Advertisement

เป็นบทความที่อยากเปรียบเทียบให้ทุกคนได้เห็นชัดๆ ครับว่า ระบบการชาร์จ SuperVOOC Flash Charge ที่ถูกยกให้เป็นระบบการชาร์จพลังงานมือถือที่เร็วที่สุดในโลกนั้น มันเร็วขนาดไหน

SuperVOOC Flash Charge คำนี้มีการพูดถึงกันมากในขณะนี้ เพราะว่าเป็นระบบการชาร์จที่ได้ใส่เข้ามาไว้ในเครื่องสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ของ OPPO นั้นคือ OPPO R17 Pro นั้นเองครับ และเป็นระบบที่ใหม่และไวกว่าระบบ VOOC Flash Charge อันเดิมของ OPPO เป็นเท่าตัว และเร็วกว่าระบบชาร์จปกติทั่วไปแบบเทียบกันไม่ได้

Advertisement

ชื่อระบบ SuperVOOC Flash Charge ชื่อเทคโนโลยีนี้จริงๆ แล้ว ปรากฏมาให้ชาวโลกได้ยินกันตั้งแต่ปี 2016 แล้วละครับ มีการเปิดตัวโชว์กันที่งาน Mobile World Congress หรือ MWC ที่เมืองบาร์เซโลนา ประเทศสเปน

โดยทาง OPPO ได้ขึ้นสาธิตเทคโนโลยีต้นแบบของ SuperVOOC (Super Flash) ที่ตัวชาร์จจะปล่อยไฟขนาด 5V16A กำลังไฟ 80W โดยผลลัพท์ที่ได้ในตอนนั้นก็คือ การชาร์จแบตเตอรี่ขนาด 2500mAh จนเต็มในเวลาแค่ 15 นาทีเท่านั้นเองครับ

แต่ทาง OPPO ก็ไม่รีบร้อนที่จะผลักดันเทคโนโลยีตัวนี้ออกมาสู่ตลาดโดยไม่ศึกษาและพัฒนาต่อในด้านความปลอดภัยนะครับ ซึ่งก็ใช้เวลาอีกนานกว่า 29 เดือนเลยทีเดียว ที่ระบบ SuperVOOC จะถูกนำมาใช้จริง

จนในวันที่ 29 มิถุนายน 2018 ถึงจะมีการนำ SuperVOOC Flash Charge มาใช้เป็นครั้งแรกในรุ่นเรือธง OPPO Find X Automobili Lamborghini Edition โดยมีการเปลี่ยนแปลงระดับพลังไฟของตัวชาร์จไปเป็นแบบ 10V5A กำลังไฟ 50W ซึ่งสามารถชาร์จแบตเตอรี่ความจุ 3400 mAh ของเครื่องรุ่นนี้ให้เต็มได้ในเวลา 35 นาทีเท่านั้น

เทคนิคที่ OPPO เขาเลือกจะเอามาใช้พัฒนาระบบชาร์จไวของ VOOC Flash Charge เป็นการเพิ่มประมาณกระแสไฟฟ้าให้มากขึ้นแทนการเพิ่มแรงดันไฟฟ้าที่มักจะส่งผลให้เกิดความร้อนตัวเครื่องสูงครับ จนบังเกิดระบบ VOOC Flash Charge ตัวแรกที่ใช้แรงดันไฟฟ้า 5V เช่นเดิม แต่เพิ่มตัวกระแสไฟให้เป็น 5A ข้อดีคือมันแทบไม่มีความร้อนเพิ่มเติมจากปกติเลย

ส่วนของระบบ SuperVOOC ก็เบิ้ลไฟเพิ่มเข้าไปเป็น 10V 5A

แต่ความลับของระบบใหม่ SuperVOOC Flash Charge มันมีมากกว่านั้นไม่ใช่แค่เพิ่มแรงดันไฟนะสิครับ เพราะเซลล์แบตเตอรี่ที่อยู่ภายในถูกออกแบบให้ต่างออกไปจากเดิม

มีการนำเทคโนโลยีแบบ Bi-Cell Battery หรือระบบเซลล์แบตเตอรี่คู่มาใช้ครับ ภายในแบตของ SuperVOOC Flash Charge จะมีสองเซลล์พลังงานสองเซลล์แยกรับแรงดันไฟฟ้าที่ถูกส่งเข้าไป 10V แบ่งกันรับคนละ 5V เท่าๆ กัน ซึ่งเจ้า 5V นี่ ก็จะเป็นแรงดันไฟฟ้าที่เท่ากันกับมาตรฐานของ VOOC Flash Charge ตัวเดิมนั้นเองครับ

