Advertisement

เชื่อว่าหลายคนหงุดหงิดกับป๊อปอัพแจ้งเตือนความยินยอมเกี่ยวกับคุกกี้ ที่จะถามทุกครั้งที่เราเข้าเว็บไซต์ต่าง ๆ โดยรวม ๆ จะระบุว่าเว็บไซต์นี้มีคุกกี้ที่เข้าถึงข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์และข้อมูลส่วนตัวต่าง ๆ “คุณจะอนุญาตหรือไม่?” “คุณจะยอมรับหรือไม่?” และอีกหลายหลายข้อความในทำนองเดียวกัน เจ้า คุกกี้ ป๊อป อัพ หรือ Cookie Consent Popups ตัวนี้มันคืออะไร? เราควรบล็อกคุกกี้หรือไม่? และมีวิธีบล็อก คุกกี้ ป๊อป อัพ ในทุกเว็บไซต์ครั้งเดียวจบไม่ต้องมาถามอีกเลย ทำอย่างไร? บทความนี้เรามีคำตอบ

หมายเหตุ: นโยบายการใช้งานเทคโนโลยีการติดตามตัวบุคคล คุกกี้ (Cookies) ของ Appdisqus.com

Advertisement

 

การขอความยินยอมเกี่ยวกับคุกกี้ หรือ Cookie Consent Popups คืออะไร?

คุกกี้ของเว็บไซต์มีประโยชน์ในการช่วยทำให้การทำงานเบื้องหลังมีประสิทธิภาพ สะดวกสบายสำหรับผู้ใช้งานอย่างเรา เช่น การเลือกภาษา การลงชื่อเข้าใช้ เป็นต้น หากเราปิดกั้นหรือบล็อกคุกกี้เหล่านี้จะทำให้เราต้องมาเลือกภาษาหรือลงชื่อเข้าใช้ใหม่ทุกครั้ง สำหรับบางคนก็ถือว่าสร้างความหงุดหงิดใหม่ขึ้นมาอีก ดังนั้นเราอาจต้องเลือกระหว่างการบล็อกคุกกี้ครั้งเดียวจบไม่ต้องมาถามอีกในทุกเว็บไซต์หรือความสะดวกในการใช้งานเว็บไซต์ ก่อนตัดสินใจเรามีทางเลือกให้
ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่าคุกกี้มีหลายประเภท และหลายวัตถุประสงค์ บทความนี้จะไม่ลงทฤษฎีหรือนิยาม ขอกล่าวง่าย ๆ ว่า คุกกี้ในการท่องเว็บไซต์ทมี 2 ประเภทหลัก ๆ ได้แก่ คุกกี้ของเว็บไซต์นั้นเอง และคุกกี้ของบุคคลที่สาม(ที่ฝังโดยเว็บไซต์นั้นเองหรือมาในรูปแบบอื่น)

  • คุกกี้ของเว็บไซต์นั้นเอง เป็นคุกกี้ที่ช่วยเพิ่มประสบการณ์ที่ดีในการท่องเว็บไซต์ของเรา เพิ่มความสะดวกสบายในการใช้งานเว็บไซต์นั้น ๆ ดังที่กล่าวมาข้างต้น แต่ก็อาจแฝงการเก็บข้อมูลการท่องเว็บไซต์หรือข้อมูลส่วนบุคคลก็เป็นไปได้ ใช่ว่าจะปลอดภัย 100%
  • คุกกี้ของบุคคลที่สาม เป็นคุกกี้ที่สามารถติดตามการท่องอินเทอร์เน็ตของเราในทุกเว็บไซต์ เก็บข้อมูลส่วนบุคคล และข้อมูลอื่น ๆ เพื่อนำไปวิเคราะห์พฤติกรรมการใช้งานของเรา สำหรับนำไปแสดงผลโฆษณาต่าง ๆ อย่างที่เราเคยไปค้น Google เรื่องใดเรื่องนึง แล้วพอเข้าไปเว็บไซต์อื่นจะมีโฆษณาเกี่ยวกับสิ่งที่เราค้นหาตามมาด้วยนั่นหละครับ

