วันจันทร์, เมษายน 29
Advertisement

เป็นข่าวที่มีการพูดถึงพอสมควรครับ กับการยุติการสนับสนุนระบบปฏิบัติการ Windows 8 ของ Microsoft ในวันที่ 12 มกราคม 2559 นี้

ซึงจากข่าวนี้ ทำให้ผู้ใช้งานหลายๆคนเกิดคำถามว่า ทำไม? เพราะอะไรอยู่ๆ Microsoft เลิกสนับสนุน? Windows 8 โดนลอยแพหรือ?

Advertisement

บทความนี้น่าจะช่วยไขข้อข้องใจ และคลายความกังวลของเพื่อนๆได้ครับว่า ความเป็นจริงแล้ว มันไม่ได้ร้ายแรงขนาดนั้น เป็นแต่เหตุการณ์ปกติเอามากๆเสียด้วยซ้ำ ลองมาอ่านกันครับ

win8 lead

 

ช่วงเวลาการสนับสนุน (support) ผลิตภัณฑ์ของ Microsoft

ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจเงื่อนไขการสนับสนุนผลิตภัณฑ์ของ Microsoft กันก่อน (อ้างอิงจาก: Microsoft Support LifeCycle)

ปกติแล้ว หากเป็นระบบปฏิบัติการสำหรับผู้ใช้งานทั่วไป (Consumer product) ของ Microsoft อย่าง Microsoft Windows นั้น ทาง Microsoft จะตั้งเวลาสำหรับการสนับสนุนระบบของตัวเองเป็นเวลา 10 ปี โดยจะแบ่งระยะเวลาการสนับสนุนออกเป็น 2 ช่วงคือ

  • Main stream support: จะมีการพัฒนาฟีเจอร์ใหม่ๆ อัพเดทออกมาให้กับผู้ใช้ได้อัพเดทกันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการสนับสนุนนี้จะมีระยะเวลา 5 ปีหลังระบบปฏิบัติการนั้นๆวางจำหน่าย หรืออาจจะมีระยะเวลาแค่ 2 ปี หากมีเวอร์ชั่นใหม่ของระบบปฏิบัติการรุ่นนั้นๆออกมา (N+1) ขึ้นอยู่กับว่าเงื่อนไขใดมาถึงก่อน
  • Extended support: ช่วงนี้จะไม่มีการปล่อยฟีเจอร์ใหม่ๆออกมาอีกแล้ว แต่จะเป็นการอัพเดทระบบเพื่อแก้ไขบั๊คหรืออุดช่องโหว่ด้านความปลอดภัยที่รุนแรง (Security update) หากผู้ใช้ต้องการการสนับสนุนหรือบริการหลังการขาย อาจจะต้องจ่ายเงินเป็นกรณีไป
    เช่นเดียวกับ Main stream support ระยะเวลาของการสนับสนุนแบบนี้ก็จะมีเวลา 5ปีหลังจาก Main stream support สิ้นสุดลง หรือว่า 2 ปี หากมีเวอร์ชั่นใหม่กว่าของระบบปฏิบัติการรุ่นนั้นๆวางจำหน่าย (N+2)

คำว่าเวอร์ชั่นใหม่กว่า เมื่อก่อนเราอาจจะคุ้นเคยกับคำว่า Services pack ซึ่ง Windows 8.1 เอง ก็เปรียบเสมือนกับ Services pack ของ Windows 8 นั่นเอง

 

อ่านแล้วงง? มาดูกรณีของ Windows 8 กัน

สำหรับ Windows 8 นั้น เริ่มวางจำหน่ายเป็นทางการเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2012 เพราะฉะนั้น หากเรามองเงื่อนไขการสนับสนุนปกติของ Microsoft แล้ว Main stream support ของมันก็จะหมดในช่วงปี 2018 และ Extended support ก็จะหมดในต้นปี 2023 พอดี และนั่นก็ครบกำหนดที่ Microsoft วางนโยบายเอาไว้แต่แรก

