Advertisement

Review : Sony SRS-BTX300  ลำโพง  Bluetooth  ชีวิตบันเทิงไร้ลิมมิทไม่ติดสาย

sony20131110_101923

ก่อนจะอ่านรีวิวผมมีคำถามสั้นๆ จะถามคุณก่อน คุณซื้อเพลงจากร้านขาย cd ครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ครับ แล้ววันนี้เวลาคุณซื้อเพลง คุณก็ซื้อจากช่องทางการดาวน์โหลดบ่อยใช่มั้ย หรือบางทีคุณเป็นสมาชิกบริการเพลงแบบสตรีมมิ่ง

Advertisement

คุณมีอุปกรณ์ไร้สาย หรือว่าแท็บเล็ตเอาไว้เก็บเพลงมากกว่า 1 เครื่อง

ถ้ามีคำตอบว่าใช่เกินหนึ่งข้อ คุณคงต้องเริ่มมองลำโพงไร้สายแล้วล่ะ

sony20131110_102349

 ก่อนจะแกะกล่องออกมาดู มาทำความรู้จักในเบื้องต้นก่อนว่าลำโพง Bluetooth มีข้อดียังไง

1. ไม่ต้องกังวลเรื่องช่องต่อเสียบ หรือ Docking เคยอกหักมั้ยครับเวลาซื้อชุดต่อลำโพง ที่ช่องเสียบเฉพาะ แล้วจู่ๆ วันนึงเจ้าของผลิตภัณฑ์ดันยกเลิกการเชื่อมต่อแบบเดิมเสียอย่างนั้น

2. คุณสามารถเดินถืออุปกรณ์โทรศัพท์ไปตรงส่วนไหนก็ได้ โดยไม่ต้องใช้รีโมท เพราะควบคุมได้จากโทรศัพท์ แต่ระยะทำการจะอยู่ที่ 10 เมตรนะครับ รวมถึงเรื่องของสิ่งกีดขวางด้วย

แต่จากการทดสอบ ผมทดลองวางลำโพงไว้ระเบียงนอกบ้าน แล้วเดินถือโทรศัพท์มาที่ห้องนอน ซึ่งมีประตูและผนังปูนคั่นก็ยังสามารถทำงานได้เป็นปรกติ ไม่มีการสูญหายหรือสูญเสียของคุณภาพเสียง

3.ลำโพงตัวเดียว แต่สามารถเลือกการฟังจากหลายแหล่งได้ ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือ เครื่องเล่น MP3 Tablet หรือว่าคอมพิวเตอร์

แต่เชื่อมต่อได้ทีละหนึ่งอุปกรณ์เท่านั้นนะครับ สมมุติว่าคุณเชื่อมต่อBluetoothกับโทรศัพท์อยู่ แล้วจะดูจาก Tablet ก็ต้องตัดการเชื่อมต่อของโทรศัพท์ออกก่อน
แล้วมา Pair กับ Tablet อีกครั้ง เครื่องใหม่ถึงจะทำการเชื่อมต่อกันได้

4. ถ้าชีวิตเคยรำคาญเสียงรบกวนจากสายมินิแจ็คเมื่อต่อกับลำโพง พอมาใช้ลำโพง Bluetooth นี่จะหายเป็นปลิดทิ้ง

[divider]

เล่าถึงเหตุผลที่ควรพิจารณาลำโพง Bluetooth ไปแล้ว ลองมาแกะกล่อง Sony SRS-BTX300  ตัวเป็นๆ ครับ

sony20131110_102945

แผงด้านหน้าของ Sony SRS-BTX300 เป็นแบบแข็งไม่สามารถถอดออกได้ แต่ก็พอจะมีข้อได้เปรียบอย่างนึงคือ คุณสามารถพกพาลำโพงไปไหนมาไหนได้โดยที่ไม่ต้องห่วงว่ามันจะขาดเหมือนลำโพงที่เป็นลักษณะโปร่งนิ่ม  น้ำหนักไม่เยอะเท่าไหร่อยู่ที่ 1.8 กิโลกรัม  ยาวประมาณหนึ่งศอกแมนๆ ดูที่แรงขับกันนิดนึง ด้วยความเป็นลำโพงแบบ Passive จึงต้องมีไฟเลี้ยง คือถ้าเสียบไฟจะขับออกมาได้ข้างละ 10 w สำหรับลำโพงตัวขนาดนี้ ก็จัดว่าดังพอตัว ดังพอที่จะได้กระถางดอกไม้เพื่อนบ้านลอยมาอย่างไร้ทิศทาง
แต่ถ้าชาร์จไฟเข้าไปเต็มที่ หิ้วไปข้างนอกเปิดได้นานสูงสุด 8 ชั่วโมง แต่กำลังขับจะเหลือ  4 w นะครับ  ค่าความต้านทานลำโพง  6 โอห์ม

