Advertisement

AIS องค์กรที่ไม่ได้วัดความสำเร็จของตัวเองจากผลกำไรของการดำเนินธุรกิจเท่านั้น แต่รายนี้จัดหนักมากครับเรื่องการมีส่วนร่วมกับชุมชน, สังคม และแน่นอนกับโครงการต่อยอด “เพื่อสิ่งแวดล้อม” ภายใต้ภารกิจ “คนไทยไร้ E-Waste”

เมื่อ AIS เป็นบริษัที่ทำอะไรทำจริง ที่ผ่านมาเป็นแค่การเริ่มต้น จนเกิดเป็น E-Waste+ แพลตฟอร์มจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ใหม่ ที่จะทำให้ทุกคนได้รู้สึกถึงการมีส่วนร่วม สนุกมากขึ้น ได้ประโยชน์มากขึ้น และช่วยเหลือสภาพแวดล้อมของโลก ไปได้พร้อมๆ กัน

Advertisement

E-Waste+ คืออะไร?

E-Waste+ คือแพลตฟอร์มที่ออกแบบใหม่หมด เพื่อให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการจัดการ E-Waste (ขยะอิเล็กทรอนิกส์) ได้อย่างถูกต้อง และเกิดผลลัพท์กลับมายังผู้ทิ้งอย่างพวกเราไปพร้อมกัน ซึ่งเป็นการพัฒนาต่อมาจากโครงการจัดการขยะ E-Waste เดิมของ AIS แต่สนุกมากขึ้นกว่าเดิมเยอะเลยครับ

เมื่อผู้ทิ้งนำขยะอีเล็คทรอนิคไปทิ้งยังจุดรับที่กำหนด จะสามารถเห็นผลลัพธ์ของการมีส่วนร่วมกลับมาได้ทันทีหลังการทิ้ง ว่าตัวเองได้ช่วยลดการปล่อยก๊าซ ช่วยลดการใช้คาร์บอนให้โลกไปมากเท่าไหร่ โดยจะตีค่ากลับมาเป็นคะแนนให้เรารู้ผ่านแอปพลิเคชั่น E-Waste+ และจะสะสมไว้เป็นคะแนนส่วนตัวของเรา ซึ่งเป็นแรงจูงใจใหม่ที่แต่เดิมไม่เคยมีมาก่อนให้กับผู้ทิ้ง

โดยคะแนนตัวนี้จะถูกคำนวนจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ที่เข้ามาสนับสนุนแนวทางการคำนวณปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ได้จากการรีไซเคิลขยะ E-Waste โดยจะเป็นไปอย่างถูกต้องตามมาตรฐานสากล และตัวคะแนนที่เราได้รับมาจะถูกจัดเก็บไว้อย่างโปร่งใสผ่านระบบ Blockchain เพื่อให้มันมีมูลค่านำไปต่อยอดทางเศรษฐกิจได้ในภายหลังนั้นเองครับ

แพลตฟอร์มนี้จะเริ่มใช้งานจริงกับ 6 องค์กรนำร่อง ที่เข้ามาร่วมกันแก้ไขปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ไปด้วยกัน ประกอบด้วย บริษัท เด็นโซ่ อินเตอร์เนชั่นแนล เอเชีย จำกัด, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, บริษัท เงินติดล้อ จำกัด, ธนาคารออมสิน และธนาคารกสิกรไทย

โดยมีส่วนสำคัญคือประชาชนทั่วไปเช่นพวกเรา ที่จะรับหน้าที่เป็น “ผู้ทิ้ง” ที่จะได้เข้าร่วมด้วยการทิ้งให้ถูกที่ ถูกทาง และถูกวิธี รวมพลังกันเป็นวงจรเพื่อการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน และที่สำคัญคือผลตอบกลับที่มาในรูปแบบคะแนน มันสามารถต่อยอดจากไอเดียตรงนี้ไปได้อีกมากมายเลยครับ เพราะมีความปลอดภัยโปร่งใสและชัดเจนด้วยระบบ Blockchain ที่นำมาใช้เป็นพื้นฐานนั้นเอง

E-Waste+ จึงเป็นโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อมที่เราอยากจะให้ทุกคนได้เข้าร่วมด้วยช่วยกัน และงานนี้เราได้ AIS เป็นแม่งานอีกครั้ง ที่จัดการวางระบบและโครงข่ายมาให้เสร็จสรรพ พร้อมใช้ได้ทันทีแค่ทุกคนโหลดแอป E-Waste+ เป็นการสร้างกระบวนการจัดเก็บและรีไซเคิลแบบ Zero Landfill ตามมาตรฐานสากล ครบวงจรตั้งแต่การทิ้งไปจนถึงผู้รับขยะ และตรงไปสู่โรงงานรีไซเคิล

AIS ใช้ศักยภาพและเทคโนโลยีของตัวเองเพื่อสร้างวิธีการที่ง่ายและเกิดประโยชน์ให้กับทุกฝ่าย ซึ่งมันได้เกิดขี้นในบ้านเราเป็นที่แรกในภูมิภาค SEA นี้ ฉะนั้นอยากให้คนไทยสนใจ และช่วยกันทิ้งขยะ E-Waste กันให้ถูกต้องด้วยกันครับ

สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น E-Waste+ ได้ ทั้งระบบ Android และ iOS สามารถลงทะเบียนใช้งานด้วยเบอร์โทรศัพท์ได้ทุกค่ายทุกระบบ

ภายในแอปจะสามารถตรวจสอบจุดทิ้งขยะซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ประเมินคะแนนตรวจรับขยะ และเราสามารถตรวจสอบขยะ E-Waste ที่เราเคยทิ้งย้อนหลังได้ด้วยนะครับ มีการแจ้งสถานะชัดเจนและโปร่งใส ว่าเราทิ้งอะไร ขยะถูกนำไปที่ไหน และเราได้คะแนนกลับมาเท่าไหร่?

ในหน้าแอปพลิเคชั่นนอกจากจะระบุคะแนนสะสมของเราแล้ว ยังคำนวนให้เราทราบด้วยว่าได้มีส่วนช่วยลดโลกร้อนไปมากแค่ไหน โดยคำนวนออกมาเป็นค่าคาร์บอนที่เทียบเท่าการปลูกต้นไม้เป็นจำนวนกี่ต้น เรียกได้ว่าน่าใช้และน่ารักครับ ^^ ช่วยโลกช่วยเรา “เราได้ โลกได้ เศรษฐกิจได้ และสิ่งแวดล้อมก็ได้” มีแต่ได้กับได้แบบนี้ ก็ต้องขอบคุณโครงการนี้จาก AIS ครับ

ประเภทของที่รับในการทิ้งผ่านแอปพลิเคชัน E-Waste+

  • โทรศัพท์มือถือ และแท็บเล็ต
  • อุปกรณ์เสริมมือถือ และแท็บเล็ต เช่น หูฟัง, ลำโพง, สายชาร์จ, อะแดปเตอร์
  • ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ เช่น คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก, เมาส์, คีย์บอร์ด, ฮาร์ดดิส, ลำโพง
  • อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็กอื่นๆ เช่น กล้องถ่ายรูป, เครื่องเล่นดีวีดี, จอยเกมส์, วิทยุสื่อสาร, เครื่องคิดเลข, โทรศัพท์บ้าน, รีโมทคอนโทรล, เครื่องเล่น MP3 เป็นต้น

***ยกเว้น อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดใหญ่, พาวเวอร์แบงค์, ถ่านไฟฉายทุกประเภท

*สำหรับองค์กรใดที่สนใจใช้งานแพลตฟอร์ม E-Waste+ เพื่อเข้าร่วมเป็นเครือข่าย Green Partnership สามารถติดต่อได้ที่ e-mail: aissustainability@ais.co.th

ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่: https://ewastethailand.com/ewasteplus


นางสายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าฝ่ายงานประชาสัมพันธ์ AIS กล่าวในงานเปิดโครงการ

“จากสถานการณ์โลกที่เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตในทุกภาคส่วน สิ่งที่ตามมาคือ อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานดิจิทัลก็มีปริมาณเพิ่มขึ้นมากเช่นกัน ดังนั้นเราจึงทำหน้าที่ 2 ส่วนคือ สร้างการรับรู้และตระหนักถึงโทษภัยของขยะ E-Waste ในขณะเดียวกันก็เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการจัดเก็บและทำลาย E-Waste อย่างถูกวิธี ทั้งการทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์ตั้งจุดรับทิ้งและนำไปเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล

และเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในวงกว้างมากขึ้น เราจึงขยายผลไปอีกขั้นด้วยการ Redesign Ecosystem เพื่อให้องค์กรต่างๆ สามารถลงมือบริหารจัดการ E-Waste ในองค์กรเองได้อย่างมีประสิทธิภาพผ่านเครือข่ายพนักงานและลูกค้าของแต่ละองค์กร เพื่อให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการนำขยะ E-Waste กลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลที่ได้มาตรฐาน ผ่านแพลตฟอร์ม E-Waste+ โดยเทคโนโลยี Blockchain จะทำงานผ่านกระบวนการ Track and Trace ทำให้ขยะ E-waste ทุกชิ้น สามารถตรวจสอบสถานะได้ทั้งกระบวนการ จากนั้นจะคำนวณขยะ E-Waste ที่ได้ออกมาเป็น Carbon Scores เพื่อให้ทราบว่าเราช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่าไหร่”

“โดยเบื้องต้น เราได้ร่วมทำงานกับพันธมิตรเครือข่าย Green Partnership ทั้ง 6 องค์กรที่จะเดินหน้าสร้างมาตรฐานการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งสามารถสร้างการมีส่วนร่วมอย่างโปร่งใสผ่าน Blockchain  ประกอบไปด้วย บริษัท เด็นโซ่ อินเตอร์เนชั่นแนล เอเชีย จำกัด, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, บริษัท เงินติดล้อ จำกัด, ธนาคารออมสิน และธนาคารกสิกรไทย ที่จะเข้ามาเริ่มใช้แพลตฟอร์ม E-Waste+ เพื่อส่งต่อการดูแลสิ่งแวดล้อมและแก้ไขปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ไปยังบุคลากรในองค์กรและสังคมในวงกว้างต่อไป”