ฉะนั้นไม่ต้องแปลกใจ ว่าทำไมมาตรฐานความปลอดภัยมันจึงถูกการันตีเอาไว้ในระดับเดียวกับระบบ VOOC Flash Charge ตัวเดิมได้ครับ

ระบบ SuperVOOC Flash Charge ของ OPPO ได้ผ่านการทดสอบความปลอดภัยอย่างเข้มงวดร่วมกับทางแล็บ TUV Rheinland ของประเทศเยอรมัน ที่มีชื่อเสียงระดับโลกเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งแล็บนี้เขาเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยมายาวนานกว่า 146 ปี เชื่อถือได้มากๆ

เรียกว่าระบบชาร์จ SuperVOOC Flash Charge ขึ้นแท่นเป็นระบบชาร์จในตำนานกันเลยละครับ ใช้เวลาศึกษา ค้นคว้า ทุ่มเท และทดสอบกันมาอย่างยาวนาน โดยรวมสิริก็เกือบๆ 4 ปี และในตอนนี้มันก็มาอยู่ในมือถือรุ่นใหม่ OPPO R17 Pro แล้วละครับ

R17 Pro เป็นสมาร์ทโฟนที่มาพร้อมสโลแกน ชาร์จ 10 นาที ได้ถึง 40% ไม่ต้องสงสัยเลยครับ เอาแค่ระบบชาร๋จของมันก็ระดับ HI-End แล้ว

จากที่เคยรีวิว OPPO R17 Pro ให้ทุกคนได้อ่านกันไป “ว่ามันชาร์จได้ไวมาก” แต่เพื่อให้ทุกคนได้เห็นภาพ ผมจึงทำการเปรียบเทียบผลลัพท์ให้ดูกันชัดๆ เลยว่า มันไวกว่าการชาร์จทั่วๆ ไป มากแค่ไหนกันครับ

ที่ชาร์จพร้อม เริ่มได้

ผมทำการทดสอบกับเครื่องสมาร์ทโฟนสามรุ่น ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ OPPO R17 Pro เป็นเครื่องที่ใช้ระบบการชาร์จแบบ SuperVOOC Flash Charge (ขนาดแบต 3,700 mAh) เทียบกับเครื่องที่มีระบบชาร์จไวในระบบอื่นของแบรนด์อื่นครับ (ขนาดแบต 3,000 mAh) และอีกหนึ่งเครื่องคือการชาร์จพลังงานในระบบปกติธรรมดาเลยครับ (ขนาดแบต 3,500 mAh)

โดยระดับแบตเตอรี่ทั้งสามเครื่องในขณะเริ่มชาร์จอยู่ที่ 0% เท่าๆ กันครับ และจะเห็นว่าตัวแบตเตอรี่ของ OPPO R17 Pro มีขนาดใหญ่กว่าอีกสองเครื่องชัดเจน 3,700 mAh, 3,500 mAh และ 3,000 mAh เรียกว่าเปิดสนามมาก็เสียบเปรียบไปแล้ว

แต่ทันทีที่เสียบสายชาร์จเท่านั้นครับ พุ่งทะลุไปแทบจะในทันที ผมจับเวลาแทบไม่ทันเลยในช่วงการชาร์จช่วงต้นของแบต SuperVOOC ซึ่งเป็นช่วงการชาร์จที่ไวที่สุดตามพื้นฐานของระบบชาร์จไฟ

หันไปแป๊บเดียว พี่แกได้ไฟกลับมา 12%

และเมื่อเวลาผ่านไปแค่ 5 นาที ผลสรุปออกมาแบบไม่ต้องรอดูนาน เพราะว่าตัวเลข % ของแบตแตกต่างกันไปเป็นเท่าๆ ตัวเรียบร้อยครับ เป็นมวยคนละชั้นไปแล้ว 

คำว่า ชาร์จ 10 นาที ได้ถึง 40% ผมว่าโกหกครับ ^^!! เพราะในเวลาประมาณ 8 นาที OPPO R17 Pro ได้แบตเตอรี่ไปเกิน 40% แล้วครับ ด้วยเพราะเป็นช่วงต้นของแบตที่มันจะชาร์จได้ไวมาก และเป็นการปิดเครื่องชาร์จด้วย เลยทำเวลาได้เร็วจริงๆ

