Advertisement

 microsoft-nadella-build (1)

 

Advertisement

ในที่สุดข้อตกลงการซื้อขายกิจการของ Nokia และ Microsoft ก็จะสิ้นสุดลงในวันที่ 25 เมษายนนี้แล้ว หลังจากที่เริ่มกระบวนการโอนกิจการตั้งแต่เดือนกันยายน ซึ่งถือว่าเป็นการโอนกิจการที่ใช้เวลานานถึง 8 เดือน สาเหตุที่มันยาวนานเช่นนี้ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะความกลัวของประเทศต่างๆ ต่อปัญหาการผูกขาดของบริษัทใหญ่ๆ ในโลกนี้ แต่ในที่สุดก็สำเร็จลงแล้วด้วยดีครับ

 

หลังจากการโอนกิจการสำเร็จจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง ?

จากที่หลายฝ่ายคาดการณ์และข่าวลือต่างๆ ที่ถูกปล่อยออกมาระบุถึงเหตุการณ์ที่น่าสนใจหลายอย่าง อย่างแรกก็คือความกังวลของธุรกิจสมาร์ทโฟนที่คิดว่าเมื่อ Nokia ที่ขายส่วนการผลิตและบริการไปให้ Microsoft ทั้งหมดแล้ว Nokia จะใช้สิทธิบัตรที่มีอยู่ในมือไล่บี้บริษัทผู้ผลิตสมาร์ทโฟนรายอื่นจนเดือดร้อนไปทั้งวงการ สาเหตุที่เพิ่งจะมากลัวเอาตอนนี้ เพราะว่าที่ผ่านมา Nokia ยังผลิตและจำหน่ายสมาร์ทโฟนอยู่ จึงได้ทำข้อตกลงกับบริษัทอื่นๆ เพื่อแลกเปลี่ยนสิทธิบัตรและเทคโนโลยี ถ้อยทีถ้อยอาศัยกันมาตลอด แต่หลังจากนี้ Nokia ที่ไม่มีการผลิตสมาร์ทโฟน พวกเขาก็ไม่ต้องแคร์ใครอีกต่อไปแล้ว

 

สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะสำหรับผู้ใช้ที่ชื่นชอบ NOKIA มาโดยตลอด ก็คือ มีข่าวลือออกมาว่า Microsoft จะไม่ใช่แบรนด์ “NOKIA” ในผลิตภัณฑ์ของตนเองแต่จะใช้แบรนด์ Microsoft แทน ? จริงเท็จแค่ไหนนั้น ต้องรอติดตามหลังจากนี้ครับ

 

ทำไม Microsoft ไม่เลือกใช้แบรนด์ NOKIA ?

ในการซื้อขายครั้งนี้ ข้อตกลงการซื้อขายได้ระบุเอาไว้ว่า Microsoft ได้สิทธิในการจัดการกับแบรนด์ NOKIA เป็นเวลา 10 ปี และ Microsoft ซื้อแบรนด์ ASHA และ LUMIA แบบขายขาด คำถามแรกที่ต้องการคำตอบ ก็คือ ทำไมไม่ซื้อแบรนด์ NOKIA แบบเบ็ดเสร็จหละ? หลายคนวิเคราะห์ว่า Microsoft ตั้งใจที่จะใช้แบรนด์ Microsoft ของตัวเองอยู่แล้ว แต่ในช่วงแรกๆ ต้องอาศัยแบรนด์ NOKIA สร้างชื่อและฐานลูกค้าให้ตัวเองเสียก่อน แล้วค่อยๆ แทรกความเป็น Microsoft เข้ามา … แต่ผมไม่เชื่อเช่นนั้น

 