แต่ต้องไม่ลืมว่า Microsoft ปล่อย Windows 8.1 ออกมาในช่วงวันที่ 13 พฤศจิกายน 2013 นั่นทำให้ Windows 8 เข้าเงื่อนไขที่ว่าจะสิ้นสุดการสนับสนุน 2 ปีหลังจากที่เวอร์ชั่นใหม่ของระบบปฏิบัติการนั้นๆวางจำหน่ายอย่างเป็นทางการทันที

นี่คือที่มาของข่าว การสิ้นสุดการสนับสนุน Windows 8 ในวันที่ 12 มกราคม 2016 ที่จะถึงนี้ (ปลายปี 2013 ที่ Windows 8.1 วางตลาด บวกไปอีก 2 ปี) แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า Windows 8 ถูกทิ้ง แต่มันเข้าเงื่อนไขปกติของ Microsoft ต่างหาก และ Windows 8 ก็จะยังคงอยู่ต่อไปในนาม Windows 8.1

ระยะเวลาการสนับสนุน Windows 8 ที่ประกาศไว้ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา
ระยะเวลาการสนับสนุน Windows 8 ที่ประกาศไว้ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ข่าวที่พูดถึงกันตอนนี้คือ การหยุดสนับสนุนภายใต้เงื่อนไข “Services pack support end date”

และ Microsoft ก็ประกาศเรื่องนี้เอาไว้ชัดเจนที่หน้าเว็บไซต์ของตัวเอง ซึ่งได้รับการอัพเดทอย่างต่อเนื่อง และข้อมูลนี้ก็ถูกเผยแพร่ตั้งแต่เมื่อวันที่ 22 มิถุนายนปีที่ผ่านมา

 

แล้ว Microsoft ทิ้ง Windows 8 จริงหรือ? Windows 8 ไม่ได้ไปต่อแล้วหรือ?

ก็ตอบได้ว่า ทั้งใช่ และทั้งไม่ใช่ครับ

เพราะหากเพื่อนๆอ่าน 2 ย่อหน้าที่แล้วมา ก็จะเห็นแล้วว่ามันเป็นเรื่องปกติและเป็นไปตามธรรมเนียมปฏิบัติของ Microsoft อยู่แล้ว ระบบปฏิบัติการรุ่นก่อนหน้านั้นก็ถูกปฏิบัติมาแบบเดียวกันนี้ (Windows 7 เองก็ได้รับการสนับสนุนแบบเดียวกัน) เพราะฉะนั้นจะกล่าวว่า Microsoft ทิ้ง Windows 8 ไป ก็ไม่ถูกเสียทีเดียว

เพราะการสนับสนุนของ Windows 8 จะถูกให้บริการผ่าน Windows 8.1 ที่เป็นเวอร์ชั่นใหม่กว่า และจะได้รับการสนับสนุนรวมๆแล้วเป็นเวลาถึงกว่า 6 ปีนับจากนี้ (ถึงปี 2023)

แต่ถ้าบอกว่าไม่พัฒนาต่อแล้ว ก็คงไม่ผิด เพราะตอนนี้ Microsoft เองก็มีระบบปฏิบัติการรุ่นใหม่กว่าอย่าง Windows 10 และมีแผนจะปล่อยอัพเดทใหญ่อย่าง Redstone ออกมาเร็วๆนี้ เพราะฉะนั้นทิศทางของ Microsoft ก็แน่นอนว่าจะทุ่มพัฒนาระบบรุ่นใหม่มากกว่าการสนับสนุนระบบรุ่นเก่า (แต่การสนับสนุนและบริการหลังการขายก็ยังคงตามเงื่อนไขที่ระบุมาข้างต้น)

 

จะยังอยู่เวอร์ชั่นเดิมทำไม ถ้ามีทางเลือกที่ดีกว่ามากมาย?