ชาร์จจนพลังงานในแบตเตอรี่ 50% ผมได้มันมาในเวลาแค่ 8 นาทีเท่านั้นเอง เรียกว่าแบตครึ่งก้อนแรกกลับมาได้ในเวลาอันน้อยนิดจนน่าตกใจครับ

ในขณะที่ช่วงต้นของการทดสอบนี้ ระบบชาร์จแบตในระบบชาร์จเครื่องอื่นๆ มาไม่ถึงครึ่งทางของ SuperVOOC และยิ่งดูแย่เข้าไปใหญ่กับระบบการชาร์จปกติ ทั้งที่มันก็อยู่ในความเร็วปกติของมันนะครับ คือประมาณนาทีละ 1%  แต่พอมายืนเทียบกับรุ่นใหญ่ SuperVOOC ดูเป็นอะไรที่รับไม่ได้เลยจริงๆ 555

แต่ปิดเครื่องชาร์จแบบนี้มันง่ายไปครับ เมื่อมีระบบการชาร์จไว ต้องรองรับกับการใช้งานตามแบบฉบับการใช้ในชีวิตจริงด้วย ฉะนั้นต้องสามารถเปิดใช้งานไปและชาร์จไวไปได้พร้อมกัน

ผมจึงเปิดเกมให้รันไว้บน OPPO R17 PRo เครื่องเดียว ในขณะที่เครื่องอื่นๆ ปิดเครื่องชาร์จไว้เช่นเดิมครับ

ผลปรากฏว่า การเปิดใช้งานไปด้วยไม่ได้ทำให้ความไวของการชาร์จ OPPO R17 Pro ลดลงเลยครับ เพราะเบ็ดเสร็จแล้วแบตเตอรี่ขนาด 3,700 mAh ระบบ SuperVOOC สามารถชาร์จจนเต็ม 100% ใด้ในเวลาประมาณสามสิบสองนาทีเท่านั้นเองครับ สุดยอดจริงๆ

แล้วที่สำคัญ ตัวเครื่องไม่มีความร้อนใดๆ ขึ้นมาผิดปกติเลยครับ ทั้งที่ผมเปิดหน้าจอ เปิดเกมเล่นไว้ด้วย

สุดยอดมากจริงๆ ครับ ด้านความไว!!

แต่อย่างที่ผมบอก ระบบที่ดีต้องรองรับกับการใช้งานตามแบบฉบับการใช้ในชีวิตจริง ฉะนั้นถ้าต้องปิดจอหรือปิดเครื่องก่อนถึงจะชาร์จไวได้ผมว่ามันไม่ไวจริงครับ

ต้องเปิดใช้ไปด้วย ชาร์จไวไปด้วย และเครื่องไม่เกิดความร้อนหรือความผิดปกติใดๆ แบบนี้ ถืงจะเรียกว่าดีจริงครับ

เมื่อไม่เกิดความร้อน ความปลอดภัยในระหว่างการชาร์จไฟก็จะสูง ซึ่งสำหรับระบบ SuperVOOC Flash Charge ไม่ต้องห่วงในเรื่องความปลอดภัยเลยครับ เพราะว่าที่เราเห็นว่าเป็นแค่สายชาร์จกับอะแดปเตอร์ แต่จริงๆ แล้วมันถูกล็อคด้านความปลอดภัยเอาไว้ถึง 5 ขั้นตอนเลยทีเดียวครับ

