วันพุธ, พฤษภาคม 15
Advertisement

หลังจากที่เราได้ทำคู่เมือการลงทุนคริปโตเคอร์เรนซี ที่เกี่ยวกับการวิจัย ค้นคว้าข้อมูล ก่อนการตัดสินใจลงทุนด้าน คริปโต – crypto ทั้งสองบทความไปแล้ว วันนี้เราจะมาดูคู่มือในส่วนสุดท้ายกัน

ส่วนที่ 4 ออกจากเว็บไซต์ทางการ ไปหาข้อมูลแหล่งอื่น ๆ

หลังจาก part 1-3 เราหาข้อมูลเฉพาะในเว็บไซต์ทางการของโปรเจคหรือเหรียญคริปโต ซึ่งล้วนเป็นข้อมูลที่ผู้พัฒนาเป็นคนให้เรามาเอง คราวนี้เราต้องออกจากกรอบนั้นแล้วหาข้อมูลจากแหล่งอื่น ๆ แล้ว เพื่อที่จะได้มองภาพให้ใหญ่มากขึ้น

Advertisement
  1. เปรียบเทียบสกุลเงินคริปโตที่เป็นคู่แข่งกัน
  • เหรียญที่เราสนใจมีคู่แข่งหรือไม่? เพียงค้นใน Google ได้เลยว่า “crypto in [industry]” และ “crypto [market] use case” หรือประโยคใกล้เคียงอื่น ๆ
  • ถ้ามีคู่แข่ง และมันแตกต่าง เราจะตัดสินใจลงทุนอย่างไร? ต้องพิจารณาว่าเหรียญเหล่านั้นเกิดขึ้นมานานแค่ไหน? แนวทางการพัฒนาในอนาคตเป็นอย่างไรเมื่อเทียบกับเหรียญที่เราศึกษาอยู่ ตัวอย่างรายการเหรียญคริปโตที่เป็นคู่แข่งกันในตลาด คือ Ethereum และ Ethereum Classic, ZCash และ ZCoin (Firo) เป็นต้น
  • ด้วยวิธีเหล่านี้ จะทำให้เรารู้ถึงความได้เปรียบและจุดอ่อนของโปรเจคที่เราศึกษาอยู่ รวมทั้งแง่มุมอื่น ๆ ด้วย ไม่แน่! เราอาจได้เจอกับโปรเจคดีๆ เพิ่ม ก็เป็นไปได้
  1. ค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมจากแหล่งภายนอก
  • ทุกข้อมูลของโปรเจคที่หาได้ก่อนหน้านี้ ต้องทำการตรวจสอบซ้ำจากแหล่งภายนอกให้รอบด้าน
  • การทำเช่นนี้ อาจทำให้เราพบกับข้อมูลที่ทีมพัฒนาโปรเจคไม่ต้องการให้เรารู้ก็เป็นได้ ตัวอย่างเช่น โปรเจคเคยถูกแฮกมาก่อนไหม? ถ้าเคย พวกเขาจัดการกับมันอย่างไร? ทีมบริหารโปรเจคใช้เงินอย่างฟุ่มเฟือยหรือไม่? เคยมีสมาชิกคนสำคัญในทีมออกจากโปรเจคหรือไม่? เป็นต้น
  1. สังคมออนไลน์ เป็นแหล่งข้อมูลของโปรเจคที่หาได้ง่ายและมีเยอะมาก

อันดับแรกก็ตรวจสอบก่อนเลยว่าบัญชีทางการมีการเคลื่อนไหวหรือไม่ และโพสเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับโปรเจคหรือไม่? สิ่งเหล่านี้บอกเราได้หลายอย่างเกี่ยวกับโปรเจคเลยครับ

  • ทีมงานเปิดช่องทางในสังคมออนไลน์ให้เราได้ติดตามข่าวสารของโปรเจคหรือไม่? อาจเป็นแฟนเพจ กลุ่มในเฟสบุค บัญชีทวิตเตอร์ และอื่น ๆ
  • ช่องทางหรือบัญชีในสังคมออนไลน์ข้างต้น มีการอัพเดตข้อมูลเกี่ยวกับโปรเจคอย่างต่อเนื่องหรือไม่?
  • การมีส่วนร่วมของผู้ใช้ในสังคมออนไลน์มีมากน้อยแค่ไหน? จะทำให้เราได้เห็นปฏิสัมพันธ์กันระหว่างผู้ใช้ ผู้ลงทุน และทีมงาน
  • ถามตัวเองว่ารู้สึกอย่างไร? ความเป็นมิตรและการช่วยเหลือกันมากน้อยแค่ไหน หรือพวกเขาสนใจกันแค่ราคาซื้อขายโทเคนหรือคริปโต
  • อย่างไรก็ตาม พึงระวังว่า ผู้ลงทุนคริปโตมักลงทุนตามอารมณ์ พวกมากลากไปได้ง่าย ดังนั้นการสิงอยู่ในสังคมออนไลน์ก็มีข้อเสียเช่นเดียวกัน ตัวอย่างเช่น แม้ช่วงนั้นจะมีข่าวร้ายเกี่ยวกับโปรเจค ในสังคมออนไลน์ก็จะมีพวกนำเสนอเรื่องดีในข่าวร้ายนั้น และเราก็มีโอกาสเชื่อตามได้ง่ายเพราะเราก็พยายามมองหาข่าวดีมาเข้าข้างการตัดสินใจของตัวเองเช่นกัน
  1. ตรวจสอบใน GitHub