[divider]

มาดูช่องการเชื่อมต่อของ Sony SRS-BTX300 แบบใกล้ชิดกันนิดนึง

sony20131110_102607

ที่ช่องแรกสีเหลืองเป็นช่องเสียบ Adaptor  เพื่อมีไฟเลี้ยงหรือว่าชาร์จไฟก่อนไปใช้นอกสถานที่ ถึง Sony SRS-BTX300 จะเป็นลำโพงแบบ Bluetooth แต่ก็ไม่ได้ตัดการใช้งานแบบมีสายไปซะทีเดียว ยังคงมี  Audio In สำหรับเสียบ Mini Jack ด้วย เผื่อว่าใครจะเอาไปเสียบกับเครื่องเล่น MP3 ทั่วไป

Bluetooth Standby คือการเปิดให้ใช้งานคุณสมบัติ Bluetooth แบบรอท่าไว้ ถ้าคุณพกไปใช้งานนอกสถานที่แล้วทำการเปิดลำโพงไว้แต่เสียบสายแจ็คก็ปิดคุณสมบัตินี้ไปครับ จะได้ประหยัดพลังงานมากขึ้น

Reset เพื่อล้างค่าการเชื่อมต่อทั้งหมด อันนี้ต้องหาเข็มแหลมๆ จิ้ม แต่เราใช้ไม่บ่อยหรอกครับ

DC Audio Only เวลาที่เปิดเพลงฟังไปนานๆ มันก็มีบ้างที่แบตเตอรี่ในโทรศัพท์เราจะค่อยๆ ลด ถ้าคิดว่ายังไม่ได้ขยับโทรศัพท์ไปไหน จะเอาสาย USB มาจ่อเสียบที่หลังลำโพงเพื่อเติมไฟไปพลางๆ นิดๆ หน่อยๆ ระหว่างฟังก็ได้ครับ หรือถ้าเสียบสายไฟกับ Sony SRS-BTX300 ไว้อยู่แล้วก็ชาร์จโทรศัพท์อีกต่อได้เลย

ด้านซ้ายบน จะเป็นไฟ LED สำหรับแสดงผลสถานะของแบตเตอรี่ และการชาร์จไฟเข้าเครื่อง

sony20131110_102825

ที่พื้นที่ตรงด้านบนของลำโพงจะมี NFC  (Near Filed Communication) สำหรับเชื่อมต่อลำโพงกับโทรศัพท์แบบเร่งด่วนอยู่  ถ้าโทรศัพท์ของคุณมี NFC ก็เปิดคุณสมบัติในเครื่องนะครับ แล้วเอามาแตะได้เลย ส่วนใครที่ใช้ iPhone หรือ iPad คงต้องใช้การเชื่อมต่อแบบ Bluetooth ไปนะครับเพราะไม่มี NFC

sony20131110_104330

หลังจากที่เอาฝาหลังโทรศัพท์ไปแปะกับลำโพง  ก็จะขึ้นหน้าจอแสดงการเชื่อมต่อกับ Bluetooth แบบนี้ครับ ก็กดตกลงไปได้เลย

คือการแตะ NFC จะสะดวกขึ้นตรงที่ไม่ต้องควานหาชื่อลำโพงเหมือนตอนเชื่อมต่อแบบ Bluetooth นั้นเอง

ในการเชื่อมต่อของลำโพงกับแอนดรอยด์จะมีข้อได้เปรียบนิดหน่อยคือ สามารถเลือกได้ว่าจะเลือกเปิดปิดรูปแบบการเชื่อมต่อได้ ไม่ว่าจะเป็น

