Advertisement

ผมให้เครดิต Final Fantasy IV (และ Dragon Quest) จากค่ายเหลี่ยม Square Enix มาเสมอเลยครับในเรื่องของการเป็นเกม RPG เกมแรกที่ทำให้ผมตาสว่างว่าเกมในเชื้อสาย RPG นั้นมันน่าอัศจรรย์หัวใจผู้เล่นเกมตัวเล็กๆ อย่างผมขนาดไหนก่อนจะแปลงผมให้กลายมาเป็นคอ RPG ตัวจริงเสียงจริงในเวลาต่อมา และจนถึงทุกวันนี้หากมีใครถามผมว่า Final Fantasy ภาคไหนคือภาคที่ผมยินดีจะกรีดร้องเสียงดังและรักมากมากรักมายเป็นที่สุดแล้วล่ะก็ คำตอบแรกที่ผุดขึ้นมาในสมองของผมก็คือ Final Fantasy IV (FFIV)นี่แหละครับ

final-fantasy-4-ios-1

Advertisement

ทันทีที่ผมได้ข่าวว่า Final Fantasy IV จะกลับมารีเมคลงให้กับ iOS นั้น (หลังจากที่ได้เล่นในฉบับ DS ไปอีกรอบแล้ว โดยก่อนหน้านี้เล่นมันมาตั้งแต่สมัย Famicom ตัวละคร 16 บิตเก๋ๆ) ผมอดตื่นเต้นระริกระรี้ไม่ได้เลยจริงๆ ความรู้สึกนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในสมัยที่ Square Enix ประกาศเมื่อปี 2011 ว่าจะเอา Final Fantasy III ในฉบับ DS มาพอร์ตลงให้กับ iOS และแน่นอนว่าความคาดหวังแรกที่เกิดขึ้นกับผมใน FFIV ฉบับ iOS ที่พอร์ตมาจากฉบับ DS เช่นเดียวกันภาคก่อนหน้านี้ก็คือความคมชัดใสกิ๊กในด้านงานภาพโพลิกอนสามมิติที่ต้องโดดเด่นกว่าในจอ DS และงานดนตรีที่ต้องจัดเต็มกว่าในเครื่องก่อนหน้านี้อย่างแน่นอน แต่เจ้า FFIV นี้จะได้ดั่งใจผมหรือไม่คงต้องตามอ่านกันต่อไป (หากใครเบื่อโพลิกอนสามมิติและอยากกลับไปเล่นอะไรในแบบ 16 บิตอีกครั้ง ผมแนะนำลองเข้าไปอ่าน รีวิว Final Fantasy Dimension ที่เคยลงเอาไว้ก่อนหน้านี้ดูนะครับ)

[box_light]เนื้อเรื่องและเกมเพลย์[/box_light]

Final Fantasy IV คือภาคแรกของเกมในตระกูล Final Fantasy ที่นำเอารูปแบบการดำเนินเรื่องแบบตามติดผ่านมุมมองของตัวละครหลักของเรื่องเพียงตัวเดียวมาประยุกต์ใช้ ซึ่งในที่นี้ก็คืออัศวินดำเซซิล (Cecil) นั่นเอง เนื้อเรื่องหลักของ FFIV นั้นยังถือว่าเป็นความกล้าที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีครั้งสำคัญของ Square ในการบอกเล่าเรื่องราวแฟนตาซีที่ไม่ได้มีเพียงแต่การบุกตะลุยปีศาจร้ายเพื่อชัยชนะเท่านั้น หากแต่ยังมีการบรรจงใส่รายละเอียดให้ผู้เล่นเห็นความสำคัญของหน้าที่ๆ ได้รับมาพร้อมภาระยิ่งใหญ่อันแสนหนักอึ้ง รวมถึงเป็นภาคแรกที่มีการประยุกต์เอาเนื้อหารักเศร้าเราสามคนเข้ามาเป็นประเด็นสำคัญของเรื่อง นอกจากนี้ยังพูดถึงการเสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนรวม การร้างแค้น การทรยศหักหลัง และตัวแปรหักมุมสำคัญที่ตรึงตาตรึงใจผู้เล่นไปไม่รู้ลืมอีกด้วย