โปรเจคคริปโตหลายตัวอ้างว่าเป็นโอเพนซอร์ส ดังนั้นทีมพัฒนาควรโพสโค้ดของตัวเองลงใน GitHub ลองเข้าไปตรวจสอบดูครับ แม้เราอาจอ่านโค้ดไม่เป็น เราก็สามารถดูรายละเอียดอื่น ๆ รวมทั้งการมีส่วนร่วมในโปรเจคนี้ของผู้คนใน GitHub มีมากน้อยแค่ไหน

  • ตัวนักพัฒนาเองเข้ามามีส่วนร่วมในโปรเจคไหม?
  • มีการอัพเดตโค้ดของโปรเจคล่าสุดเมื่อไหร่?

เมื่อทำมาถึงขั้นตอนนี้แล้ว ให้เรานำข้อมูลทั้งหมดที่รวบรวมมาจากหลายๆ แหล่ง เขียนเป็นข้อดีและข้อเสียของโปรเจคให้เห็นชัดเจน

ส่วนที่ 5 สำรวจวิธีซื้อ คริปโต และ โทเคน

มาถึงขั้นนี้ เราก็คงค้นพบคริปโตหรือโทเคนที่เป็นเพชรเม็ดงามแล้ว แต่จงระวัง! โปรเจคที่ดีที่สุดอาจไม่เป็นประโยชน์กับเราได้ หากเรื่องการเงินไม่ลงตัวกันกับเรา มาดูกันว่าเราต้องสำรวจอะไรบ้าง?

  1. ค้นหาว่าเราจะซื้อคริปโตหรือโทเคนของโปรเจคได้อย่างไร และซื้อจากที่ไหน?
  • สามารถซื้อคริปโตหรือโทเคนได้อย่างไร? กล่าวคือ เราสามารถซื้อได้จากกระดานซื้อขาย (เช่น Bitkub, Binance เป็นต้น) หรือต้องโอนเงินในการซื้อเหรียญ? หากเป็นการโอนเงินถือว่ามีความเสี่ยงสูงมาก เงินที่ลงทุนอาจสูญหายเนื่องจากปัญหาทางเทคนิค หรือ การฉ้อโกง ก็เป็นไปได้
  • สำหรับโปรเจคที่มาพร้อมกับ ICO หรือชื่อเต็มคือ Initial Coin Offering คือการระดมทุน แบบดิจิทัลด้วยการเสนอขาย ดิจิทัลโทเคน (digital token) (อ่านเพิ่มเติม) ระหว่างที่รอให้ลิสต์เข้ากระดานซื้อขาย เหรียญคริปโตหรือดิจิทัลโทเคนที่เราซื้อโดยตรงจากโปรเจค อาจยังไม่สามารถซื้อขายได้ไปสักระยะหนึ่ง ต้องถามตัวเองว่าเรารอมันได้ไหม?
  • เมื่อโทเคนหรือเหรียญลิสต์เข้ากระดานซื้อขายแล้ว เราต้องดูว่ากระดานซื้อขายเหล่านั้นเล็กเกินไปหรือไม่? เพราะถ้ากระดานซื้อขายเป็นเจ้าเล็กเกินไปมันก็มีความเสี่ยง ที่จะถูกแฮ็ก ล้มละลาย หรือเจ้าของหอบเงินหนี ก็เป็นไปได้
  • เนื่องจากกระดานซื้อขายขนาดเล็กมีจำนวนผู้ใช้งานน้อย มันก็จะทำให้การซื้อขายโทเคนหรือเหรียญไม่ไหลลื่น กล่าวคือ อาจหาคนซื้อยากในเวลาที่เราอยากขาย
  1. มูลค่าตลาดสูงแค่ไหน?

