Advertisement

รู้สึกไหมครับ? ว่าคนไทยทุกวันนี้อ่านหนังสือน้อยลง ทั้งที่เป็นตัวหนังสือจริงๆ และเนื้อหาออนไลน์ต่างๆ เมื่อก่อนคำว่า “คนไทยอ่านหนังสือไม่เกินปีละ 7 บรรทัด” มันอาจเป็นแค่คำด่ากันในสื่อออนไลน์ต่างๆ ในเชิงประชดประชัน แต่เอาเข้าจริง มันก็เหมือนเราโดนมนต์สะกดให้ยอมรับและทำตัวกันแบบนั้นไปกันหมด ตอนแรกอาจเป็นคำด่า แต่พักหลังดูเหมือนมันจะกลายเป็นคำปลอบใจไปแล้ว “หน่า…ไม่ใช่เราคนเดียวหรอกที่อ่านหนังสือน้อย คนส่วนใหญ่มันก็ไม่อ่านเหมือนกัน” “ทุกวันนี้ไม่จำเป็นต้องอ่านหรอก อยากรู้อะไร, Google ตอบได้หมด”  และอื่นๆ อีกมากมาย แล้วการอ่านมันยังจำเป็นอยู่ไหมนะ? การอ่านให้อะไรเราบ้าง?

Screenshot (220)

Advertisement

สำหรับคนที่คลิกเข้ามาอ่านบทความนี้ผมเชื่อว่ามีพื้นฐานการอ่านอยู่พอสมควรแล้วหละ สำหรับคำถามข้างต้นคงรู้อยู่แล้วว่า ไม่ว่าจะกี่ยุคกี่สมัยการอ่านมันก็ยังมีความจำเป็นอยู่มากมาย มันไม่ใช่แค่อ่านเพื่อเสพข้อมูลอย่างเดียว แต่การอ่านจะช่วยให้เราได้เรียนรู้โลกในทุกๆ มิติ ผ่านตัวหนังสือ เรียนรู้ประสบการณ์ของผู้อื่นที่ได้พบเจอมาแล้วถ่ายทอดผ่านตัวหนังสือให้เราได้อ่าน จนมีการเปรียบเทียบที่เถียงกันไม่จบ ว่า “เดินทางหมื่นลี้ อ่านหนังสือหมื่นเล่ม คบมิตรสหายหมื่นคน แบบไหนดีกว่ากัน?”

ใช่ครับ แม้การอ่านเพื่อเรียนรู้ประสบการณ์คนอื่นจะไม่สู้เราออกไปหาประสบการณ์เอง แต่ขอถามเถอะครับว่า ตลอดช่วงชีวิตของการเรียนรู้ของมนุษย์ 1 คน ยังไงประสบการณ์การที่ได้ก็ไม่เกินประสบการณ์ของมนุษย์ 1 คนหรอก แต่หากเรารู้จักการอ่าน แม้หนังสือ 1 เล่ม จะเรียนรู้ประสบการณ์ได้แค่ 0.1 ของประสบการณ์จริง ยังไง 1 + 0.1 = 1.1 มันก็มากกว่า 1 อยู่ดี? และเมื่อเราอ่านมากๆ พร้อมเรียนรู้ประสบการณ์จริงมากๆ เข้าทักษะและประสบการณ์ของเราก็จะเหนือกว่าคนอื่นๆ “เดินทางหมื่นลี้ อ่านหนังสือหมื่นเล่ม คบมิตรสหายหมื่นคน” คือสิ่งที่เราควรทำทั้งหมด  หากเราทำได้ความสำเร็จในชีวิตมันไม่ยากเลยครับ

การอ่าน สวนทางกับ การเขียน อย่างไร?