ff4-ios-04

FFIV ยังอาจถือได้ว่าเป็นตำนานบทแรกที่มีการเพิ่มไซด์เควสขึ้นมาในตัวเกมที่สามารถผสานรวมกับตัวเกมได้อย่างลงตัว (ไม่ใช่ไซด์เควสแบบแยกออกจากกันอย่างชัดเจนตามที่ได้เห็นในเกมอื่น) เพื่อให้ผู้เล่นได้พักผ่อนสมองและหัวใจจากเนื้อเรื่องที่หนักอึ้งและแน่นหนาของตัวเกมบ้าง ก่อนที่ท้ายที่สุดแล้วจะต้องกลับมาลุยกับเนื้อเรื่องหลักต่อเพื่อปให้ถึงจุดหมายปลายทาง น่าแปลกใจมากที่เนื้อเรื่องเหล่านี้ของ Final Fantasy IV นั้นดูสมควรจะเก่ากินสนุกไปตามกาลเวลาแล้ว แต่กับในฉบับพอร์ตนี้ ความเป็นแฟนตาซีชั้นเยี่ยมของ Final Fantasy IV ก็ยังคงโดดเด้งดึ๋งดั๋งได้อย่างที่มันเคยเป็นเมื่อกว่ายี่สิบปีก่อนเลยทีเดียว

ว่ากันโดยลึกแล้ว FFIV คือเกม JRPG ที่มีรูปแบบการเล่นแบบคลาสสิกเหมือนเกม JRPG เกมอื่นๆ ก็คือการใช้ระบบการต่อสู้แบบเทิร์มเบสหรือโจมตีตามฝั่งตามเวลา พร้อมการสุ่มฉากโจมตีที่ผู้เล่นไม่มีโอกาสได้เห็นหน้าศัตรูตัวเองก่อนการต่อสู้แต่อย่างใด

ffiv-ipad-03

สิ่งหนึ่งที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนระหว่างตัวเกมในภาคนี้กับภาคก่อนหน้าก็คือระบบอาชีพที่มีอยู่ใน FFIII นั้นไม่มีให้เห็นใน FFIV นี้แล้วด้วยเพราะตัวละครแต่ละตัวนั้นมีเรื่องราวภูมิหลังของตัวเองอย่างชัดเจนและมีหน้าที่อย่างหลักของตัวเองอยู่แล้วตามแต่บทบาทของตัวละคร แต่ตัวเกมก็ยังพอเอื้อให้ผู้เล่นที่ชอบความอิสระไม่รู้สึกอึดอัดขึ้นมาได้สักหน่อยด้วยการเพิ่มระบบ Augments ที่ผู้เล่นสามารถติดตั้งอะบิลิตี้ต่างๆ ที่เกิดขึ้นจาก Augments ที่เก็บได้หรือที่ได้รับจากตัวละครอื่นๆ ภายในเกมเข้าไปในตัวละครในทีมเราได้โดยจะเป็นการเพิ่มสกิลตาม Augment นั้นๆ ให้กับตัวละครนั้นๆ ที่เราติดตั้ง Augment เพิ่มให้ (แต่ติดตั้งแล้วเอาออกไม่ได้นะครับ) โดยส่วนตัวแล้วผมคิดว่าระบบ Augments นี้ไม่ค่อยจะสลักสำคัญอะไรมากนัก (และไม่เคยมีปรากฏในสมัยยุคต้นฉบับอย่าง SNES) แต่มีไว้เพื่อเอาใจขานักเปลี่ยนอาชีพภายในเกมเท่านั้นเอง

[box_light]กราฟิกและดนตรีประกอบ[/box_light]