ถ้ามูลค่าตลาดของเหรียญหรือโทเคนนั้น ๆ ไม่สูง ก็จะส่งผลทำให้ผู้ถือเหรียญปริมาณเยอะ ๆ ไม่กี่คนสามารถกำหนดกลไกตลาดได้ ซึ่งถือว่าไม่เป็นผลดีกับเราเลย ควรหลีกเลี่ยงครับ

  1. คริปโตนั้น ๆ รองรับ hardware wallet หรือไม่? ตัวอย่างเช่น ยี่ห้อ Ledger หรือ Trezor เป็นต้น

คุณสมบัตินี้ มันจะทำให้เรามีตัวเลือกในการเก็บเหรียญคริปโตหรือโทเคนของเราให้เหมาะสม โดยทั่วไปแล้วจะมีเฉพาะเหรียญคริปโตหรือโทเคนที่เป็นที่นิยมเท่านั้นที่จะรองรับ hardware wallet สำหรับโปรเจคเล็ก ๆ เราก็จะสามารถเก็บใน digital wallet หรือ wallet ของกระดานซื้อขายก็ได้ อย่างไรก็ตาม ทั้ง hardware wallet และ digital wallet ก็มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป เราต้องไตร่ตรองให้ดีก่อนตัดสินใจว่าจะใช้งานตัวไหน เช่น hardware wallet มีความเสี่ยงต่อการถูกแฮกน้อยกว่า แต่เราอาจทำหายได้ เป็นต้น

ส่วนที่ 6 การประเมินข้อมูลเพื่อสรุป

ถึงตอนนี้เรามีข้อมูลในมือมากมายแล้ว ถึงเวลาต้องทำการประเมินข้อมูลทั้งหมด ต่อไปนี้คือสิ่งที่เราควรคำนึงถึง

  • ข้อมูลที่หามาเปรียบเทียบมีคุณภาพไม่เท่ากัน ตัวอย่างเช่น คอมเม้นท์ใน Facebook ย่อมมีคุณภาพน้อยกว่าบทความข่าว ไม่ใช่ว่าเจอคอมเม้นท์สนับสนุนความคิดเรา เราก็ยกเอามาเป็นเหตุผลหลักในการสรุป อันนี้ไม่ใช่!
  • ข้อมูลบางอย่างสำคัญและมีประโยชน์กับเรามากกว่าข้อมูลอื่น ๆ ตัวอย่างเช่น ข่าวเกี่ยวกับการแฮ็กหรือทุกอย่างที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการรักษาความปลอดภัย เราควรให้ความสำคัญมากกว่าข่าวเกี่ยวกับแผนการปล่อยฟีเจอร์ใหม่ เป็นต้น
  • ทำตารางแสดงข้อดีและข้อเสียของโปรเจคออกมาให้ชัดเจนในแต่ละเรื่อง โดยนำข้อมูลที่รวบรวมมาแบ่งเป็นหัวข้อหลัก หัวข้อย่อย เป็นรายแถว ส่วนคอลัมน์หรือหลักเป็นข้อดีและข้อเสียของแต่ละหัวข้อ

ผลสรุปที่เป็นตารางนี้หละ คือข้อมูลสำคัญที่จะช่วยให้เราตัดสินใจลงทุนหรือไม่ลงทุนในโปรเจคได้ง่ายขึ้นมาก และเป็นผลสรุปจากการวิจัยค้นคว้ามาทั้งหมด ลงทุนลงแรงไปเยอะ แนะนำว่าอย่าเผยแพร่ให้ใครง่าย ๆ ครับ เก็บเอาไว้ใช้งานและอัพเดตข้อมูลใหม่ ๆ ลงไป เมื่อมีข่าวสารหรือการเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ เข้ามา

บทส่งท้าย

การวิจัยค้นคว้าลักษณะนี้อาจใช้เวลานานกว่าจะเสร็จสมบูรณ์ บางเคสของการลงทุนอาจจำเป็นต้องวิจัยค้นคว้าให้ครบถ้วนทุกขั้นตอน แต่บางเคสก็ไม่จำเป็น เอาเป็นว่าทำให้เยอะที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ก็ถือว่าโอเคแล้วครับ เพื่อปกป้องเงินในมือเขาคุณเอง!

crypto-by-greek

ที่มา: Ren & Heinrich

แชร์
Avatar photo

อาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ที่มีความสุขที่ได้ส่งต่อความรู้ให้คนอื่น ไม่อยากจำกัดเฉพาะนักศึกษาตัวเอง จึงได้ลงมือเขียนสิ่งที่ตนเองรู้ลงในเว็บไซต์ AppDisqus แห่งนี้ ด้วยความสุขและยินดีที่ได้เป็นส่งต่อและรับความรู้เพื่มจากผู้อ่าน มันช่างเป็นสถานที่แห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่ดีจริง ๆ //ขอบคุณ AppDisqus นะครับ

Advertisement
Exit mobile version