สำหรับคนที่อ่านบทความมาจนถึงตรงนี้แล้ว ผมว่าผ่านแล้วหละครับ แม้บางคนอาจไม่ได้ชอบอ่านหนังสือมากมาย แต่เราก็มีภูมิคุ้มกันในการเสพเนื้อหาออนไลน์ในทุกวันนี้ โดยเฉพาะการเสพเนื้อหาผ่านสื่อสังคมออนไลน์อ่าน Facebook ที่คนอ่านน้อยลง อ่านแค่หัวข้อก็สรุปใจความสำคัญทั้งหมด ตรงข้ามกับการเขียนทุกวันที่ ที่หัวข้อแทบไม่เกี่ยวอะไรกันเนื้อหาเลย คนเขียนตั้งใจเขียนหัวข้อข่าวหรือบทความให้มีประเด็นที่น่าสนใจ เพื่อดึงดูดให้คนคลิกเข้าไปอ่าน หรือแม้ไม่อ่านก็ให้คนกด Like, Comment และ Share เท่านี้ Fan page ผู้เขียนก็ได้ประโยชน์แล้ว โดยไม่มีจิตสำนึกของการเขียนเพื่อผู้อ่านอยู่เลย ประกอบกับทุกวันนี้ผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือออกโปรโมชั่นใช้งาน Facebook ฟรี แต่ห้ามคลิกลิงค์ต่างๆ ออกไปเด็ดขาดไม่งั้นเสียเงินค่าเน็ตแน่ๆ !! สิ่งเหล่านี้ทำให้ปัญหาต่างๆ เกิดขึ้นได้ง่ายๆ ไม่ชวนให้เกิดการอ่านเพื่อเรียนรู้สิ่งต่างๆ เลย … เราจะโทษใครดี? คนอ่านที่มักง่าย คนเขียนที่มักได้ Facebook ที่ไม่ใส่ใจ หรือใครสักคนที่เราอยากโยนความรับผิดชอบให้?

computer_and_book_2400_1100_65_s_c1

เราจะทำอะไรได้บ้าง?

คำถามเมื่อกี้นี้ไม่ต้องสรรหาคำตอบหรอกครับ ไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย! เรามาดูกันว่าเราทำอะไรได้บ้างดีกว่า?

สำหรับผู้เขียน: ปัญหาแรกตอนนี้ ก็คือ การพาดหัวข้อข่าวหรือบทความที่ไม่ตรงกันเนื้อหา เขียนหัวข้อให้เร้าใจให้คนคลิกเข้าไปอ่าน บอกเลยว่ากลุ่มคนที่เราหลอกล่อได้เขาก็ไม่ยอมคลิกอยู่ดีครับ และหัวข้อของเราก็อาจทำให้เขาเข้าใจผิดมากขึ้น เกิดคนโง่มากขึ้น สร้างปัญหามากขึ้น ไม่มีอะไรน่าอภิรมย์เลย สู้เราพาดหัวข้อข่าวหรือบทความให้ชัดเจน เขาก็จะกด Like, Comment และ Share ตามความเข้าใจของเขาจริงๆ เราจะได้สร้างคนที่รักเราจริงๆ ขึ้นมาได้ ส่วนคนที่สนใจข่าวหรือบทความนั้นๆ ก็จะคลิกเข้าไปอ่านเพิ่มเติม เราก็จะได้แฟนเพจหรือผู้ติดตามที่มีคุณภาพมากขึ้น ลองนึกดูหากเราพาดหัวคนละอย่างกับเนื้อหา กลุ่มคนเหล่านี้พานจะนึกตำหนิเราจนทำให้เรากลายเป็นสื่อไร้คุณภาพ ปัญหาต่อมาก็คือ ทักษะในการเขียน เรื่องนี้แม้เราไม่ได้เรียนด้านการเขียนมาโดยตรง เราก็สามารถเพิ่มพูนทักษะนี้จากการอ่านให้มากๆ เมื่อเราอ่านมากๆ แล้ว เราก็จะซึมซับวิธีการเขียนที่ดีได้โดยอัตโนมัติ ซึ่งตัวผมเองก็ยอมรับเลยว่าผมยังต้องพัฒนาอีกมากเช่นกัน