ผมคิดว่า Microsoft มองการณ์ไกลมากกว่านั้น เขาไม่ได้คิดเพียงว่าจะผลิตสมาร์ทโฟนอย่างไรให้ขายได้ขายดี(เหมือนที่ Nokia ทำ) แต่คิดไปไกลว่าพวกเขาจะทำอย่างไรจึงจะเหนือกว่าคู่แข่ง ทั้ง Google, Apple หรือแม้แต่ Samsung ? ดังนั้นจะมัวมานั่งรอให้คนลืมแบรนด์ NOKIA และแทรกความเป็น Microsoft เข้าไปไม่ได้ ต้องเร็วและทันการณ์มากกว่านั้น เพราะคู่แข่งก็ดำเนินธุรกิจแบบไม่รอใคร ส่วนตลาดและเทคโนโลยีก็กำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว พวกเขารอไมได้อีกต่อไป นี่คือเหตุผลข้อที่หนึ่ง “ต้องเร็ว รอช้าไม่ได้อีกต่อไป”

 

ส่วนเหตุผลข้อที่สองนั้นเป็นการสนับสนุนเหตุผลข้อแรก นั่นคือ จะทำอย่างไรให้ธุรกิจสามารถเติบโตทันคู่แข่งได้อย่างรวดเร็ว ? จากการดำเนินธุรกิจของ Microsoft ที่ผ่านมาจะเห็นว่า พวกเขาเน้นการแข่งขันด้านซอฟแวร์และการบริการมากกว่าฮาร์ดแวร์ แม้ช่วงหลังจะทำ Surface ออกมาบ้าง แต่หลายคนก็มองว่าสาเหตุที่ทำ Surface ออกมาเพื่อกระตุ้น Windows RT และลองตลาดมากกว่าที่จะทำจริงจัง ด้วยเหตุผลเดียวกันนี้ เชื่อว่า Microsoft ซื้อ Nokia มาเพื่อพัฒนาและส่งเสริม Windows Phone มากกว่าที่คิดจะขายโทรศัพท์

 

การพัฒนาและส่งเสริมที่ว่านี้ ก็คือ การทำให้มีผู้ใช้งาน Windows Phone มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ สามารถเป็นคู่แข่งกับระบบปฏิบัติการ Android และ iOS ได้อย่างทัดเทียม การซื้อกิจการส่วนผลิตอุปกรณ์ของ Nokia มาก็จะช่วยทำให้ Microsoft สามารถผลิตสมาร์ทโฟนที่รันด้วย Windows Phone อย่างมีประสิทธิภาพและมีฐานลูกค้าของ Nokia มาช่วยเสริมอีกแรง เพื่อให้แบรนด์ใหม่นี้เป็นผู้นำทัพในสงครามครั้งนี้ได้ แต่อย่างไรก็ตาม การที่จะชนะสงครามได้นั้นต้องมีนักรบที่เข้มแข็งเป็นกำลังสำคัญในการรบด้วย หากจะปล่อยให้แบรนด์ NOKIA ครองตลาด Windows Phone อยู่เช่นเดิม ย่อมทำให้นักรบที่เข้มแข็งนั้นเกิดขึ้นมาไม่ได้ ตัวอย่างเช่น Samsung ATIV S หรือ HTC 8X ที่ถูกรัศมีของแม่ทัพอย่าง Nokia กลบไปหมด ไม่มีโอกาสได้เกิดเลย ด้วยเหตุนี้จึงต้องตัดแบรนด์ NOKIA ทิ้งไป เพื่อให้แบรนด์อื่นๆ สนใจและกล้าที่จะทำ Windows Phone ออกมาแข่งขันในตลาด เมื่อไม่มี NOKIA มาผูกขาดแล้ว ผู้ใช้ก็จะมีทางเลือกมากขึ้น และเปิดใจให้กับแบรนด์อื่นๆ มากขึ้น ผมเชื่อว่าหลายคนไม่เคยจับ HTC 8X หรือ Samsung ATIV S เลย และไม่สนใจด้วย จึงไม่รู้ว่ามันเจ๋งกว่า Nokia Lumia ในหลายๆ ด้าน

 