เช่นเดียวกับเวอร์ชั่นพอร์ตรุ่นพี่อย่าง Final Fantasy III ใน FFIV นั้นมีการพัฒนาจากเวอร์ชั่น DS ขึ้นมามากทีเดียว เริ่มแรกเลยที่จะมองข้ามไปไม่ได้คือในส่วนของงานด้านกราฟิกที่ถูกพัฒนาให้สดใสสวยงามขึ้นเมื่อมาแสดงบนหน้าจอ Retina Display ของ iPhone 4 / 4s แต่สำหรับบน iPhone 5 ของผมนั้นยอมรับว่าภาพสวยสดใสจริง แต่มันมาพร้อมความยืดที่แอบเห็นได้ว่าเกิดจากความไม่ค่อยใส่ใจในขนาดหน้าจอใหม่ของ iPhone 5 นักของ Square Enix แต่หากคุณทนรับความยืดนี้ไม่ได้ คุณสามารถเข้าไปตั้งค่าการแสดงผลในหน้าจอ Setting และปรับค่า Wide Screen Setting เป็น No ซะ เพียงเท่านี้คุณก็จะได้ภาพสวยๆ แบบใน iPhone 4 และ 4s แล้ว แต่ภาพจะไม่เต็มหน้าจอนะครับ โดยสีแถบสีดำๆ ที่เกิดขึ้นข้างจอทั้งสองข้างนั้นจะถูกแทนที่ด้วยคำว่า FINAL FANTASY IV แทน สำหรับกรณีของผมนั้น แรกๆ อาจขัดตาภาพที่ยืดๆ ไปบ้าง แต่เล่นๆ ไปแล้วก็ไม่ได้รู้สึกขัดตาขัดใจแต่ประการใด

ffiv-ipad-02

งานด้านดนตรีเองก็ถูกปรับปรุงขึ้นให้ฟังใสกิ๊กเหมาะกับการมาลงให้อุปกรณ์ iDevices เป็นอย่างดี มีการนำเพลงคลาสสิกจากต้นฉบับของ Nobuo Uematsu มารีมิกซ์กันใหม่ในภาคนี้เพื่อให้ได้งานดนตรีที่มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น ตรงนี้ถือเป็นจุดเด่นข้อหนึ่งที่ผู้เล่นที่เคยเล่นในฉบับ DS แล้วอาจจะยังคุ้มค่าอยู่ที่ได้ซื้อฉบับ iOS มาเล่นอีกครั้ง (หากคุณไม่ใช่ปแฟนเดนตาย เพราะถ้าเป็นแฟนเดนตายคุณจะตัดสินใจซื้อได้อย่างง่ายดายเชียว)

งานเสียงพากย์ในเวอร์ชั่นนี่ยังคงเต็มไปด้วยรายละเอียดและความตั้งใจที่สื่อออกมาอย่างชัดเจนจาก Square Enix (ซึ่งว่ากันตามตรงแล้ว SE ก็ไม่เคยทำให่ผิดหวังอยู่แล้ว) ทุกฉาก ทุกตอนที่เป็นคัตซีน น้ำเสียงของตัวละครแต่ละตัวที่ได้รับการพากย์ออกมาอย่างพิถีพิถันนั้นสร้างอารมณ์ร่วม สุข เศร้า เคล้าน้ำตาให้กับผู้เล่นได้เป็นอย่างดีทีเดียว

[box_light]การปรับลดระดับความยากที่ทำให้ตัวเกมน่าหลงไหลขึ้น[/box_light]

นอกจากงานด้านดนตรีและเสียงพากย์แล้ว ความยากระดับตำนานของเกมยังได้รับการปรับปรุงให้ผู้เล่นสามารถเลือกได้ว่าจะอยากเล่นแบบ “ยากระดับตำนาน” เหมือนเดิม หรือจะเล่นแบบ “ยากในระดับพอรับได้” ซึ่งถือเป็นการเปิดทางเลือกในการเล่นให้กับผู้เล่นได้ดียิ่งขึ้น ผมต้องยอมรับว่าผมค่อนข้างจะมีความสุขกับการปรับปรุงความยากในส่วนนี้เพราะในเวอร์ชั่นนี้ผมสามารถเล่น FFIV ได้อย่างมีความสุข ไม่ต้องคอยหัวเสียกัดฟันกับความยากอย่างที่เคยเกิดขึ้นในเวอร์ชั่นก่อนหน้านี้เสียที