สำหรับ Facebook: เขาทำเต็มที่แล้วครับ มีเครื่องมือมาให้เราใช้งานมากมาย แต่เราไม่ใช้มันเอง ตัวอย่างเครื่องมือที่ผมใช้อยู่เป็นประจำ นั่นคือ “Save link” เหมาะสำหรับการบันทึกลิงค์ที่เราเห็นในหน้า News feed ที่น่าอ่าน น่าสนใจ แต่เรายังไม่สะดวก อยากเก็บไว้อ่านทีหลัง เราก็คลิกไปที่ มุมด้านบนขวาของเรื่องนั้นๆ แล้วกดปุ่ม “Save link” ได้เลย และเมื่อเราสะดวกหรือว่างๆ พร้อมที่จะอ่านเรื่องราวที่น่าสนใจผ่าน Facebook เราก็มองไปที่เมนู FAVORITES แล้วจะมีเมนูย่อย Saved อยู่ ในเมนูนี้ก็จะมีลิงค์ต่างๆ ที่เรากดบันทึกเอาไว้ครับ นอกจากนี้ในอนาคต Facebook ก็จะทยอยออกฟังก์ชันการใช้งานบน Facebook ที่สนับสนุนการอ่านมากขึ้นเรื่อยๆ ตัวอย่างเช่น เปิดให้ผู้เขียนสามารถเขียนบทความต่างๆ ใน Facebook ได้แบบเต็มๆ ใส่รูปภาพ ใส่เนื้อหา และอื่นๆ ได้ไม่แพ้บนเว็บไซต์ต่างๆ ทีนี้ผู้อ่านก็ไม่ต้องคลิกลิงค์เพื่อออกไปอ่านข้างนอกแล้ว โปรโมชั่นฟรี Facebook และสังคมออนไลน์อื่นๆ ก็จะมีประโยชน์ต่อการอ่านมหาศาลเลยครับ ส่วนตัวผมมองว่าความสามารถนี้ของ Facebook จะส่งเสริมการอ่านเนื้อหาออนไลน์ได้มากขึ้นครับ

Photo 20150423153700524

สำหรับเว็บบราวเซอร์: ทุกเว็บบราวเซอร์ต่างก็มีฟังก์ชันสำหรับส่งเสริมการอ่านให้เราอยู่แล้ว ตัวอย่างเช่น internet explorer จะมีโหมดสำหรับการอ่านโดยเฉพาะ และก็สามารถบันทึกหน้าเว็บต่างๆ เก็บเอาไว้อ่านทีหลังได้ ซึ่ง Google Chrome เช่นกัน  แถมมีส่วนขยายให้เราติดตั้งเพื่อเก็บเนื้อหาต่างๆ เอาไว้อ่านทีหลังได้ อย่างเช่น TimetoRead เป็นต้น

สำหรับสมาร์ทโฟน: แอพพลิเคชั่นที่ส่งเสริมการอ่านอยู่อยู่มากมายครับ ทั้ง IFTTT, Pulse และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งแอพฯ ประเภทนี้มีอยู่ทั้ง iOS, Android, Windows Phone และอื่นๆ

[quote]สำหรับผู้อ่าน: … คิดเอาเอง!![/quote]

read-new-york-times-free1

แชร์
Avatar photo

อาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ที่มีความสุขที่ได้ส่งต่อความรู้ให้คนอื่น ไม่อยากจำกัดเฉพาะนักศึกษาตัวเอง จึงได้ลงมือเขียนสิ่งที่ตนเองรู้ลงในเว็บไซต์ AppDisqus แห่งนี้ ด้วยความสุขและยินดีที่ได้เป็นส่งต่อและรับความรู้เพื่มจากผู้อ่าน มันช่างเป็นสถานที่แห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่ดีจริง ๆ //ขอบคุณ AppDisqus นะครับ

Advertisement
Exit mobile version