  • เสียงการโทร คือการเชื่อมต่อเสียงโทรศัพท์  เพื่อให้สามารถรับสายที่ลำโพงและใช้ลำโพงเป็น Speaker Phone คือถ้าอยากรับสายและพูดคุยที่โทรศัพท์เพื่อความเป็นส่วนตัว ก็ปิดหัวข้อนี้ไปครับ
  • เสียงมีเดีย คือส่งสัญญาณเสียงไปที่ลำโพง   ซึ่งเสียงทุกเสียงที่เกิดขึ้นบนโทรศัพท์จะถูกส่งไปที่ลำโพงหมดนะครับ
  • รองรับโปรไฟล์แบบ A2DP, AVRCHP, HFP, HSP

สำหรับผู้ใช้ Android ถ้ารู้สึกว่าการเข้าไปในหัวข้อ Bluetooth มันลึกไปซักหน่อย ทาง Sony เขาก็มีแอพพลิเคชั่นตัวนึงที่ทำเตรียมไว้คือ NFC Easy Connect ซึ่งสามารถเข้าไปดาวน์โหลดได้จาก Play Store นะครับ


คุณสมบัติด้านในก็เหมือนกับการควบคุมผ่าน Bluetooth ปรกตินี่ล่ะครับ คือจะแสดงชื่อลำโพงและเลือกปรับแต่งการตั้งค่าการจับคู่เหมือนๆ กัน

ถ้าคุณใช้ iOS เช่น iPhone  iPod Touch หรือว่า iPad การเชื่อมต่อกับลำโพง Sony SRS-BTX300 ต้องทำผ่าน Bluetooth อย่างเดียวนะครับ โดยเข้าไปที่หัวข้อ  Settings > Bluetooth  แล้วมองมาที่ Device กดเลือกที่หัวข้อ SRS-BTX300 จนขึ้นสถานะเป็น Connected ครับ แต่การใช้บน iOS จะไม่สามารถเลือกการปรับแต่งได้เท่ากับ Android นะครับ
แต่เอาเถิด..คุณสมบัติหลักๆ เราก็ใช้กันแค่การส่งสัญญาณเสียงไปที่ลำโพงนี่แหล่ะ
photo

 

ที่ด้านบนขวามือ จะมีปุ่มควบคุม 3 อย่าง คือ…

sony20131110_103002
1.ปุ่มรับสายโทรศัพท์ อ่านไม่ผิดหรอกครับ  คือลำโพงสามารถทำหน้าที่เป็น Speaker Phone ได้ด้วย

2.Volume ปรับลดระดับเสียง แต่การใช้งานจริงแล้วเราปรับลดระดับความดังเบาของเสียงที่เครื่องโทรศัพท์สะดวกกว่ามากครับ ไม่ต้องเอื้อมมือมาอะไรขนาดนั้น ไหนๆ ก็ใช้แบบไร้สายแล้วนี่

3.Lock Release เป็นปุ่มปลดล็อคขาตั้งรูปตัว V ที่อยู่ด้านข้าง ซึ่งเราต้องทำการปลดล็อค เพื่อจะเข้าถึงปุ่มควบคุมการทำงาน และเปิดปิดลำโพงครับ

sony20131110_103457
หลังจากที่ดันปุ่มปลดล็อคแล้วกางขาออกมา ก็จะเห็นปุ่มซ่อนไว้ด้านข้าง ซึ่งก็เป็นการออกแบบที่ประหยัดพื้นที่ และจัดระเบียบการจัดวางได้ดีน่าดู

แต่ละปุ่มมีการทำงานอะไรกันบ้าง มาดูกันครับ

  • Power จะเป็นปุ่มด้านล่างสุด และใหญ่ที่สุด สำหรับเปิดปิดเครื่อง
  • Bluetooth Pairing สำหรับแสดงสถานะ และทำการจับคู่กับโทรศัพท์ แต่จากการใช้งานจริงแล้ว ถ้าเราเปิดสวิทช์ Bluetooth ที่ด้านหลังลำโพงทิ้งไว้ ปุ่มตัวนี้ไม่ต้องไปกดเลยก็ยังได้ครับ
  • Audio In สำหรับสลับการใช้งานไปแบบมีสาย
  • Sound คือลำโพงตัวนี้ มีชุดเสียงให้เลือก 2 แบบครับ คือ – สีแดง จะเป็น Mega Bass ซึ่งจะเป็นเสียงแบบนี้มาตั้งแต่ค่าโรงงาน – สีเขียว จะเป็น Mega Bass และ Surround สำหรับฟังเอาสนุก ชอบอะไรตู้มต้ามแบบเสียงพุ่งๆ  มีหางเสียงแหลมติดปลายหน่อยๆ จากที่ทดสอบมา โหมดนี้ฟังสนุกสุด แต่เราก็สามารถเลือดปิดโดยการกดสลับไปเรื่อยๆ นะครับ เผื่ออยากจะฟังเสียงแท้ๆ แต่มันจะแห้งนิดนึง