[box_light]การบังคับ[/box_light]

ffiv-ipad-01

ระบบการบังคับของ FFIV และการเลือกคำสั่งต่างๆ ในฉากต่อสู้นั้นมีการพัฒนาขึ้นจากฉบับ FFIII ไปมากมายพอสมควรทีเดียว ซึ่งการพัฒนาใหม่นี้ทำให้การบังคับที่ก่อนหน้านี้ก็ไม่ได้ลำบากอะไรอยู่แล้วกลายเป็นเรื่องง่ายและสะดวกสบายไปเลยทีเดียว แต่หากจะต้องให้ติจริงๆ ก็ยังพอมีอยู่บ้าง ตัวอย่างเช่นในส่วนของการควบคุมบังคับเมนูต่างๆ ที่อาจมีบ้างที่ไม่ได้คล่องลื่นอย่างที่หลายๆ คนคาดหวัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับฉากต่อสู้ที่เรามีเพื่อนร่วมทีมเป็นนักเวทย์ที่มีสารพัดเวทย์มนต์ให้เลือกใช้และต้องอาศัยความรวดเร็วในการกดเพราะระบบการต่อสู้ในภาคนี้นั้นเป็นแบบเทิร์นเบสเรียลไทม์ (คือเวลาเลื่อนไปเรื่อยๆ หากกดช้า ศัตรูสามารถโจมตีเราได้ในทันที) แต่อย่างไรซะปุ่ม Auto Battle ก็ยังสามารถใช้งานได้อย่างเหมาะสมและเป็นอย่างดีเวลาที่เราต้องตัดสินใจอะไรด่วนๆ นั่นปิดประเด็นความน่าหงุดหงิดใจไปได้ดีทีเดียว

[box_light]บทสรุป[/box_light]

ในขณะที่รีวิวฉบับนี้อาจโฟกัสไปในส่วนที่เปลี่ยนไปใน Final Fantasy IV ฉบับพอร์ตลง iOS นี้ไปสักหน่อย แต่อย่างหนึ่งที่เราจะไม่สามารถมองข้ามไปได้เลยก็คือความจริงที่ว่า Final Fantasy IV นั้นยังคงเป็นเกมที่เปิ๊ดสะก๊าดสุดๆ ในทุกๆ ด้านตั้งแต่ด้านงานภาพ งานดนตรี งานเนื้อเรื่อง ไปจนถึงเกมเพลย์ เรื่องราวองค์รวมและการมีร่วมทางและจากไปของเหล่าผู้กล้าใน FFIV นี้ยังคงถ่ายทอดออกมาได้อย่างตรึงตราน่าประทับใจ ส่วนเปลี่ยนแปลงที่มีการพัฒนาขึ้นนั้นยังคงทำได้อย่างยอดเยี่ยมตามสไตล์

ในปัจจุบันนี้มีเกม JRPG มากมายที่โผล่กันมาลงให้ได้เล่นบน iOS แต่แทบจะเกือบร้อยเปอร์เซ็นของเกมเหล่านั้นไม่สามารถให้ประสบการณ์เกมกับผู้เล่นได้มากเท่า Final Fantasy IV ฉบับพอร์ตในครั้งนี้เลย ดังนั้นหากคุณคือหนึ่งในคอเกม RPG หรืออยากจะลองเล่นเกมสักเกมที่ให้ประสบการณ์ดังกล่าวพร้อมชั่วโมงการเล่นระดับกว่า 40 ชั่วโมงแล้ว FFIV ฉบับ iOS ในครั้งนี้คุ้มค่าเกินสนนราคาที่อาจดูแสนแพงบน App Store ระดับ $15.99 เลยทีเดียว และด้วยเหตุผลประการทั้งปวง นี่คือหนึ่งในเกม iOS ที่่คอเกมเมอร์ไม่ควรพลาดจริงๆ

 

 

[gradeS]

แชร์
Avatar photo

อเล็กซ์ หรือ เอ ว่างเมื่อไหร่เป็นต้องหยิบเอามือถือหรือ iPad ข้างกายตนมาจับๆ จิ้มๆ ตามประสาคนมีงานแต่ชอบเล่นเกม คุณสามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและให้กำลังใจเอได้เสมอผ่านทางการคอมเมนต์ในบทความนี้

Advertisement
Exit mobile version