  • 1. การป้องกันการใช้ไฟเกินกาลังของตัวอะแดปเตอร์ : ขณะที่กำลังไฟฟ้าเข้าสู่ตัวอะแดปเตอร์ ระบบเซนเซอร์ในตัวอะแดปเตอร์ก็จะวัดแรงดันไฟฟ้า เมื่อทดสอบแล้วพบว่าปลอดภัย ระบบป้องกัน MOSFET จะเริ่มชาร์จไวโดยอัติโนมัติ ถ้าเกิดความผิดปกติขึ้น เจ้าตัวนี้ก็จะตัดไฟทันที
  • 2. การป้องกันการโอเวอร์โหลดของกระแสไฟที่จุดเชื่อมต่อ : เมื่อกระแสไฟฟ้าไหลผ่านอะแดปเตอร์ ชิพ MCU ก็จะทำการตรวจสอบว่าอุปกรณ์ที่นำมาเสียบรองรับการชาร์จไวหรือไม่ ถ้าหากรองรับการชาร์จไว ระบบถึงจะเปิดการทำงาน และก็จะเปิดการป้องกันการใช้ไฟเกินกาลังในชั้นที่ 2 ไปพร้อมๆกันทันที
  • 3. ตัวบ่งชี้ VOOC ที่ติดตั้งอยู่ในโทรศัพท์ : ในส่วนรอยต่อตรงกลาง ช่วงที่กระแสไฟเข้าสู่โทรศัพท์มือถือ Pin ทั้ง 7 เส้นของ USB จะมี MCU คอยควบคุมสวิตช์ระบบป้องกัน ( MOSFET) ที่ใช้เปิดปิดกระแสไฟ จึงเป็นการป้องกันการโอเวอร์โหลดของกระแสไฟในขั้นตอนที่สาม
  • 4. ตัวป้องกันการโอเวอร์โหลดของแบตเตอรี่ : ในช่วงท้ายของการชาร์จไฟ จะมีสวิทช์พิเศษ IC และ MOSFET ซึ่งอยู่ภายในแบตเตอรี่ ทำหน้าที่ควบคุมดูแลในส่วนของการโหลดเข้าของแรงดันไฟฟ้าให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสมและปลอดภัยตามที่กำหนดออกแบบเอาไว้ ถือเป็นขั้นตอนที่ 4 ของการป้องกันนั้นเองครับ
  • 5. การป้องกันความปลอดภัยของฟิวส์แบตเตอรี่ : ในกรณีที่เกิดความผิดปกติ ตัวฟิวส์ในแบตเตอรี่จะตัดไฟทิ้ง และกระแสไฟก็จะหยุดการใหลเวียนในระบบทันทีครับ

จะเห็นว่าระบบ SuperVOOC Flash Charge มันไม่ได้มีดีแค่ที่ความไวระดับโลก แต่มันมาพร้อมกับความปลอดภัยระดับโลกด้วยเช่นกันครับ

ความอุ่นใจในการใช้งานระดับเรือธงตัวจริง ที่ผู้ใช้สามารถวางใจได้แม้ยามที่ใช้งานหนักหรือชาร์จไฟทิ้งไว้ยามนอน ผมว่ามันสำคัญมากสำหรับระบบไฟฟ้า อาจจะสำคัญมากกว่าความตื่นตาตื่นใจในความเร็วการชาร์จของมันซะอีกครับ

แต่อย่างว่า “OPPO R17 Pro มือถือระดับสูงที่มีระบบชาร์จที่ไวที่สุดในโลก” ดีกรีแชมป์ระดับนี้ จะไม่ให้พูดถึงเรื่องความไวได้ไง ^^

OPPO R17 Pro เปิดจำหน่ายแล้วทั่วประเทศไทย ผู้ที่ซื้อจะได้รับสิทธิเฉพาะลูกค้า OPPO R17 Pro กับบริการ OPPO Premium Service บริการระดับพรีเมียมที่เมื่อเครื่องมีปัญหาจะเปลี่ยนเครื่องให้ทันที ไม่ต้องรอซ่อมรอให้เสียเวลา สามารถรับเครื่องใหม่ไปได้เลยภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด

เปิดจำหน่ายกันแล้วในราคา 24,990 บาท สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Call Center และศูนย์บริการ OPPO ทั่วประเทศ

แชร์
Avatar photo

ในสิ่งที่เรารู้และเข้าใจ มันก็ยังมีระดับความลึกของความเข้าใจที่แตกต่างกัน ลึกบ้าง บางบ้าง แต่ประโยชน์ในการส่งผ่านสิ่งที่รู้ออกไปให้กับผู้อื่นนั้นไม่ต่างกัน มีประถม มีมัธยม มีอุดมศึกษา ไม่มีใครเริ่มต้นเรียนรู้จากในระดับปริญญา ฉะนั้นจะมากจะน้อยเชื่อเถอะว่า ความรู้ของทุกคนมีประโยชน์ให้กับผู้อื่นได้ เท่าๆ กัน

Advertisement
Exit mobile version