เชื่อว่าผู้ใช้ Windows 8 อยู่ อาจจะงงๆว่า แล้วจะทำยังไงต่อ? ความเป็นจริงแล้ว ไม่ยากเลยครับสำหรับผู้ใช้ Windows 8 เพราะทางเลือกของคุณมีมากมาย แถมทางเลือกแทบทั้งหมดก็ฟรีเสียด้วย ไม่ว่าจะเป็น

ทางเลือกที่แนะนำ:

อัพเกรดเป็น Windows 8.1 ฟรี: นี่เป็นทางเลือกที่ง่ายที่สุด หากคุณยังคุ้นเคยกับ Windows 8 และความเป็นจริงแล้ว Windows 8.1 เป็นระบบปฏิบัติการที่ดีกว่า Windows 8 ทุกด้าน ได้รับการปรับปรุงเรื่องที่แฟนๆบ่นกันไปเพียบแล้ว….แล้วทำไมคุณถึงไม่อัพเกรดไปเสียล่ะ? แนวทางนี้คุณจะได้รับการสนับสนุนไปจนถึงปี 2023 และแอพของ Windows 8 ก็ใช้งานได้บน Windows 8.1 ทั้งหมด

อัพเกรดเป็น Windows 10 ไปเลย..ฟรีเช่นกัน: Microsoft เปิดให้แฟนๆที่ใช้ Windows 8 และ 8.1 อัพเกรดเป็นระบบปฏิบัติการเวอร์ชั่นล่าสุดได้ฟรี….ฟรี!!! แล้วทำไมเราถึงจะไม่อัพเกรดกันล่ะ? และเราจะได้รับการสนับสนุนยาวๆไปถึงปี 2025

ระยะเวลาการสนับสนุนของ Windows 10
ระยะเวลาการสนับสนุนของ Windows 10

 

ทางเลือกที่ไม่แนะนำ แต่จะทำก็ได้

ดาวน์เกรดไปใช้ Windows 7: ถ้าเราเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ Windows 8 แท้ เราก็สามารถดาวน์เกรดไปใช้ระบบปฏิบัติการเวอร์ชั่นก่อนหน้าได้เช่นกัน แต่เมื่อดาวน์เกรดไปแล้ว เราก็ต้องอัพเดท Services pack ของ Windows 7 ให้เป็นเวอร์ชั่นล่าสุดด้วย เพราะความเป็นจริงแล้ว Windows 7 พ้นช่วง Mainstream support ไปตั้งแต่ต้นปี 2015 ที่ผ่านมา เพราะฉะนั้นตอนนี้ Windows 7 อยู่ในช่วง Extended support ที่จะได้รับการสนับสนุนเพื่อแก้ไขบั๊คอย่างเดียว ต่อไปจนถึงปี 2020 (ตามเงื่อนไขการสนับสนุนปกติของ Microsoft)

ระยะเวลาการสนับสนุนของ Windows 7
ระยะเวลาการสนับสนุนของ Windows 7

 

ไม่อัพเกรด…แล้วจะใช้งานต่อได้มั้ย

หากคุณไม่อยากอัพเกรดระบบปฏิบัติการของคุณเลย ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด…คำตอบคือคุณสามารถใช้งานระบบปฏิบัติการ Windows 8 ที่ซื้อมาแล้วได้ต่อไป ไม่มีเงื่อนไข เพียงแต่ช่องโหว่ร้ายแรงในระบบปฏิบัติการของคุณจะไม่ได้รับการแก้ไขอีก หากเลยช่วงเวลาการสนับสนุนไปแล้วเท่านั้น ซึ่งเราก็ต้องรับความเสี่ยงนี้เอง….เพราะเราเลือกที่จะไม่อัพเกรด

แต่อัพเกรดฟรีนะ….ทำไมถึงจะไม่อัพเกรดล่ะ? ของใหม่ ยังไงก็ดีกว่า

 

สรุปแล้ว…Microsoft ทิ้ง Windows 8 มั้ย? Windows 8 โดนลอยแพหรือเปล่า?

ถ้าเพื่อนๆอ่านมาจนถึงตอนนี้แล้ว คงได้คำตอบแล้วนะครับ

แล้วข่าวนี้ร้ายแรงมั้ย? ผมว่าเพื่อนๆก็น่าจะได้คำตอบแล้วเช่นกัน….บอกได้คำเดียวเลยว่า เรื่องเล็กน้อยมากๆเลย

แชร์
Avatar photo

Geek มือใหม่ อ่านข่าว IT เป็นกิจวัตร ใช้งานมือถือมาหลายระบบ แต่ตอนนี้ลงหลักปักฐานกับ windows phone…

Advertisement
Exit mobile version