[divider]

สิ่งที่ติดมากับลำโพง Sony SRS-BTX300 มีแค่สองอย่างนี้ครับ  คือมี AC Adaptor  และซองใส่ลำโพงแบบนิ่มหนึ่งชิ้นสำหรับใส่ป้องกันลำโพงเวลาพกพาไปไหนมาไหน

sony20131110_102518

หยิบกล่องลำโพงขึ้นมาสำรวจนิดนึง..เห็นแผงตรงกลางมั้ย ผมให้เวลาทายกันนิดนึงว่าคืออะไร พอดีมีคนแถวๆ นี้ดันทายว่าเป็นแผง NFC!?   ห๊ะ…มันใช่ที่ไหน ใครจะเอา NFC ไปวางข้างดอกลำโพงกันเล่า! ถึง Sony ไม่ได้เขียนกำกับ เราก็จะเฉลยครับ

sony20131110_102145

คนส่วนใหญ่จะจินตนาการดูเอาจากแค่ภายนอกว่า มันต้องมีแค่ลำโพงคู่  2 ข้างแน่ๆ  แถมไม่มีโพรงของเสียงแบบลำโพงที่คนคุ้นกัน เสียงเบสคงไม่มีสินะ คือจะบอกว่าที่กลางลำโพงของ  Sony SRS-BTX 300   มี “Passive Radiator” อยู่ครับ ก็แผงที่เห็นระหว่างดอกลำโพงนี่แหล่ะ
คนทั่วไปผมมั่นใจว่าต้องมีงองู 2 ตัวอยู่บนหน้าแล้วสงสัยว่า  Passive Radiator คืออะไร ผมเล่าแบบสั้นๆ ก็แล้วกัน Passive Radiator มันจะเป็นแผ่นไดอาแฟรม  ที่มีการผลักอากาศออกมาเพื่อเสริมเสียงในย่านต่ำ และไล่หลังเพื่อให้เกิดหางของเสียง
พอจะเข้าใจแล้วใช่ไหมครับ ว่าเบื้องหลังระบบเสียง Surround ที่มีให้ในโหมดนั้นมันมีอะไรอยู่เบื้องหลัง

ส่วนที่เขียนบนกล่องว่า  S –Master และ DSEE มันคืออะไรล่ะ?

Sony ดูจะมีภาษีกว่าเจ้าอื่นนิดหน่อย ตรงที่มีการผลิตสินค้าเพื่อความบันเทิงสำหรับผู้ใช้ในตลาด Mass แบบครบวงจร ฉะนั้นเทคโนโลยีที่ Sony มีใช้กับเครื่องเล่น MP3 และ  Digital Home Theater  ก็จะถูกย่อลงมาใส่ในนี้ด้วย

 เทคโนโลยีการชดเชยคุณภาพเสียง DSEE 

ในเครื่องเล่น MP3 ของ Sony จะมีเทคโนโลยีตัวนึงที่ชื่อว่า  DSEE  ซึงย่อมาจาก Digital Sound Enhancement Engine เป็นเทคโนโลยีเฉพาะของ Sony สำหรับการชดเชยเสียงสำหรับไฟล์ที่ถูกบีบอัด คือในเพลงที่เราฟังแบบรูปแบบ MP3 นั่นเพื่อทำให้ขนาดไฟล์เล็กลง จะมีการลดทอนบางย่านความถี่ ที่มนุษย์เราไม่ค่อยได้ยินนักออกไป เพื่อทำให้ขนาดไฟล์นั้นเล็กลง DSEE จะมาช่วยเติมตรงที่ย่านความถี่สูงๆ  แต่ทั้งนั้นทั้งนี้ DSEE จะไม่มีผลกับไฟล์ที่ถูกบีบอัดมาแล้วด้วยคุณภาพที่สูงอยู่แล้ว วิทยุ วิดีโอนะครับ