บล็อกคุกกี้ ป๊อปอัพ Cookie Consent Popups
หลายคนมองว่าคุกกี้ของบุคคลที่สามมันคือสปายแวร์หรือเปล่า ทำไมบราวเซอร์หรือระบบปฏิบัติการยินยอมให้มันทำได้ คำตอบคือ ไม่ใช่ครับ! มันไม่ได้มีแต่ข้อเสีย ข้อดีของคุกกี้ของบุคคลที่สาม มีหลายอย่าง เช่น มันจะเก็บข้อมูลความชื่นชอบส่วนบุคคลนำไปแสดงผลโฆษณา ก็จะทำให้โฆษณาตรงกับสิ่งที่เราชื่นชอบ ลองนึกภาพว่าเราดู YouTube แล้วโฆษณาขึ้นแต่สิ่งที่เราไม่ชอบ กับโฆษณาขึ้นแต่สิ่งที่ตรงกับรสนิยมของเรา อันไหนดีกว่ากัน รวมทั้งคุกกี้ของบุคคลที่สามจะช่วยลดจำนวนป้ายโฆษณาที่คั่นระหว่างบทความลงด้วย และลดความถี่ของ ป้ายขอความยินยอมเกี่ยวกับคุกกี้ หรือ Cookie Consent Popups ลงไปด้วย

แล้วทำไมถึงต้องมีการขอความยินยอมเกี่ยวกับคุกกี้ หรือ Cookie Consent Popups ด้วย?

คำตอบก็เพราะ พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) นั่นเองครับ ที่เมื่อก่อนไม่มีไม่ใช่ว่าเมื่อก่อนเข้าไม่เก็บข้อมูลส่วนบุคคลของเราไปนะ เขาเก็บครับ แต่เขาไม่แจ้งเราเท่านั้นเอง ความจริงแล้วผมเขียนบทความนี้เพราะความเข้าใจผิดแบบนี้หละครับ เพราะเมื่อวานไปเจอความคิดเห็นใต้โพสของสำนักข่าวนึงเข้า เขาด่าคนที่ตำหนิเขาว่าไม่คลิกเข้าไปอ่านรายละเอียดว่า “จะคลิกเข้าไปอ่านทำไม เข้าไปทีไรก็ขอเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลทุกครั้ง จะดูดข้อมูลเอาไปทำอะไรไม่รู้”

“Cookie consent banners are a joke,”

Sergio Maldonado, co-founder and CEO at software development firm PrivacyCloud

วิธีบล็อกคุกกี้ป๊อปอัพ (Cookie Consent Popups) ในทุกเว็บไซต์ครั้งเดียวจบ

การปิดกั้น การปฏิเสธ หรือ บล็อกคุกกี้ ขอความยินยอมในการเข้าถึงข้อมูลของเว็บไซต์ต่าง ๆ ในครั้งเดียวจบทำได้ไม่ยาก แต่การรอบรับคุกกี้เหล่านี้ทีเดียวจบในทุกเว็บไซต์ บทความนี้ไม่มีคำแนะนำนะครับ
สิ่งที่จะแนะนำคือเครื่องมือที่ชื่อว่า Consent-O-Matic ที่พัฒนาโดย Midas Nouwens และทีมงาน นักวิจัยด้านสิทธิดิจิทัล Aarhus University ประเทศเดนมาร์ก ซึ่งเครื่องมือนี้เกิดมาจากความเบื่อหน่ายกับนโยบายปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล GDPR ของยุโรป คล้าย พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) ของเรานั่นหละครับ ที่เขามองว่ามันไม่มีประโยชน์เลย และการบังคับให้เว็บไซต์ต่าง ๆ แสดง ป้ายขอความยินยอมเกี่ยวกับคุกกี้ หรือ Cookie Consent Popups แก้ปัญหาอะไรไม่ได้ ปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลไม่ได้จริง เพราะบางเว็บไซต์อาจมีแต่ป๊อปอัพขออนุญาต พอเราปฏิเสธก็เมินคำปฏิเสธนั้น เปิดใช้งานคุกกี้เหมือนเดิม แถมน่ารำคาญด้วย โดย Consent-O-Matic จะดำเนินการตอบป๊อปอัพให้เราเองอัตโนมัติ (ค่าเริ่มต้นจะปฏิเสธทั้งหมด) เราจึงไม่ต้องมากดเองทุกครั้งที่เข้าเว็บไซต์
เมื่อติดตั้งแล้ว Consent-O-Matic จะทำหน้าที่เป็นส่วนขยายของเว็บบราวเซอร์ (สำหรับ Chrome ปุ่มส่วนขยายเป็นรูปจิกซอร์ด้านบนทางขวา แล้วเลือกส่วนขยายนี้ที่มีโลโก้เป็นรูปแม่กุญแจที่มีดาวล้อมรอบ) โดยปกติ Consent-O-Matic จะทำงานอัตโนมัติทันทีเลย แต่เราสามารถเรียกส่วนขยายนี้ขึ้นมาใช้งาน เพื่อดูเมนูอื่น ๆ ซึ่งมี 2 ปุ่มหลัก ๆ ให้เลือก ได้แก่ GDPR autofill didn’t work? (ปุ่ม Let us know!) เอาไว้ใช้กรณีที่ส่วนขยายนี้ไม่ทำงานสำหรับเว็บไซต์นี้ และปุ่ม More Add-on Settings สำหรับการเข้าไปอนุญาตสำหรับคุกกี้บางประเภทที่เรามองว่าอนุญาตได้ เช่น การปรับขนาดตัวอักษร การล็อกอินเข้าใช้งาน เป็นต้น

