Advertisement

หลังจากลุ่มๆ ดอนๆ กับ 3G คลื่นความถี่ 2.1GHz มานานกว่า 2 ปี ในที่สุดเมื่อวานนี้ วันที่ 16 ตุลาคม 2555 ก็ได้ฤกษ์เปิดประมูลกันอย่างเป็นจริงเป็นจัง แม้ก่อนหน้านี้จะมีข่าวคราวออกมาให้ชวนเสียวสันหลังเล่นอยู่บ่อยครั้งเกี่ยวกับการฟ้องโน่นฟ้องนี่เพื่อล้มเลิกงานประมูล แต่ดูเหมือนเสียงค้านจะไม่เป็นผล เพราะในตอนนี้ อนาคต 3G ของประเทศไทยเราได้ข้อสรุปอย่างชัดเจนแล้ว

โดยเมื่อเวลา 17:30 น. ของวันที่ 16 ตุลาคม 2555 กสทช. ได้แถลงข่าวสรุปผลการประมูล 3G คลื่นความถี่ 2.1GHz โดยมีสามบริษัทยักษ์ใหญ่ของประเทศไทยมาเป็นผู้ร่วมประมูล การประมูลในครั้งนี้กินเวลาเพียงแค่หนึ่งวันเท่านั้น และจบลงด้วยผลที่ว่า ผู้ที่เสนอซองประมูลสูงสุดและสามารถเลือกชุดคลื่นความถี่ได้เป็นลำดับที่หนึ่งก็คือ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ตเวิร์ค จำกัด (AIS) ที่ให้ราคาสูงสุดถึง 14,625 ล้านบาทและเลือกชุดความถี่ที่ 7, 8, 9 ซึ่งเป็นช่วงคลื่นความถี่ที่อยู่ติดกับ TOT ไปครอบครอง

Advertisement

ส่วนอีกสองเจ้าที่เข้ามาร่วมแข่งประมูลกันนั้นเสนอราคาประมูลมาเท่ากันพอดิบพอดี ส่งผลให้ต้องมีการจับฉลากกันว่าใครจะได้มีโอกาสเลือกชุดคลื่นความถี่สัญญาณเป็นลำดับถัดจาก AIS และผลจากการจับฉลากสรุปว่า บริษัท เรียล ฟิวเจอร์ จำกัด (True) เป็นผู้จับฉลากได้และมีโอกาสในการเลือกชุดความถี่เป็นลำดับที่สอง ก่อนจะตามมาด้วย บริษัท ดีแทค เนทเวอร์ค จำกัด (DTAC) ในลำดับสุดท้าย โดยสามารถสรุปชุดความถี่ที่แต่ละผู้ร่วมประมูลได้รับสัมปทานไปดังต่อไปนี้

บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ตเวิร์ค จำกัด (AIS) ผู้ชนะการประมูลและมีโอกาสได้เลือกย่านความถี่เป็นอันดับแรก เลือกย่านความถี่ที่ 1950MHz – 1965MHz และ 2140MHz – 2155MHz ซึ่งเป็นย่านที่ 7, 8 ,9 ตามลำดับ

บริษัท เรียล ฟิวเจอร์ จำกัด (True) ผู้มีโอกาสเลือกย่านความถี่เป็นลำดับที่สอง เลือกย่านความถี่ที่ 1935MHz – 1950MHz และ 2125MHz – 2140MHz ซึ่งเป็นย่านที่ 4, 5, 6 ตามลำดับ

บริษัท ดีแทค เนทเวอร์ค จำกัด (DTAC) ผู้มีโอกาสเลือกย่านความถี่ในลำดับสุดท้าย เลือกย่านความถี่ที่ 1920MHz – 1935MHz และ 2110MHz – 2135MHz ซึ่งเป็นย่านที่ 1, 2, 3 ตามลำดับ

หลังจากได้ข้อสรุปการประมูลแล้ว กสทช. จะต้องดำเนินการออกใบอนุญาตคลื่นความถี่ 2.1GHz และใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สามให้กับผู้เข้าร่วมประมูลภายในระยะเวลา 90 วันถึงจะแล้วเสร็จกระบวนการทั้งหมด

หากมองกันที่ผลของการประมูลในครั้งนี้ผ่านทางสายตาของผู้ใช้บริการมือถืออย่างพวกเราคงต้องสรุปออกมาสั้นๆ ว่าการประมูลในครั้งนี้ประสบความสำเร็จและผ่านพ้นไปได้ด้วยดี แต่หากมองกันในมุมของประเทศชาติและภาครัฐบาลแล้ว การประมูล 3G คลื่นความถี่ 2.1GHz ของประเทศไทยในครั้งนี้นั้นอาจเรียกได้ว่าล้มเหลวไม่เป็นท่าเลยทีเดียว

หากลองสังเกตจะพบว่าการประมูลในครั้งนี้มีการส่งซองประมูลช่วงชิงกันเพียง 3 สล็อตเท่านั้น แยกเป็นสล็อตราคา 4,725 ล้านบาท จำนวน 1 สล็อต และที่ราคา 4,950 ล้านบาท จำนวน 2 สล็อตเท่า ส่วนที่เหลืออีก 6 สล็อตจอดนิ่งอยู่ที่ราคาเริ่มต้นการประมูล 4,500 ล้านบาท ส่งผลให้มูลค่าการประมูลรวมอยู่ที่ 41,625 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าราคาเริ่มต้นมาเพียง 1,125 ล้านบาท หรือคิดเป็น 2.78% ของทั้งหมดนั่นเอง

