเว็บไซด์ที่เราต้องการ เมื่อปลายทางอย่างเช่นเว็บไซต์ได้รับคำขอของเราแล้ว ก็จะส่งคำสั่งไปยังเซิร์ฟเวอร์ก่อนที่เซิร์ฟเวอร์จะดูว่าจะมันจะต้องส่งไฟล์ใดกลับมาให้เราบ้าง ระยะเวลาที่ใช้ไปทั้งหมด เราเรียกว่า Latency

และค่า Latency นี้แหละครับ เป็นหนึ่งในส่วนสำคัญหลักของเทคโนโลยี 5G ที่มันจะต้องพิสูจน์ตัวเองว่าได้ถูกอัพเกรดขึ้นไปมากแค่ไหนจากเทคโนโลยี 4G เก่า เพราะค่า Latency ที่ต่ำ ก็หมายถึงการตอบสนองแบบเรียลไทม์ระหว่างปลายทางกับผู้ใช้ ในเวลาเดียวกันเหมือนอยู่ที่เดียวกันยังไงยังงั้น ลองนึกภาพหมอกำลังผ่าตัดคนไข้ระยะไกลด้วยสัญญาณ 5G กันดูสิครับ ถ้าค่า Latency มันหน่วงกว่าความเป็นจริง จะเกิดอะไรขึ้นกับคนไข้ที่กำลังถูกผ่าตัด!

5Ge หรือ 5G Evolution

เป็นชื่อที่ผมยกตัวอย่างมาให้ดูกัน จะเรียกพวกชื่อเหล่านี้ว่า “5G ปลอม” ก็ได้นะครับ เพราะมันไม่ใช่ 5G จริงๆ แต่เป็นชื่อทางการตลาดที่นำมาให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดกันได้ อย่างเช่น 5G Evolution ซึ่งเป็นชื่อทางการตลาดของ AT&T ที่นำเอาผลลัพท์ของการรวมเน็ต LTE 4G เข้ากับเน็ต Fiber มารวมกันให้เกิดความเร็วที่มากกว่า 4G ทั่วไปเพียงอย่างเดียว แล้วก็เรียกมันว่า 5G Evolution โดยที่ไม่มีอะไรเกี่ยวกับ 5G เลย

แชร์
Avatar photo

ในสิ่งที่เรารู้และเข้าใจ มันก็ยังมีระดับความลึกของความเข้าใจที่แตกต่างกัน ลึกบ้าง บางบ้าง แต่ประโยชน์ในการส่งผ่านสิ่งที่รู้ออกไปให้กับผู้อื่นนั้นไม่ต่างกัน มีประถม มีมัธยม มีอุดมศึกษา ไม่มีใครเริ่มต้นเรียนรู้จากในระดับปริญญา ฉะนั้นจะมากจะน้อยเชื่อเถอะว่า ความรู้ของทุกคนมีประโยชน์ให้กับผู้อื่นได้ เท่าๆ กัน

Advertisement
Exit mobile version