บล็อกคุกกี้ ป๊อปอัพ Cookie Consent Popups Consent-O-Matic

สำหรับปุ่ม Let us know! มีขึ้นมาเพราะว่า ตอนนี้ Consent-O-Matic สามารถทำงานได้กับป๊อปอัพที่สร้างโดย QuantCast, OneTrust, TrustArc, Cookiebot และ Crownpeak เท่านั้น แม้เว็บไซต์ส่วนใหญ่ 58% จะใช้เครื่องมือเหล่านี้ในการสร้าง แต่ก็ยังไม่ครอบคลุมทั้งหมด ดังนั้นหากเราเจอเว็บไซต์ไหนที่ยังมีป๊อปอัพแสดงขึ้นมาอยู่ก็กดรายงานไปที่ปุ่ม Let us know! ได้เลยครับ

ดาวน์โหลด Consent-O-Matic รองรับบน Chrome, Firefox และ Safari

แต่หากทดลองใช้งานแล้วพบว่า Consent-O-Matic แทบไม่ได้ช่วยเราเลย ก็ยังมีเครื่องมืออีก 2 ตัวที่น่าสนใจ เพื่อน ๆ สามารถดาวน์โหลดมาทดลองใช้งานกันได้นะครับ

1. Super Agent รองรับสำหรับ Chrome, Firefox, Opera, Safari และ Edge
2. I don’t care about cookies รองรับสำหรับ Chrome, Firefox, Edge, Opera, Pale Moon, Adblock Plus, AdBlock และ uBlock Origin

 

แต่สำหรับการบล็อกคุกกี้ของบุคคลที่สามทำได้ง่ายกว่ามาก เพราะทุกเว็บบราวเซอร์จะมีการตั้งค่าเกี่ยวกับการบล็อกคุกกี้ของบุคคลที่สามอยู่แล้ว ทั้ง Chrome, Edge, Firefox, Safari และอื่น ๆ ตัวอย่างเช่นของ Google Chrome ให้เข้าไปที่การตั้งค่า (Settings) เมนู Privacy and security เมนูย่อย Cookies and other site data แล้วเลือกการตั้งค่าตามภาพ

อย่างไรก็ตาม ดังที่เว็บบราวเซอร์ระบุชัดในทางเลือกการตั้งค่าทุกอันจะแนะนำให้บล็อกเฉพาะคุกกี้ของบุคคลที่สามก็พอ ไม่จำเป็นต้องบล็อกทั้งหมด เพราะมันจะสร้างประสบการณ์ในการท่องเว็บที่แย่ได้ ลองนึกภาพว่าเราต้องล็อกอินเข้าใช้ Facebook ทุกครั้ง หรือ ตั้งค่าธีมพื้นหลัง twitter ใหม่ทุกครั้ง จะเป็นอย่างไร? ที่กล่าวมาสุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับสไตล์การใช้งานของเราเองครับ เมื่อเรารู้วิธีแล้วหากลองใช้งานแล้วเปลี่ยนใจก็เปลี่ยนกลับได้ตลอดเวลา หวังว่าบทความนี้จะช่วยเพิ่มประสบการณ์ที่ดีในการท่องเว็บไซต์ของทุกคนนะครับ

แชร์
Avatar photo

อาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ที่มีความสุขที่ได้ส่งต่อความรู้ให้คนอื่น ไม่อยากจำกัดเฉพาะนักศึกษาตัวเอง จึงได้ลงมือเขียนสิ่งที่ตนเองรู้ลงในเว็บไซต์ AppDisqus แห่งนี้ ด้วยความสุขและยินดีที่ได้เป็นส่งต่อและรับความรู้เพื่มจากผู้อ่าน มันช่างเป็นสถานที่แห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่ดีจริง ๆ //ขอบคุณ AppDisqus นะครับ

Advertisement
Exit mobile version