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวนิชย์ รองประธานควบผู้อำนวยการวิจัยด้านเศรษฐกิจยุคสารสนเทศ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI ได้ให้ความเห็นไว้ว่า การประมูล 3G ครั้งนี้ล้มเหลว รัฐเสียหายไปกว่า 1.6 หมื่นล้านบาท โดยให้ความเห็นต่อการประมูลที่เกิดขึ้นไว้ดังนี้

 

ผลการประมูลคลื่น 3G เป็นไปตามที่คาดหมายของผม คือ ได้ราคาเพิ่มขึ้นจากราคาตั้งต้นเพียงเล็กน้อยคือประมาณร้อยละ 2.8 เท่านั้น คือ เพิ่มจากราคาตั้งต้นโดยรวม 9 ใบ ที่ 40,500 ล้านบาท เป็นเพียง 41,650 ล้านบาทเท่านั้น โดยมีคลื่น 6 ชุดที่มีราคาประมูลเท่ากับราคาตั้งต้น

การประมูลครั้งนี้แม้จะทำให้ประชาชนมีบริการ 3G ใช้กันอย่างเต็มรูปแบบในปีหน้า แต่ก็ทำให้เกิดความเสียหายต่อรัฐและประชาชนในฐานผู้เสียภาษี เมื่อเทียบจากราคาประเมินถึง 16,335 ล้านบาท โดยผู้ประกอบการทั้งสามรายได้ประโยชน์จากส่วนต่างนี้ไปเป็นเสมือน “ลาภลอย” ทั้งนี้ยังไม่รวมประโยชน์ที่ได้จากการลดค่าสัมปทานที่ต้องจ่ายให้รัฐอีกปีละกว่า 4 หมื่นล้านบาท ที่สำคัญการที่แต่ละรายได้คลื่น 3G มูลค่าถูกแสนถูกต่ำกว่าปีละ 1 พันล้านบาทต่อปี จะไม่มีผลต่ออัตราค่าบริการ 3G ที่ประชาชนต้องจ่ายแต่อย่างใด นอกจากจะเพิ่มกำไรให้แก่ผู้ถือหุ้นของบริษัทผู้ประกอบการ ดังจะเห็นได้จากราคาหุ้นของผู้ประกอบการที่เพิ่มขึ้น

ผลการประมูลครั้งนี้ยังชี้ให้เห็นว่า ข้อมูลที่กสทช. พยายามโฆษณาให้ประชาชนเชื่อมาโดยตลอดว่าจะมีการแข่งขันมาก เนื่องจากคลื่นความถี่แต่ละชุดมีความแตกต่างกันมาก เสมือนเป็นที่ดินทำเลดีติดทะเลกับที่ดินแออัดติดถนนใหญ่ไม่เป็นความจริง และตอกย้ำความเชื่อของสาธารณชนในวงกว้างที่ว่า การประมูลครั้งนี้มีลักษณะเอื้อต่อการสมคบกันของผู้ประกอบการ

นอกจากนี้ ผลการประมูลยังชี้ให้เห็นข้อผิดพลาดอย่างร้ายแรงของการออกแบบการประมูล 2 ประการคือ หนึ่ง การจำกัดคลื่นความถี่ที่ผู้ประกอบการแต่ละรายจะสามารถถือครองได้ให้เท่ากัน ทำให้ไม่เกิดการแข่งขันอย่างที่ควรจะเป็นสอง การกำหนดราคาประมูลขั้นต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง ทำให้เกิดความเสียหายมาก เมื่อไม่มีการแข่งขันกันเท่าที่ควร

ทั้งนี้ หาก กสทช. ได้รับฟังข้อทักท้วงของฝ่ายต่างๆ ก็จะไม่เกิดข้อผิดพลาดดังกล่าวขึ้น

ผมจึงขอเรียกร้องให้ กสทช. รับผิดชอบต่อความเสียหายต่อรัฐและประชาชนที่เกิดขึ้น โดยให้แถลงต่อประชาชนว่า จะมีการรับผิดชอบอย่างไร และขอเรียกร้องให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเข้ามาตรวจสอบ

นอกจากนี้ ในการประมูลคลื่นความถี่ 4G และคลื่นความถี่อื่นๆ ที่จะมีขึ้นต่อไป ก็ขอให้ระวังอย่าได้ใช้แนวทางเดียวกันมาดำเนินการอีก

สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

 

งานนี้ดูเหมือนจะไม่ได้มีแต่ได้กับได้อย่างที่หลายๆ ฝ่ายคาดเอาไว้เสียแล้ว เพราะดูเหมือนจะมีทั้งฝ่ายที่ได้ (ภาคประชาชน) และฝ่ายที่เสีย (ภาครัฐบาล) ในเวลาเดียวกัน แต่อย่างหนึ่งที่ชาวไทยทุกคนเตรียมใจรับไว้ได้เลยก็คือการเปลี่ยนแปลงทางด้านราคาค่าแพกเกจการเชื่อมต่อข้อมูลบนมือถือ (3G) และความเร็วและความเสถียรของ 3G ในบ้านเราที่จะยกระดับขึ้นจากแต่ก่อนอย่างไม่ต้องสงสัย

ถึงตอนนี้ APPDISQUS ว่าเราคงต้องมาเตรียมนับถอยหลังเข้าสู่ยุคทองแห่ง 3G ที่แท้จริงในประเทศไทย ในเวลาอีก 90 วันข้างหน้านี้กันแล้วล่ะครับ

แชร์
Avatar photo

อเล็กซ์ หรือ เอ ว่างเมื่อไหร่เป็นต้องหยิบเอามือถือหรือ iPad ข้างกายตนมาจับๆ จิ้มๆ ตามประสาคนมีงานแต่ชอบเล่นเกม คุณสามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและให้กำลังใจเอได้เสมอผ่านทางการคอมเมนต์ในบทความนี้

Advertisement
Exit mobile version