นายอราคิน รักษ์จิตตาโภค หัวหน้าฝ่ายขับเคลื่อนนวัตกรรม AIS กล่าวเสริม

“AIS ในฐานะผู้นำด้านบริการดิจิทัลที่มุ่งสู่การเป็นองค์กรโทรคมนาคมอัจฉริยะ หรือ Cognitive Tech-Co ทำให้เรามองโอกาสและเห็นขีดความสามารถของ Blockchain ในการนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์จริงในทางธุรกิจ ซึ่งแพลตฟอร์ม E-Waste + เป็นตัวอย่างของการนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้แก้ปัญหาสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม

โดยเทคโนโลยี Blockchain จะช่วยทำให้ผู้ทิ้งมั่นใจว่าขยะ E-Waste จะถูกนำส่งไปยังกระบวนการรีไซเคิลที่ได้มาตรฐานและโปร่งใส ซึ่งจะสามารถตรวจสอบสถานะของกระบวนการนำส่งได้ในแต่ละขั้นตอน และนอกเหนือจากนั้นยังสามารถคำนวณปริมาณ Carbon Scores ซึ่งเป็นเครื่องบ่งบอกถึงการลงมือทำในกิจกรรมที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่สามารถแชร์ในโซเชียลและแสดงตัวตนในโลก Metaverse ได้  โดย AIS ยังมีแผนพัฒนาให้ Carbon Scores ที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการจัดการขยะ E-Waste อย่างถูกต้อง นำไปใช้เป็น Utility Token ที่จะช่วยต่อยอดธุรกิจให้กับองค์กรพันธมิตรที่เข้าร่วมโครงการนี้อีกด้วย”

นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) อธิบายเพิ่มเติมว่า

“ในฐานะองค์กรหลักที่มีภารกิจในการสนับสนุนทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ให้ขับเคลื่อนการทำงานเพื่อลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย มุ่งสู่ Net Zero GHG Emission และเศรษฐกิจสังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน รวมถึงการเป็นศูนย์กลางข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านก๊าซเรือนกระจก ที่วันนี้ไม่ได้เป็นเรื่องของหน่วยงานหรือองค์กรเท่านั้น แต่ในระดับภาคประชาชนก็เริ่มหันมาให้ความสำคัญด้วยเช่นกัน การทำงานร่วมกับ AIS ในครั้งนี้ทำให้เห็นว่าเทคโนโลยีสามารถเชื่อมต่อระบบการทำงานและพฤติกรรมของทุกคนให้เห็นถึงปริมาณคาร์บอนที่เกิดขึ้นจากการใช้ชีวิตประจำวันได้ เรารู้สึกดีใจที่จะมีความร่วมมือในการพัฒนาฐานข้อมูล/กิจกรรมการลดก๊าซเรือนกระจก และการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ยกระดับแพลตฟอร์มการคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ส่วนบุคคล อีเว้นท์ และกิจกรรมประเภทต่างๆ เช่น การคำนวณปริมาณการปล่อยคาร์บอนที่ได้จากการรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์รูปแบบต่างๆ บนแพลตฟอร์ม E-Waste+ ที่องค์กรต่างๆ สามารถเข้ามาใช้เพื่อร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน”

นางสายชล กล่าวทิ้งท้ายว่า

“จากความมุ่งมั่นตั้งใจของ AIS ที่ลุกขึ้นมาเป็นแกนกลางด้านองค์ความรู้และจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ตั้งแต่ปี 2019 ทำให้วันนี้เราได้ยกระดับไปอีกขั้นด้วยการใช้ความสามารถของดิจิทัลเทคโนโลยีเข้ามาบูรณาการสร้างระบบการจัดการ E-Waste ใหม่ด้วย Blockchain ผ่านการทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์ที่หลากหลายเพื่อจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน และเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยสิ่งแวดล้อมและโลกนี้ให้ดีขึ้น”

 

แชร์
Avatar photo

ในสิ่งที่เรารู้และเข้าใจ มันก็ยังมีระดับความลึกของความเข้าใจที่แตกต่างกัน ลึกบ้าง บางบ้าง แต่ประโยชน์ในการส่งผ่านสิ่งที่รู้ออกไปให้กับผู้อื่นนั้นไม่ต่างกัน มีประถม มีมัธยม มีอุดมศึกษา ไม่มีใครเริ่มต้นเรียนรู้จากในระดับปริญญา ฉะนั้นจะมากจะน้อยเชื่อเถอะว่า ความรู้ของทุกคนมีประโยชน์ให้กับผู้อื่นได้ เท่าๆ กัน

Advertisement
Exit mobile version