หากนี่มันคือแผนธุรกิจ ก็ถือว่า เป็นแผนการที่ยอดเยี่ยม เริ่มตั้งแต่อาศัยฐานลูกค้าของ Nokia ในการทำตลาด Windows Phone จนลูกค้าของ Nokia ทุกคนใช้ Windows Phone กันหมด และค่อยๆ รักในความเป็น Windows Phone มากขึ้น แล้วก็ซื้อกิจการของ Nokia มาเป็นของตน แล้วสุดท้ายก็ตัดแบรนด์ Nokia ออกจากหัวใจของผู้ใช้ให้สิ้น เหลือแต่ความเป็น Windows Phone เท่านั้น แต่ตัดบัวยังเหลือเยื่อใย จะให้ตัดใจหมดก็เป็นไปได้ยาก Microsoft จึงแอบปล่อยเยื่อบางๆ ให้ลูกค้า Nokia ได้รำลึกถึงความหลัง ด้วยการซื้อแบรนด์ LUMIA และ ASHA มาด้วย ดังนั้นจึงสามารถคาดเดาได้ว่า หลังจากนี้สมาร์ทโฟนที่รันด้วยระบบปฏิบัติ Windows Phone จะมีแบรนด์หลักๆ ก็คือ Microsoft Lumia สำหรับตลาดบน และ Microsoft Asha สำหรับตลาดล่าง และขยายฐานลูกค้าให้มากกว่าเดิมด้วยการสนับสนุนแบรนด์ใหม่ๆ ที่จะมาทำ Windows Phone โดยใช้กลยุทธ์ต่างๆ มาล่อใจ ซึ่งมันจะเกิดได้ง่ายขึ้นเพราะแบรนด์ใหม่เหล่านี้ ไม่ต้องเกรงกลัวต่อ Nokia อีกต่อไป Windows Phone ของ Microsoft ในที่สุดก็จะสามารถเป็นคู่แข่งของระบบอื่นๆ ได้ ทั้งในแง่ความสามารถของระบบ(เห็นแววรุ่งใน Windows Phone 8.1 แล้ว) และด้านการตลาดที่ยอดเยี่ยม

 lumia_1820_logo

 

แบรนด์ Nokia จะกลับเข้ามาในตลาดสมาร์ทโฟนได้อีกหรือไม่ ?

MDF28415-03-09-2013-07-09-01-662

 

เมื่อผ่านไป 10 ปี ตามเงื่อนไขสัญญาแบรนด์ Nokia ก็อาจกลับมาทำสมาร์ทโฟนได้อีกครั้ง แต่ว่าเมื่อถึงตอนนั้น แบรนด์ Nokia ก็จะไม่เป็นความกังวลของ Microsoft อีกต่อไป  Nokia ต้องพัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยีขึ้นมาใหม่ หาลูกค้าใหม่ แทบจะเรียกได้ว่าเริ่มต้นจากศูนย์ และในตอนนั้นตลาดสมาร์ทโฟนก็คงไปไกลเกินกว่าที่เราจะจินตนาการได้แล้วครับ แต่หากมองในแง่ดี 10 ปี ก็ผ่านไปเร็วอยู่นะ แล้วถ้าวันนั้นมาถึง Nokia กลับมาทำสมาร์ทโฟนอีกครั้ง เพื่อนๆ คิดว่ามันจะเป็นอย่างไรบ้าง ?

 

แชร์
Avatar photo

อาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ที่มีความสุขที่ได้ส่งต่อความรู้ให้คนอื่น ไม่อยากจำกัดเฉพาะนักศึกษาตัวเอง จึงได้ลงมือเขียนสิ่งที่ตนเองรู้ลงในเว็บไซต์ AppDisqus แห่งนี้ ด้วยความสุขและยินดีที่ได้เป็นส่งต่อและรับความรู้เพื่มจากผู้อ่าน มันช่างเป็นสถานที่แห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่ดีจริง ๆ //ขอบคุณ AppDisqus นะครับ

Advertisement
Exit mobile version