 เทคโนโลยีในการการรักษาคุณภาพเสียง S-Master

สำหรับคนที่ใส่ใจคุณภาพเสียงจริงจัง จะสนในปัจจัยในการเชื่อมต่อตั้งแต่ระบบไฟ  เส้นทางเชื่อมต่อจากแหล่งเสียงจนถึงลำโพง รวมไปถึงภาคขยาย

44
ดูจากภาพนะครับ เมื่อเราส่งสัญญาณเสียงจากต้นกำเนิดเสียง ตัวเสียงเข้าสู่ส่วนรับ DSP (Digital Sound Processing) จะต้องผ่านภาคขยาย ซึ่งนั่นก็คือ S-Master  เพื่อให้ลดความผิดเพี้ยนของสัญญาณจาก Amplifier ก่อนที่จะส่งไปยัง ลำโพง

[divider]

สรุปท้ายรีวิว

ผมลองหยิบเพลงแนว  Metal, Jazz, Electronic  ไล่ฟังอยู่หลายชั่วโมง จนได้ข้อสรุปสั้นๆว่า ถ้าใครเคยฟังชุด mini Component ของ Sony  หรือเดินไปลองฟังที่แผนกเครื่องเสียง และเครื่องใช้ไฟฟ้ามาก่อนหน้าก็แนวๆนั้นล่ะครับ เสียงเดิมๆ ของลำโพงสไตล์  Sony จะออกตู้มต้าม ฟังสนุกแบบไม่เน้นโปร่ง กรุ๊งกริ๊ง คือทำมาเผื่อสำหรับดูหนัง ฟังเพลง เล่นเกมผ่านโทรศัพท์ สำหรับคนที่ต้องการอรรถรสทางเสียงที่ดีขึ้น

แต่ถ้าความต้องการในการซื้อมา คือเน้นไปที่การฟังเพลงแล้วล่ะก็ ลองปรับ EQ ที่โทรศัพท์ ดีๆ จะเริ่มมีแหลมติดปลาย กลางพุ่ง และเบสลงลึกชัดขึ้นมาประมาณนึง

แต่ก็อย่างที่บอกไป คือเป็นลำโพงสำหรับ Entertain นะครับ  ถ้าโจทย์ในใจคือซื้อมาตั้งร้านกาแฟ เอาไปเปิดเบาๆ เวลาท่องเที่ยว  ซื้อเอาไปซ้อมเต้น ซื้อเอาไปฟังเพลงดูหนังเล่นเกมในห้อง  แล้วกันงบไว้ห้าหกพัน ราคาของ Sony SRS-BTX300 อยู่ 5,990 บาทครับ นี่ก็เป็นตัวเลือกที่ไม่เลวนักเมื่อเทียบกับคู่แข่งในตลาดในราคาไล่เลี่ยกัน ที่ทำมาเพื่อใช้ในห้องนั่งเล่น ห้องนอน มากกว่าทำเพื่อพกพานอกสถานที่แบบ  Sony SRS-BTX300  จะเสียเงินทั้งทีดูที่ประโยชน์ใช้สอยหลากหลายดีกว่ามั้ยครับ

sony20131110_103409

 

[gradeA]

profile

Jetboat : นักเขียน / ผู้ทดสอบ

Twitter @ Jetboat26

 

แชร์
Avatar photo

ในสิ่งที่เรารู้และเข้าใจ มันก็ยังมีระดับความลึกของความเข้าใจที่แตกต่างกัน ลึกบ้าง บางบ้าง แต่ประโยชน์ในการส่งผ่านสิ่งที่รู้ออกไปให้กับผู้อื่นนั้นไม่ต่างกัน มีประถม มีมัธยม มีอุดมศึกษา ไม่มีใครเริ่มต้นเรียนรู้จากในระดับปริญญา ฉะนั้นจะมากจะน้อยเชื่อเถอะว่า ความรู้ของทุกคนมีประโยชน์ให้กับผู้อื่นได้ เท่าๆ กัน

Advertisement
Exit mobile version